นางนาคมาณวิกากับพรหมทัตกุมาร ภูริทัตชาดก (พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพญานาค ตอนที่ 1)

ภูริทัตชาดก

นางนาคมาณวิกากับพรหมทัตกุมาร

(พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพญานาค ตอนที่ 1)

ในอดีตกาล ยังมีพระราชาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าพรหมทัต ครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี ทรงประทานตำแหน่งอุปราชแก่พระราชโอรส ต่อเมื่อพระราชทานไปแล้วกลับทอดพระเนตรเห็นยศและอำนาจของพระราชโอรสนั้น แล้วเกิดความระแวงว่า พระราชโอรสจะพึงยึดแม้ราชสมบัติของตน จึงรับสั่งให้เรียกพระราชโอรสนั้นมาแล้วตรัสว่า “ดูก่อนพ่อ เธอไม่อาจจะอยู่ในที่นี้ เธอจงออกไปจากที่นี้ แล้วไปอยู่ในที่ ที่เธอชอบใจ โดยล่วงไปแห่งเรา เธอจงยึดเอาราชสมบัติอันเป็นของแห่งตระกูล” (หมายถึงให้ไปหาทำเลที่ชอบ ต่อเมื่อตนเองสิ้นแล้วจึงค่อยกลับมาเอาราชสมบัติภายหน้า)

พระราชโอรสทรงรับพระดำรัส จึงกราบลาพระราชบิดา แล้วเสด็จออกจากนคร ไปหยุดที่ริมแม่น้ำยมุนา อันเป็นที่ตั้งของแม่น้ำ ทะเล และภูเขา จึงสร้างบรรณศาลา (ที่พัก) ไว้ที่แห่งนั้น มีรากไม้และผลไม้เป็นอาหารอันอุดม ครั้งนั้น นางนาคหม้ายมาณวิกา (นาคสาวที่สามีตาย) ในพิภพนาคฝั่งมหาสมุทร เห็นผู้อื่นมีสามีจึงคิดอิจฉา จิตใจเกิดกิเลสความอยากมีอยากได้ขึ้นมาบ้าง จึงขึ้นมาริมฝั่งแล้วพบรอยเท้าของพระราชโอรส เมื่อเดินตามรอยเท้าไปพบเห็นบรรณศาลาที่ประทับ

ซึ่งขณะนั้น พระราชโอรสได้เสด็จเข้าป่าเพื่อหาผลไม้ นางนาคมาณวิกาจึงเข้าไปยังบรรณศาลา เห็นเครื่องลาด (เครื่องมือเครื่องใช้) ทำด้วยไม้และบริขารที่เหลือ จึงคิดว่า นี่น่าจะเป็นที่อยู่ของนักบวชฤาษีแน่ ๆ ก็มีความคิดอยากทดลองใจ ด้วยการเนรมิตตกแต่งบรรณศาลาอย่างสวยงาม หากว่านักบวชผู้นี้มีศรัทธาน้อมนำในเนกขัมมะ (การสละความสุข) จะต้องไม่ยินดีนอนพักที่นี่ แต่ถ้านักบวชผู้นี้

ยังยึดติดในกาม ไม่ได้บวชด้วยศรัทธา ก็จะยอมนอนในที่ที่เราจัดแจงไว้นี้เป็นแน่

และหากเป็นดังว่า นางก็จะจับทำสามีอยู่ที่แห่งนี้เสียเลย ว่าแล้วนางไปสู่พิภพนาค นำดอกไม้ทิพย์ และของหอมทิพย์มาจัดแจงที่นอน นำดอกไม้ไว้ที่บรรณศาลา เกลี่ยจุณของหอมประดับ แล้วไปยังภพนาคตามเดิม

