ตำนานนาคพันธุช่วยสร้างเวียงโยนกนาคพันธุ์ (เชียงแสน)

ตำนานนาคพันธุช่วยสร้างเวียงโยนกนาคพันธุ์ (เชียงแสน)

นาคพันธุ

ตามความเชื่อของชาวล้านนา คาดว่าถิ่นกำเนิดของชาวล้านนานั้นน่าจะเคยอยู่ประเทศจีนมาก่อน (ผู้เขียนขอใช้คำว่าชาวล้านนา แทนชาวไทยตามข้อสันนิษฐานของนักวิชาการที่ยังมีข้อขัดแย้งต่าง ๆ บ้างก็ว่าชาวไทยมาจากจีน บ้างก็ว่าชาวไทยมาจากอินโดนีเซีย หรือชาวไทยเป็นผู้อาศัยเดิมในประเทศไทยเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ซึ่งยังหาข้อสรุปไม่ได้แน่ชัด โดยอ้างอิงจากบันทึกเก่าแก่, โบราณวัตถุ, โบราณสถาน, ภาษา ฯลฯ จึงขอสรุปนิยามใช้คำว่า ชาวล้านนา เป็นตัวเล่า) ซึ่งในยุคโบราณมีการรุกรานจากชาวจีนเป็นวงกว้าง เนื่องจากประเทศจีนมีหลายกลุ่มอารยธรรม และแบ่งแยกเป็นชนเผ่า ต่างชาติต่างพันธุ์มากมาย จึงมีการถอยร่นลงมาสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นที่เมืองเชียงแสน จังหวัดเชียงรายในปัจจุบันนี้

อารยธรรมโบราณลุ่มแม่น้ำกก แม่น้ำโขงนั้น ปรากฎอยู่ในบันทึกหลายฉบับ หากคนที่ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้งอาจจะงง และไม่เข้าใจ จึงขอเขียนเป็นเรื่องเล่าเคล้าตำนานให้ง่ายต่อการเข้าใจดังนี้

เทวกาล เจ้าผู้ครองเมืองนครไทยเทศในยูนนาน บริเวณทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ หรือในภาษาไทยลื้อและไทใหญ่เรียกว่า “หนองแส” แปลว่าทะเลสาปที่น้ำท่วมเจิ่ง ได้ให้ราชบุตรแยกย้ายกันไปสร้างบ้านแปงเมือง สิงหนวัติกุมารเป็นราชบุตรองหนึ่งที่ได้นำผู้คนอพยพมาสร้างเวียงขึ้นในเขตลุ่มแม่น้ำกก ราวปี พ.ศ.638 บริเวณเมืองสุวรรณโคมคำเก่า ไม่ไกลจากแม่น้ำโขงมากนัก ซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวป่าเรียกว่าชาวลัวะ (หรือลังวะ หรือละว้า) บ้างก็ว่าชาวลัวะนี้เป็นชนเผ่านาคเดิมที่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากบริเวณนี้ (เผ่านาค คือชื่อเรียกชนเผ่าที่ได้เขียนไว้ก่อนหน้านี้) มีหัวหน้าชื่อ “ปู่เจ้าลาวกุย” ตำนานระบุว่า พญานาคชื่อ “พันธุนาคราช ได้มาช่วยสร้างเมือง จึงเรียกชื่อเมืองแห่งนี้ว่า “นาคพันธุ์สิงหนวัติ” หรือ “เวียงโยนกนาคพันธุ์” บางตำราอ้างว่าชื่อเมือง “สิงหนตินคร” หรือ “พันธุสิงหนวัตินคร” โดยยึดเอกสารใบลานชั้นต้นก็ตาม ณ เวียงโยนกนาคพันธุ์นี้มีกษัตริย์ปกครองต่อมาถึง 45 พระองค์ รวมถึงการขับไล่พวกขอมที่เข้ามารุกรานในช่วงนั้นออกไปจากพื้นที่ได้สำเร็จอีกด้วย มีบันทึกเรื่องราวกล่าวถึงพันธุนาคราชที่แปลงกายมาเป็นพราหมณ์ชื่อ “พันธุพราหมณ์” โดยมีใจความว่า

