ตำนานพญานาคถล่มเมืองหนองหารหลวง (จังหวัดสกลนคร)

ตำนานพญานาคถล่มเมืองหนองหารหลวง (สกลนคร)

พญานาคถล่มเมืองหนองหารหลวง

เดิมเมืองสกลนครปรากฏนามว่า เมืองหนองหารหลวง ครั้งหนึ่ง "ขุนขอม" ราชบุตรเจ้าเมืองอินทปัตถ์นคร (เขมร) ได้พาบริวารไพร่ฟ้าของตนมาสร้างเมืองขึ้นเมืองหนึ่งที่ริมหนองหาร ชื่อเมืองหนองหารหลวง ตรงท่านางอาบ (บ้านท่าศาลา อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนครปัจจุบัน) ขุนขอมได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ โดยขึ้นตรงกับเมืองอินทปัตถ์นคร กล่าวกันว่าอินทปัตถ์นครเป็นเมืองที่พระอินทร์ทรงสร้างขึ้นภายหลังจากปล่อยปลาบึกลงแม่น้ำโขง

ขุนขอมมีราชบุตรคนหนึ่งชื่อสุรอุทกกุมาร คือ เมื่อวันประสูติมีอัศจรรย์บังเกิดขึ้น มีน้ำพุบังเกิดขึ้นในที่บริเวณใกล้เคียงกับเมืองนั้น ขุนขอมจึงพระราชทานนามว่า ซ่งน้ำพุ (บ้านน้ำพุ อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนครปัจจุบัน)

เมื่อเจ้าสุรอุทก เจริญพระชนมายุ 15 พรรษา ขุนขอมพระบิดาสิ้นพระชนม์ เหล่าเสนาอำมาตย์จึงสถาปนาเจ้าสุรอุทกขึ้นเป็นเจ้าเมือง เป็น “พระยาสุรอุทก” และปกครองบ้านเมืองอย่างผาสุก จนกระทั่งมีบุตรชายสององค์ องค์พี่ชื่อเจ้าภิงคาร องค์น้องชื่อเจ้าคำแดง (ปรากฎอยู่บนศิลปะกรรมกระเบื้องดินเผาที่ประตูเมืองสกลนคร โดยมีพระยาสุรอุทก พร้อมทั้งบุตรชายทั้งสอง คือเจ้าภิงคาร และเจ้าคำแดง)

กาลต่อมา พระยาสุรอุทก มีคำสั่งให้เสนาอำมาตย์จัดรี้พลโยธาออกตรวจอาณาเขตบ้านเมืองของตน ครั้นตรวจไปถึงปากน้ำมูลนที ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับเมืองอินทปัตถ์นคร เสนาอำมาตย์ทูลชี้แจงว่าที่นี้เป็นที่ แบ่งเขตเมืองหนองหารหลวงกับเมืองอินทปัตถ์นคร ตามลำน้ำมูลนที จรดดงพระยาไฟ (ตามแนวแม่น้ำมูล) ขุนขอมพระบิดาของพระองค์ กับเจ้าเมืองอินทปัตถ์นคร ได้มอบอำนาจให้ “ธนมูลนาค” เป็นผู้รักษาอาณาเขตนี้เอาไว้

พระยาสุรอุทก ทรงพิโรธว่าพระอัยกา (ปู่) กับพระบิดามอบอำนาจให้ธนมูลนาค ซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉานรักษาอาณาเขตบ้าน เป็นการมิสมควรอย่างยิ่ง

กล่าวดังนั้นพระยาสุรอุทกชักพระขรรค์คู่กำเนิด ออกไปแสดงฤทธิ์ไต่ขึ้นไป

บนห้วงน้ำมูลนที และแกว่งพระขรรค์ เพื่อข่มขู่ธนมูลนาค

ธนมูลนาคจึงพิโรธ แสดงฤทธิ์เนรมิตกายตนให้พระยาสุรอุทกเห็นเป็นอัศจรรย์ต่าง ๆ นานา (ปรากฏบนศิลปกรรมกระเบื้องดินเผาที่ประตูเมืองสกลนคร) ซึ่งในเวลานั้น ต่างฝ่ายต่างไม่หยุดหย่อนท้อถอยซึ่งกันและกัน จนพระยาสุรอุทก ต้องยกรี้พลโยธากลับบ้านเมืองของตน เพราะเหตุแห่งมนุษย์ที่มิอาจมีกำลังฤทธิ์เหนือพญานาคได้ ด้วยความอ่อนล้า

ฝ่ายธนมูลนาค เมื่อเห็นพระสุรอุทกกลับเมือง ก็ยังไม่ลืมความโกรธแค้นที่พระยาสุรอุทกมาลบหลู่ตน จึงจัดทัพนาคบริวารทั้งหลาย ติดตามพระยาสุรอุทกไปถึงหนองหารหลวง สำแดงฤทธิ์เนรมิตนาคบริวารทั้งหลายให้เป็นฟานด่อนขาวงามบริสุทธิ์ทุกตัว (ฟานด่อน, ฟานเผือกคือเก้งสีขาวสะอาด) และเดินผ่านเมืองไปที่โพธิ์สามต้น (ปัจจุบันคือ ตำบลโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร) ชาวเมืองทั้งหลายเห็นดังนั้น จึงนำเหตุขึ้นกราบทูลพระยาสุรอุทกในทันที