เมื่อพระราชโอรส เสด็จมาในเวลาเย็น และกลับเข้าไปยังบรรณศาลา ทรงเห็นความเป็นไปนั้น จึงคิดว่า ใครหนอ จัดแจงที่นอนนี้ ดังนี้แล้ว จึงเสวยผลไม้น้อยใหญ่ คิดว่า “น่าอัศจรรย์ ดอกไม้มีกลิ่นหอม ใครตบแต่งที่นอนให้เป็นที่ชอบใจของเรา” เกิดโสมนัสยินดีขึ้นด้วยพระองค์มิได้บวชด้วยศรัทธาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว จึงนอนพลิกตัวนอนบนที่นอนดอกไม้อย่างมีความสุข

เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น ก็ทรงออกไปหาผลไม้รากไม้ในป่าโดยที่ยังไม่ได้กวาดบรรณศาลา ในขณะนั้น นางนาคมาณวิกามาเห็นดอกไม้เหี่ยวแห้งจึงรู้ว่า “ท่านผู้นี้ น้อมใจไปในกาม ไม่ได้บวชด้วยศรัทธา เราอาจจะจับเขาได้” จึงเนรมิตตกแต่งที่นอนและบรรณศาลาใหม่ แล้วกลับนาคพิภพอีกครั้ง แม้ในวันนั้น พระราชโอรสก็นอนบนที่นอนดอกไม้จนถึงเช้า ก็ฉงนใจว่า “ใครหนอประดับบรรณศาลานี้แก่เรา” วันนี้พระองค์ไม่ออกไปหาผลไม้ แต่ยืนอยู่ในที่กำบังไม่ไกลจากบรรณศาลา เพื่อแอบดูว่าใครเป็นผู้จัดแต่งศาลาให้

ฝ่ายนางนาคมาณวิกาถือของหอมและดอกไม้เป็นอันมากมายังอาศรมบท พระราชโอรส พอเห็นนางนาคมาณวิกา ผู้มีรูปโฉมงดงาม มีจิตปฏิพัทธ์ (ตกหลุมรัก) จึงเข้าไปตอนที่นางจัดแจงดอกไม้แล้วถามว่า “เจ้าเป็นใคร?” นางตอบว่า “ข้าแต่นายฉันชื่อว่า นางนาคมาณวิกา” พระราชโอรสตรัสถามว่า “เธอมีสามีแล้วหรือยัง” นางตอบว่า “ข้าแต่นาย เมื่อก่อนฉันมีสามี แต่เดี๋ยวนี้ฉันยังไม่มีสามี เป็นหม้ายอยู่ ท่านเล่าอยู่ที่ไหน?” พระราชโอรสตอบว่า “ฉันชื่อว่า พรหมทัตกุมาร โอรสของพระเจ้ากรุงพาราณสี ก็ท่านเล่าเพราะเหตุไร จึงละภพนาคเที่ยวอยู่ในที่นี้” นางตอบว่า “ข้าแต่นาย ดิฉันตรวจดูยศของพวกนางนาคผู้มีสามีในที่นั้น อาศัยกิเลสจึงกระสันขึ้น ออกจากภพนาคนั้นเที่ยวแสวงหาสามี” พระราชโอรสตรัสว่า “เพราะเหตุนั้นแล นางผู้เจริญ แม้เราก็ไม่ได้บวชด้วยศรัทธา เพราะถูกพระบิดาขับไล่ จึงมาอยู่ในที่นี้ เจ้าอย่าคิดไปเลย เราจักเป็นสามีของเจ้า”

แม้คนทั้งสองก็ได้อยู่สมัครสังวาส (ร่วมรัก) กันในที่นั้นนั่นเอง นางนาคมาณวิกาได้เนรมิตพระตำหนักและของมีค่าตบแต่ง และเนรมิตข้าวและน้ำอันเป็นทิพย์เพื่อปรนนิบัติพระสวามีของนาง