//วันนั้นยังมีพระยานาคตัวหนึ่งชื่อว่าพันธุนาคราชนั้น ก็เนรมิตตนเป็นพราหมณ์ แล้วก็เข้ามาสู่ที่อยู่เจ้าสิงหนวัติกุมารแล้วก็กล่าวลองเซิงว่า “ดูกรเจ้ากุมาร ท่านนี้เป็นลูกท่านพระยามหากษัตริย์หรือว่าเป็นเศรษฐีและคหบดีกฎุมพีพ่อค้าอั้นซา ลูกบ้านใดเมืองใดมาซา เจ้ากุมารมานี้ประโยชน์อันใดซา”

เจ้าสิงหนวัติกุมารกล่าวว่า “พราหมณ์ดูกรท่านพราหมณ์เรานี้ก็เป็นลูกมหากษัตริย์ ตนชื่อว่าเทวกาล อันเป็นเจ้าเมืองราชคฤห์หลวงโพ้นแล เรานี้มาเพื่อจัดแสวงหาที่สร้างบ้านแปลงเมืองอยู่แด”

เมื่อนั้น นาคพราหมณ์ผู้นั้นได้กล่าวว่า “ดีแท้แลท่านจุ่งตั้งอยู่สถานที่นี้ให้เป็นบ้านเป็นเมืองอยู่ทื้อจักวุฒิจำเริญดีบรมวนด้วยเข้าของสมบัติสะแด ประการหนึ่งเล่าซ้ำเศิกทั้งหลาย เป็นต้นว่าเศิกมหานครเมืองใหญ่ทั้งหลายจักมารบก็เป็นอันยาก เหตุนั้นน้ำแม่ใหญ่ทั้งหลายสะเภาดลกาก็บ่รอด แต่ว่าให้มีศักดิ์มีใจรักยังคนแดสัตว์ทั้งหลายเทอะ”

เมื่อนั้นเจ้าสิงหนวัติกุมาร จึงกล่าวว่า “ดูกรท่านพราหมณ์ ท่านนี้อยู่ฐานะที่ใดอยู่บ้านใดเมืองใด ท่านมีชื่อลือชาประการใด”

นาคพราหมณ์กล่าวว่า “ข้านี้มีชื่อว่าพันธุพราหมณ์ อยู่รักษาประเทศที่นี้แต่เช่นเค้ามาแล ท่านจุ่งใช้สัปปุริสบ่าว เพื่อไปทวยดูที่อยู่แห่งข้าเทอะ”

พูดจบพราหมณ์ก็เดินจากไป สิงหนวัติกุมารจึงให้บริวารชายผู้มีสัมมาทิฐิ 7 คน (สัปปุริสบ่าว) เพื่อไปดูที่อยู่ของนาคพราหมณ์ เดินตามไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ไกลประมาณพันวา พราหมณ์นั้นก็หายลับไป เมื่อทั้ง 7 คนเห็นดังนั้นแล้ว จึงกลับมาบอกแก่เจ้าสิงหนวัติกุมารดังที่เขาเหล่านั้นเห็น

เมื่อสิงหนวัติกุมารได้ยินดังนั้น จึงตกใจสะดุ้งเฮือก สับสนว่าพราหมณ์ผู้นั้นเป็นใครกันแน่ ส่วนพราหมณ์นั้นเมื่อกลายร่างเป็นพญานาค คืนนั้นจึงเนรมิตขอบเขตเมืองกว้างถึงสามพันวา ปรับพื้นที่ ทำคันดินสร้างกำแพงจนเสร็จสรรพในคืนเดียว แล้วจึงกลับที่อยู่ของตน

