ต้นตอการกำเนิดความเชื่อของมนุษยชาติ "พญานาค จากตำนานสู่ความเชื่อ"

ต้นกำเนิดความเชื่อ

ต้นตอการเกิดความเชื่อของมนุษยชาติ


การวิวัฒนาการของมนุษย์เกิดขึ้นมาพร้อมกับความเชื่อที่เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง แต่ที่เห็นได้ชัดคือ ความกลัว, ความอาลัยในการจากไปของผู้เป็นที่รัก, การแสวงหาอำนาจ, การสร้างตัวตนให้คนยอมรับ และ การยอมจำนน เป็นต้น

2.1 ความเชื่ออันมาจากความกลัว เช่น กลัวสิ่งเร้นลับ สิ่งที่มองไม่เห็น หรือสัตว์ร้ายที่สามารถคร่าชีวิตผู้คนได้ จึงตั้งสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจเพื่อเป็นตัวแทนในการบวงสรวงบูชา ความกลัวในสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่คิดว่าเป็นสิ่งที่มีอำนาจเหนือกว่ามนุษย์ เช่น ในอดีตมีพญางูยักษ์ที่ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัว จึงมีการทำศาล ทำรูปสัญลักษณ์เพื่อสักการะ หรือบูชายัญด้วยความเชื่อที่ว่า พญางูยักษ์จะไม่มาทำร้ายตนและคนในชนเผ่าของตนเป็นต้น

2.2 ความเชื่อที่เกิดจากความอาลัยในการจากไปของผู้เป็นที่รัก คือความรักของคนในครอบครัว เมื่อตายลงไปจึงทำการสักการะผีบรรพชน เพราะเชื่อกันว่าเหล่าบรรพบุรุษจะไม่จากไปไหน ยังคงวนเวียนคอยช่วยเหลือลูกหลานอยู่ตลอดเวลา เป็นดวงวิญญาณ เป็นพลังงานที่จะสามารถดลบันดาลความสุขสมหวังให้แก่บุตรหลานที่สักการะกราบไหว้ ทางด้านวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ความเชื่อในแบบนี้ อาจเกิดจากจิตใต้สำนึกชี้นำ หรือมโนภาพไปเอง แต่จะด้วยเหตุใดก็ตาม ความเชื่อได้เกิดขึ้นแล้ว และมีอยู่จริงในภาพจำของผู้คนเหล่านั้น

2.3 ความเชื่ออันมาจากการแสวงหาอำนาจ สืบเนื่องมาจากชนเผ่าที่มีการรวมกลุ่มกัน จำเป็นต้องมีสื่อกลางเพื่อยึดเหนี่ยว หรือเป็นเครื่องมือที่ใช้ตัดสินในบางสิ่งบางอย่าง เป็นตัวชี้ชัดที่กำหนดขึ้นโดยอ้างความเชื่อว่า ถ้าทำสิ่งนี้แล้วจะเกิดสิ่งนั้น หรือการทำผิดแบบนั้น จะต้องได้รับโทษแบบนี้ จึงมีการอุปโลกน์สื่อตัวแทนเพื่อใช้ยึดเหนี่ยวบูชา ซึ่งสิ่งเหล่านั้น อาจจะมีจริง หรือไม่มีมีจริงก็ได้ แต่เพื่ออำนาจสูงสุดในการควบคุมความเชื่อของมนุษย์ จึงสร้างตำนานหรือตัวแทนความเชื่อนั้นขึ้น เช่น เทวรูปประจำเผ่า, การหลอกหลอนชาวบ้านเพื่อให้เชื่อในเทวรูปที่ตนตั้งใจสร้างขึ้น เพื่ออำนาจในการสั่ง บงการ ชักนำ หรือโน้มน้าวจิตใจคนเหล่านั้น

2.4 ความเชื่อเพื่อจุดประสงค์ของการสร้างตัวตน กล่าวคือ เมื่อสร้างศรัทธาให้ผู้คนได้ ก็จะสามารถควบคุม ถ่ายทอดความเชื่อของตนสู่ผู้อื่น เข้าลักษณะผู้นำนิกาย ผู้นำลัทธิ การหาแนวร่วมที่สอดคล้องกับความคิดของตน การเผยแพร่คำสอนในแบบของตนก็ว่าได้ เป็นการสร้างความเชื่อที่เหมือนกับตนเองเป็นผู้ที่เหนือธรรมชาติ สามารถกระทำการเหนือมนุษย์ได้ ตั้งตนเองเป็นบุคคลสำคัญ ซึ่งความเชื่อในตัวบุคคลแบบนี้ แม้แต่ผู้ปกครองแคว้นยังต้องยอมให้ความนับถือยำเกรง โดยที่ผู้สร้างความเชื่อต้องพิสูจน์ตนเองว่าเป็นผู้วิเศษ หรือผู้ที่ถูกต้องในแนวคิดเหล่านั้นเพื่อเอาชนะจิตใจคนด้วย