ครั้นต่อมาภายหลัง นางนาคมาณวิกาตั้งครรภ์คลอดบุตรเป็นชาย ได้รับขนานนามท่านว่า “สาครพรหมทัต” เพราะท่านประสูติที่ฝั่งแม่น้ำสาคร และต่อมานางนาคมาณวิกาก็คลอดบุตรเป็นหญิง ได้รับขนานนามนางว่า “สมุททชา” เพราะนางเกิดที่ริมฝั่งสมุทร

ครั้งนั้น พรานไพรชาวกรุงพาราณสีคนหนึ่งเดินทางมาถึงที่บรรณศาลา จึงได้กระทำปฏิสันถาร (ต้อนรับแขก) พรานไพรพักอยู่ในที่นั่น 2-3 วันแล้วกล่าวว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์จักบอก ความที่พระองค์อยู่ในที่นี้แก่ราชตระกูล” (คือจะเอาความไปบอกราชตระกูลว่าพระโอรสอยู่ที่นี่) ในกาลนั้นพระราชาก็สวรรคต ล่วงมาถึงวันที่ 7 หลังจากจัดพิธีบำเพ็ญกุศลเสร็จ เหล่าเสนาอำมาตย์ก็ปรึกษากันว่า “อันไม่มีพระราชา ย่อมดำรงอยู่ไม่ได้ พวกเราไม่รู้ที่อยู่ของพระราชโอรส ยังมีชีวิตอยู่ หรือว่าไม่มี จึงปล่อยผุสสรถยึดเอาพระราชา” (ผุสสรถคือการปล่อยรถเทียมม้าเพื่อเสี่ยงหาพระราชา รถไปจอดที่ใดบุคคลที่เป็นใหญ่ในที่นั้นจะต้องขึ้นครองราชย์) ขณะนั้นพรานไพรได้กลับเข้าไปสู่พระนคร ทราบเรื่องดังว่าของอำมาตย์ จึงไปยังสำนักของพวกอำมาตย์แล้วแจ้งที่อยู่ของพระราชโอรส

เหล่าอำมาตย์ทั้งหลายได้ฟังดังนั้นแล้ว ได้ทำสักการะแก่เขา มีเขาเป็นผู้นำทางไปในที่พักของพระโอรส เมื่อพบจึงได้กระทำปฏิสันถาร แล้วบอกความที่พระราชาสวรรคต กราบทูลพระราชโอรสว่า “ขอพระองค์จงครองราชสมบัติเถิด พระเจ้าข้า” พระราชโอรสทรงดำริว่า “เราจักรู้จิตของนางนาคมาณวิกา” (คือถามนางนาคก่อนว่าจะไปด้วยกันหรือไม่) พระองค์จึงเข้าไปตรัสถามนางว่า “ดูก่อนนางผู้เจริญ พระบิดาของเราสวรรคตแล้ว อำมาตย์ทั้งหลายมาในที่นี้ เพื่อยกฉัตรให้เรา ไปกันเถิดนางผู้เจริญ เราทั้งสองจักครองรัชสมบัติในกรุงพาราณสีประมาณ 12 โยชน์ เธอจักเป็นใหญ่กว่าหญิง 16,000 คน” นางกล่าวว่า “ข้าแต่นาย ดิฉันไม่อาจไปกับท่านได้” พระราชโอรสถามว่า “เพราะเหตุอะไร?” นางกล่าวว่า “พวกเราเป็นอสรพิษร้าย โกรธเร็ว ย่อมโกรธแม้ด้วยเหตุเพียงเล็กน้อย และชื่อว่าการอยู่ร่วมผัวเป็นภาระหนัก ถ้าดิฉันเห็นหรือได้ยินสิ่งอะไรก็โกรธ แลดูอะไร จักกระจัดกระจายไปเหมือนกำธุลี เพราะเหตุนี้ ดิฉันจึงไม่อาจไปกับท่านได้” แม้วันรุ่งขึ้นพระราชโอรสก็ยังอ้อนวอนนางอยู่นั่นเอง นางจึงกล่าวกับท่านอย่างนี้ว่า “ดิฉันจักไม่ไปด้วยปริยายไร (ปริยาย : การกล่าวอ้อมค้อม) ส่วนนาคกุมารบุตรของเราเหล่านี้ เป็นชาติมนุษย์ เพราะเกิดโดยสมภพกับท่าน ถ้าบุตรเหล่านั้นยังมีความรักในเรา ท่านจงอย่าประมาทในบุตรเหล่านั้น แต่บุตรเหล่านี้แล เป็นพืชน้ำละเอียดอ่อน เมื่อเดินทางต้องลำบาก ด้วยลมแดดจะพึงตาย ท่านพึงให้ขุดเรือลำหนึ่ง ให้เต็มด้วยน้ำ แล้วให้บุตรเหล่านั้นเล่นน้ำนำไป พึงกระทำสระโบกขรณีในพื้นที่ในภายในพระนครแก่บุตรเหล่านั้น”