รุ่งเช้าเมื่อสิงหนวัติกุมารเห็นประการนั้น ก็มีใจปิติชื่นชมยินดีเป็นอย่างมาก จึงให้หาพราหมณ์อาจารย์มาตรวจดูว่า ท่านพราหมณ์ที่มาหาตนนั้นเป็นเทวบุตร เทวดา หรืออินทร์พรหมชั้นใดกัน อาจารย์พราหมณ์จึงกล่าวว่า “ตามดังข้าผู้เฒ่ามาพิจารณาดูนี้ จะเป็นพระยานาคสะแดง” ความเป็นดังนั้น จึงพร้อมเข้าแต่งเรือนหลวง แปลงหอเรือนต่าง ๆ เป็นเมืองใหญ่ อาจารย์พราหมณ์จึงเอาชื่อพญานาคพันธุ กับชื่อกุมารสิงหนวัติ สมด้วยกันแล้วเรียกว่า “เมืองพันธุสิงหนวัตินคร”//

อ้างอิง : ตำนานสิงหนวติกุมาร ฉบับสอบค้นของ นายมานิต วัลลิโภดม. 2516

เชื่อกันว่า ที่ตั้งเมืองพันธุสิงหนวัตินคร หรือ โยนกนครสิงหนวัติตามคำเรียกขาน ตั้งอยู่บริเวณวัดป่าหมากหน่อ ในเขตติดต่อระหว่างอำเภอเชียงแสน กับอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

เวลาผ่านไปหลายศตวรรษ จนมาถึงสมัยของ "พญามหาไชยชนะ" กษัตริย์องค์ที่ 45 ได้เกิดเรื่องราวไม่อันมิสมควรขึ้น มูลเหตุเกิดจากวันหนึ่งชาวบ้านจับปลาไหลเผือกตัวโตเท่าลำตาล ยาวประมาณ 7 วาเศษ ได้จากแม่น้ำกก นำมาถวายพญามหาไชยชนะ พระองค์รับสั่งให้นำเนื้อไปแล่แจกจ่ายให้กับชาวเมืองทุกคน เพราะคิดว่าเป็นเนื้อทิพย์จากสัตว์พิเศษ เป็นบุญของชาวเมืองที่จะได้อิ่มหนำสำราญ มีเพียงหญิงหม้ายแก่ชราคนหนึ่งชื่อว่า "แม่บัวเขียว" เป็นผู้เดียว ที่ไม่ได้รับส่วนแบ่งเนื้อปลาไหลเผือก ซึ่งสมัยก่อนจะถือว่า หญิงหม้ายถูกจัดเป็นเป็นกาลกิณี คืนนั้นมีพญานาคจำแลงกายมาหา "แม่บัวเขียว" เพื่อตามหาปลาไหลเผือกอันเป็นบุตรแห่งตนที่ขึ้นมาเล่นน้ำแล้วหายไปนั้น จึงแสร้งถามว่าที่ในเมืองมีอะไรกัน และได้ทราบเรื่องราวที่ชาวบ้านจับปลาไหลเผือกมาฆ่าและแร่เนื้อปันกัน แต่ตนนั้นไม่ได้ส่วนแบ่งเนื้อกับเขา เมื่อพญานาครู้ว่าลูกชายตาย ทำให้โกรธมากและบอกกับ"แม่บัวเขียว" ว่า คืนนี้ถ้ามีเสียงดัง หรือเหตุการอะไรอย่าออกจากเรือนเด็ดขาด

ตกค่ำวันนั้นก็เกิดแผ่นดินสะเทือนเลือนลั่น เหมือนสวรรค์ลงทัณฑ์ เมืองทั้งเมืองพลันถล่มจมหายลงไปในบาดาล กลายเป็นผืนน้ำกว้างใหญ่ไพศาล เชื้อพระวงศ์ ขุนนาง และราษฎรทั้งหลายในเมืองถูกธรณีสูบไปหมดสิ้น หลงเหลือเพียงบ้านหญิงหม้ายบัวเขียวหลังเดียว ที่ไม่ได้ร่วมกินเนื้อปลาไหลเผือกนั้น เป็นสันเกาะกลางน้ำในทะเลสาบเชียงแสน มาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง (ปัจจุบันสร้างเป็นวัดป่าหมากหน่อ บนเกาะแม่หม้าย มีพระธาตุโยนกนครประดิษฐานอยู่)