2.5 ความเชื่อที่เกิดจากการยอมจำนนในพลังอำนาจบางอย่างที่อาจจะพิสูจน์ได้ หรือพิสูจน์ไม่ได้ ซึ่งมักจะเป็นพลังที่มาจากธรรมชาติ เช่น ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ฝนกระหน่ำ แห้งแล้ง ลมพายุ อะไรก็ตามที ทำให้เกิดความศรัทธาในต้นกำเนิดของพลังเหล่านั้น ว่าเป็นพลังที่เหนือมนุษย์ และมนุษย์ต้องให้การสักการะบูชาเพื่อไม่ให้เกิดภัยพิบัติกับชนเผ่าของตน และสร้างตัวแทนเพื่อสักการะบูชาโดยเชื่อว่า สื่อตัวแทนนั้นคือพลังอำนาจแต่ละชนิดจากธรรมชาตินั่นเอง

เมื่อเราพิจารณาดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่า การถ่ายทอดของความเชื่อต่าง ๆ บนโลก มีจุดกำเนิดจากคนทั้งสิ้น ต้องมีคนตั้งต้นเป็นผู้ถ่ายทอด หรือทำให้คนอีกหลายคนเชื่อในแบบที่เขาต้องการให้เชื่อ ซึ่งคนเหล่านั้นย่อมต้องมีจารีตที่ผิดแผกแตกต่างจากคนในกลุ่ม และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในกลุ่มได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น ในหลายตำรา หลายการจารึก จึงมิอาจชี้วัดได้ว่า สิ่งที่ถูกบันทึกเกี่ยวกับเรื่องลี้ลับ จะเป็นความจริงเสมอไป จนกระทั่งความเชื่อเหล่านี้ก่อตัวเป็นศาสนา และมีแนวคิด การปฏิบัติตน แตกต่างออกไปทั่วโลก หากแต่เราชาวพุทธ จะยึดถือปฏิบัติตามแนวทางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหลักใหญ่ แต่ก็มิอาจเลี่ยงความเชื่อของลัทธิฮินดู หรือ พราหมณ์-ฮินดู ที่ติดสอยห้อยตามมาได้เช่นเดียวกัน ซึ่งศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนี้ ถูกจัดว่าเป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเลยทีเดียว

สิ่งที่ผู้เขียนอยากให้พิจารณาก็คือ ในตำนานต่าง ๆ ที่ถูกกล่าวอ้างจากเทพนิยาย ความเชื่อที่ถ่ายทอดกันมา มันอาจจะมีทั้งเรื่องจริง เรื่องไม่จริง เรื่องที่แต่งขึ้น หรือเรื่องที่บอกต่อจากประสบการณ์ของใครในอดีต ดังนั้น ผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะปักใจเชื่อตำราใดตำราหนึ่ง หรือยึดถือจากคำสอนของศาสดาของตนเป็นหลักมิอาจได้ เพราะความเชื่อเหล่านั้น อาจถูกบิดเบือดไปตามกาลเวลาก็ได้เช่นกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราชาวพุทธได้เรียนรู้จากคำสอนของพุทธองค์ คือการวางใจเป็นกลาง และไม่แสวงหาสิ่งยึดติดลุ่มหลงมัวเมา จนเกิดกิเลส เกิดอบาย ไม่นำพาชีวิตสู่ความสุข

------------------------------


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ 
พญานาค จากตำนานสู่ความเชื่อ
ดูรีวิวและช่องทางการสั่งซื้อ << คลิก >> 👇



ผู้เขียนอนุญาตให้ Copy หรือ แชร์บทความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ในช่องทางของตัวเองได้ แต่ขอความกรุณาให้เครดิต หรือแนบลิงก์สั่งซื้อหนังสือให้ด้วยจักขอบพระคุณยิ่งครับ

(ไม่อนุญาตให้จัดพิมพ์หรือจำหน่ายในเชิงพาณิชย์นะครับ)


#พญานาค #ความเชื่อเรื่องพญานาค #ตำนานพญานาค #พญานาคลุ่มน้ำโขง #พญานาคประเทศลาว #พญานาคเขมร #ศรีสุทโธนาคราช #อนันตนาคราช #ภุชงค์นาคราช #สุวรรณนาคราช #เมืองสุวรรณโคมคำ #เมืองศรีสัตตนาคนหุต

ความคิดเห็น

คนชอบอ่าน

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ วานส์” (QUEEN OF WANDS)

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ เพนตาเคิลส์” (QUEEN OF PENTACLES)

ความหมายของไพ่บุคคล คิง ออฟ คัพส์ (KING OF CUPS)

ความหมายของไพ่ "เดอะ เวิลด์" (THE WORLD) สอนอ่านไพ่ยิปซี