เมื่อนางนาคกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงไหว้พระราชโอรสแล้วทำประทักษิณ (การเวียนรอบสิ่งอันเป็นที่รัก คล้ายในหนังอินเดีย) โอบกอดพวกบุตร ให้นั่งระหว่างกันพลันจูบที่ศีรษะ และมอบให้แก่พระราชโอรส นางร้องไห้คร่ำครวญ แล้วกลับไปยังพิภพนาคตามเดิม ฝ่ายพระราชโอรสถึงความโทมนัส (เสียใจ) มีพระเนตรนองด้วยน้ำตา ออกจากนิเวศน์ เช็ดนัยนา (เช็ดน้ำตา) แล้วเข้าไปหาพวกอำมาตย์ พวกอำมาตย์จึงทำการอภิเษกพระราชโอรสเป็นพระราชา ณ ที่แห่นี้แล้วทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ พวกข้าจะพาพระองค์จะไปยังนครของพระองค์ พระเจ้าข้า” พระราชาตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงจึงรีบขุดเรือยกขึ้นสู่เกวียนให้เต็มด้วยน้ำ ขอท่านจงเกลี่ยดอกไม้ต่างๆ อันสมบูรณ์ด้วยสีและกลิ่นบนหลังน้ำ บุตรทั้งหลายของเราผู้มีพืชแต่น้ำ บุตรเหล่านั้นเล่นน้ำ ในที่นั้น จักไปสบาย” พวกอำมาตย์จึงทำตามนั้น

พระราชาเสด็จถึงกรุงพาราณสี เสด็จเข้าไปยังนครที่ตบแต่งไว้ แวดล้อมไปด้วยหญิงนักฟ้อน และอำมาตย์เป็นต้นประมาณ 16,000 คน ประทับนั่งบนพื้นใหญ่ เสวยน้ำมหาปานะ 7 วัน แล้วให้สร้างสระโบกขรณี เพื่อประโยชน์แก่โอรสและธิดา

โอรสและธิดาได้เล่นน้ำในที่นั้นเนืองนิตย์ ภายหลังวันหนึ่ง มีเต่าตัวหนึ่งเข้ามายังสระโบกขรณีแล้วหาที่ออกไม่ได้ จึงดำลงในพื้นสระโบกขรณี (สระบัว) ในเวลาโอรสและธิดาลงเล่นน้ำ ก็ผุดขึ้นจากน้ำโผล่ศีรษะขึ้นมา พอเห็นโอรสและธิดา ก็ดำลงไปในน้ำอีก โอรสและธิดาเห็นเต่านั้นจึงสะดุ้งกลัว รีบไปยังสำนักของพระบิดากราบทูลว่า “ข้าแต่พ่อ ในสระโบกขรณียังมียักษ์ตนหนึ่ง ทำพวกข้าพระองค์ให้สะดุ้ง” พระราชาทรงสั่งบังคับพวกราชบุรุษ (ทหารองครักษ์) ว่า “พวกท่านจงไปจับยักษ์นั้นมา” ราชบุรุษเหล่านั้นทอดแห นำเต่าไปถวายแด่พระราชา พระโอรสและพระธิดาเห็นเต่านั้นแล้วร้องว่า “นี้ปีศาจพ่อ นี้ปีศาจพ่อ” พระราชาทรงกริ้วเต่าและด้วยความรักในบุตร จึงสั่งการไปว่า “พวกท่านจงไปทำกรรมกรณ์ (ลงโทษ)