ในตำนานอธิบายว่าปลาไหลเผือกนั้น ก็คือพญานาคที่แปลงตัวมา การที่ชาวเมืองนำมาฆ่าแบ่งกันกิน ถือเป็นการเนรคุณพญานาคที่ช่วยสร้างบ้านแปงเมือง และเป็นการผิดคำมั่นที่รักษาศีลธรรม จะจึงบันดาลให้เกิดภัยพิบัติ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของตำนานเมืองเชียงแสน ที่เล่าสืบต่อกันมาจากปากต่อปากของผู้เฒ่าผู้แก่แห่งบ้านแม่ลาก อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงรายว่า “ครั้งหนึ่งมีหนองน้ำใหญ่อยู่ในเมืองนี้หนองหนึ่ง พญาเจ้าเมืองจะปล่อยเป็ดและห่านลงเล่นน้ำทุกวัน จนกระทั่งวันหนึ่งพญาเจ้าเมืองพบว่า เป็ดและห่านที่เลี้ยงไว้ถูกปลาไหลกิน จึงได้ไปขอฝ้ายบ้านละปิ๊บ เอามาพันทำเป็นสายเบ็ดมัดติดไว้กับหลังเป็ดแล้วปล่อยลงหนองน้ำ ปลาไหลเผือกตัวเขื่องออกมากินจึงติดเบ็ด ชาวบ้านจึงช่วยกันจับได้ที่บ้านแม่ฮะ แล้วลากมาที่บ้านแม่ลาก เอาใส่เกวียนไปชำแระเนื้อ ที่บ้านแม่ลัว จากนั้นจึงแบ่งกันไปทำอาหารกินที่บ้านแม่กก

ต่อมามีบุตรของพระอินทร์ลงมาเที่ยวที่บ้านแม่หม้าย ถามว่า “เมืองนี้มีกลิ่นอะไรหอมจัง” แม่หม้ายตอบว่า “เขากินปลาไหลเผือกกัน” บุตรแห่งพระอินทร์จึงถามว่า “ได้กินกับเขาบ้างไหม” แม่หม้ายตอบว่า “ไม่ได้กิน เขาไม่แบ่งให้” บุตรแห่งพระอินทร์จึงบอกว่า “ไม่ได้กินก็ดีแล้ว” “ถ้าได้ยินเสียงดังตอนกลางคืน อย่าออกไปข้างนอกให้อยู่แต่ในบ้าน” ตกกลางคืนมีเสียงดังกึกก้อง แม่หม้ายจะวิ่งออกมาดูก็นึกถึงคำเตือน จึงกลับเข้านอน แต่ก็ได้ยินเสียงดังยิ่งกว่าเดิม พอถึงตอนเช้าจึงออกมาดู พบว่าแต่น้ำเวิ้งว้างไปทั่ว

เมืองเชียงแสน จ.เชียงราย มีหนองน้ำขนาดใหญ่บริเวณ เวียงหนองหล่ม ซึ่งเข้าใจว่าบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของเมืองโยนกนครเก่า แต่ต้องล่มสลายไปด้วยแผ่นดินไหวตามตำนานที่เล่าต่อกันมา อาณาจักรโยนก ปัจจุบันคือที่พื้นที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เป็นอาณาจักรที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่เมื่อ 1,500 ปีที่แล้วเกิดแผ่นดินไหวหลายครั้ง ครั้งที่รุนแรงที่สุดทำให้อาณาจักรโยนกถึงกับจมหายไป โดยพงศาวดารโยนกบันทึกว่า ในคืนวันเสาร์ เดือน 7 แรม 7 ค่ำ พ.ศ.1003

ในยุคนี้เองที่พระพุทธศาสนาได้เผยแพร่เข้ามา เพราะตำนานเล่าว่า ประมาณปี พ.ศ.700 พระมหากัสสปะเถระได้อัญเชิญพระบรมธาตุรากขวัญ (กระดูกไหปลาร้า) เบื้องซ้าย มายังนครโยนกนาคพันธุ์ พยาอชุตราช ซึ่งครองราชย์ต่อจากปฐมกษัตริย์สิงหนวัติจึงได้ทรงซื้อที่ดินบริเวณดอยแห่งหนึ่งจากปู่เจ้าลาวจก หัวหน้าเผ่าชาวละว้าที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เชิงดอย เพื่อใช้เป็นสถานที่สร้างสถูปบรรจุพระบรมธาตุ ก่อนสร้างโปรดให้ปักตุงผ้าขนาดใหญ่มีความยาวถึง 1,000 วา โดยถือว่าปลายตุงสะบัดไปถึงที่ใดก็ให้ถือเป็นขอบเขตของฐานสถูป แล้วจึงสร้างจนแล้วเสร็จ ถือว่าเป็นเจดีย์แห่งแรกของดินแดนล้านนา ดอยแห่งนี้ต่อมาจึงเรียกกันว่าดอยตุง และสถูปเจดีย์นั้นก็เรียกว่า “พระธาตุดอยตุง”

อีกข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการล่มสลายของเมืองดังกล่าว ชาวบ้านเชื่อว่ากลายเป็นทะเลสาบเชียงแสน แอ่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่เนื้อที่กว่า 1 ตร.กม. ในท้องที่ตำบลโยนกก่อนถึงเมืองเชียงแสนประมาณ 5 กม. เป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำจืดและปลานานาชนิด ซึ่งชาวบ้านหากินเลี้ยงชีพมาแต่โบราณ

ซึ่งใจกลางทะเลสาปเชียงแสนก็มีเกาะที่ควรจะเป็นเกาะแม่หม้ายตามตำนานกล่าวขาน แต่พิกัดของเกาะแม่หม้ายกลับไปอยู่ที่วัดป่าหมากหน่อแทน แต่ก็พออ้างอิงตำนานความเชื่อได้ และเป็นเมืองที่น่าไปเยี่ยมชมอีกเมืองหนึ่งดีเดียว

---------------------


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ 
พญานาค จากตำนานสู่ความเชื่อ
ดูรีวิวและช่องทางการสั่งซื้อ << คลิก >> 👇



ผู้เขียนอนุญาตให้ Copy หรือ แชร์บทความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ในช่องทางของตัวเองได้ แต่ขอความกรุณาให้เครดิต หรือแนบลิงก์สั่งซื้อหนังสือให้ด้วยจักขอบพระคุณยิ่งครับ

(ไม่อนุญาตให้จัดพิมพ์หรือจำหน่ายในเชิงพาณิชย์นะครับ)


#พญานาค #ความเชื่อเรื่องพญานาค #ตำนานพญานาค #พญานาคลุ่มน้ำโขง #พญานาคประเทศลาว #พญานาคเขมร #ศรีสุทโธนาคราช #อนันตนาคราช #ภุชงค์นาคราช #สุวรรณนาคราช #เมืองสุวรรณโคมคำ #เมืองศรีสัตตนาคนหุต

ความคิดเห็น

คนชอบอ่าน

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ วานส์” (QUEEN OF WANDS)

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ เพนตาเคิลส์” (QUEEN OF PENTACLES)

ความหมายของไพ่บุคคล คิง ออฟ คัพส์ (KING OF CUPS)

ความหมายของไพ่ "เดอะ เวิลด์" (THE WORLD) สอนอ่านไพ่ยิปซี