แก่เต่านั้นเถิด” ทันใดนั้นราชบุรุษคนหนึ่งกล่าวว่า “เต่านี้เป็นผู้ก่อเวรแก่พระราชา ควรจะเอามันใส่ในครก แล้วเอาสากตำทำให้เป็นจุณ” อำมาตย์บางพวกกล่าวว่า “ควรจะปิ้งให้สุกในไฟถึง 3 ครั้งแล้วจึงกิน” อำมาตย์บางพวกกล่าวว่า “ควรจะต้มมันในกระทะนั่นแล”แต่มีอำมาตย์คนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้กลัวน้ำจึงกล่าวว่า “ควรจะโยนเต่านี้ลงในน้ำวนแห่งแม่น้ำยมุนา มันจะถึงความพินาศใหญ่ในที่นั้น เพราะกรรมกรณ์ของเต่านั้น เห็นปานนี้ย่อมไม่มี” เต่าได้ฟังถ้อยคำของอำมาตย์ผู้นี้ จึงโผล่ศีรษะขึ้น แล้วพูดว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เหตุอะไรของท่าน เราทำผิดอะไร ที่ท่านวิจารถึงกรรมกรณ์ เห็นปานนี้กะเรา ก็เราสามารถอดกลั้นกรรมกรณ์นอกนี้ได้ ก็แลผู้นี้เป็นผู้หยาบช้าเหลือเกิน ท่านอย่ากล่าวคำเห็นปานนี้เลย” พระราชาทรงสดับดังนั้น ควรจะสร้างทุกข์กะเต่านี้ แหละดังนี้แล้ว จึงให้ทิ้งลงไปในน้ำวนแห่งแม่น้ำยมุนา (ถึงตอนนี้เห็นได้ชัดว่า เต่าต้องการเอาตัวรอดจึงยั่วยุให้โยนตนเองลงแม่น้ำยมุนา ดีกว่าถูกตำถูกปิ้งย่าง)

---------------------


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ 
พญานาค จากตำนานสู่ความเชื่อ
ดูรีวิวและช่องทางการสั่งซื้อ << คลิก >> 👇



ผู้เขียนอนุญาตให้ Copy หรือ แชร์บทความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ในช่องทางของตัวเองได้ แต่ขอความกรุณาให้เครดิต หรือแนบลิงก์สั่งซื้อหนังสือให้ด้วยจักขอบพระคุณยิ่งครับ

(ไม่อนุญาตให้จัดพิมพ์หรือจำหน่ายในเชิงพาณิชย์นะครับ)


#พญานาค #ความเชื่อเรื่องพญานาค #ตำนานพญานาค #พญานาคลุ่มน้ำโขง #พญานาคประเทศลาว #พญานาคเขมร #ศรีสุทโธนาคราช #อนันตนาคราช #ภุชงค์นาคราช #สุวรรณนาคราช #เมืองสุวรรณโคมคำ #เมืองศรีสัตตนาคนหุต

ความคิดเห็น

คนชอบอ่าน

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ วานส์” (QUEEN OF WANDS)

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ เพนตาเคิลส์” (QUEEN OF PENTACLES)

ความหมายของไพ่บุคคล คิง ออฟ คัพส์ (KING OF CUPS)

ความหมายของไพ่ "เดอะ เวิลด์" (THE WORLD) สอนอ่านไพ่ยิปซี