พระยาสุรอุทกไม่มีการตรึกตรองแต่อย่างใด สั่งให้นายพรานทั้งหลายไปช่วยกันล้อมจับฟานเผือกเป็นมาถวายให้จงได้ ถ้าจับเป็นไม่ได้ก็ให้จับตาย นายพรานรับคำสั่งแล้วพร้อมทั้งสหายพรานรวมถึงชาวบ้านหลายคนติดตามไปจนถึงโพธิ์สามต้น จึงพบฝูงฟานด่อนกำลังกระจายตัวเล็มหญ้าอยู่ (ฟานด่อนกับเก้งเผือกความหมายเดียวกัน) เหล่าพรานจัดคนเข้าล้อมฝูงฟานด่อน ฝูงฟานด่อนต่างก็หลบหนี เร้นกายกำบังตัวหายไปรวดเร็วราวกับเป็นความฝัน ยังอยู่แต่ธนมูลนาคตนเดียวที่ยังคงทำท่าแทะเล็มหญ้าอยู่โดยไม่ได้ตกใจหนีไป แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถจับได้โดยง่าย ธนมูลนาคทำทีเดินหลอกล่อเหล่านายพรานกับชาวบ้านเข้าไปในป่า ติดตามกันจนเหนื่อยแต่ก็ยังไม่สามารถจับพญาฟานด่อนตนนี้ได้

พอถึงหนองบัวสร้าง (ปัจจุบันคือพื้นที่บ้านหนองบัวสร้าง ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ ตั้งอยู่ติดกับถนนสายนาหว้า - สกลนคร) นาคฟานด่อนก็ทำทีเป็นเจ็บขา นายพรานกับพวกก็เข้าล้อมจะจับเอาเป็นก็ไม่ได้ จึงตัดสินใจยิงฟานด่อนตัวนั้นด้วยหน้าไม้อันมีลูกดอกผสมด้วยยาพิษ ถูกฟานด่อนเข้าที่สำคัญ ฝ่ายธนมูลนาค เมื่อถูกยิงครั้นจะต่อสู้กับนายพรานซึ่งไม่มีฤทธิ์เดชอะไรก็กลัวจะเสื่อมเสียเกียรติแห่งตน จึงสูบเอาวิญญาณของตนออกจากร่างฟานด่อน จากนั้นฟานด่อนก็ถึงแก่ความตายต่อหน้านายพรานเหล่านั้น (ภาพนายพรานยิงฟานด่อนด้วยลูกดอกอาบยาพิษ ปรากฏบนศิลปะกระเบื้องดินเผาที่ประตูเมืองสกลนครอีกเช่นกัน)

เมื่อฟานด่อนตายแล้ว ธนมูลนาคก็ทำฤทธิ์ให้ร่างกายฟานด่อนขยายใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ จนเท่ากับช้างสาร ฝ่ายนายพรานเห็นได้ที ก็ให้กำลังโยธาเข้ายกหามเอาซากศพฟานด่อนยักษ์ ยกเท่าไหร่ก็ยกไม่ไหวเพราะความหนักเกินประมาณ นายพรานจึงจัดกำลังด้วยวิธีการลากเอาศพฟานด่อนลงมาทางโพธิ์สามต้น หนทางที่นายพรานลากฟานด่อนมาถึงริมฝั่งหนองหาน ก็เกิดเป็นร่องลึกจนกลายมาเป็น”คลองน้ำลาก” (ไหลจากตำบลโพธิไพศาลมาตกยังหนองหารในปัจจุบัน) ครั้นถึงริมนครหนองหารหลวง จะชักลากซากศพฟานด่อนสักเท่าใดก็ไม่สำเร็จ นายพรานจึงให้ม้าเร็วนำเหตุการนี้ไปกราบเรียนพระยาสุรอุทก

เมื่อพระยาสุรอุทกทรงทราบดังนั้น จึงมีคำสั่งให้เอาเนื้อฟานด่อนมาถวาย เมื่อนายพรานทราบดังนั้น จึงสั่งให้เหล่าทหารและพลเมืองเข้าแร่เนื้อฟานด่อนเพื่อนำเข้าถวายพระยาสุรอุทก แต่แร่อยู่ 3 วัน 3 คืน ก็ไม่หมด พระยาสรุอุทกจึงรับสั่งให้แจกจ่ายเนื้อฟานด่อนให้ชาวเมืองได้กินกันทั่วหน้า แต่เนื้อฟานด่อนยังงอกทวีขึ้น จนคนในเมืองได้รับประทานทั่วกัน

พระยาสุรอุทกได้รับประทานเนื้อฟานด่อน ก็มีความยินดีปรีเปรมเกษมสุข เพราะเป็นเนื้อที่มีรส หวานอร่อยดีกว่าเนื้อสัตว์ทั้งหลายที่เคยได้ลิ้มลอง ฝ่ายธนมูลนาคเมื่อรวบรวมนาคบริวารที่กระจัดกระจายกันไปได้แล้ว ก็ยังไม่หายความโกรธ พากันแสดงฤทธิ์มุดลงไปในบึงหนองหารหลวง

พอตกเวลากลางดึก ท่ามกลางเสียงที่เงียบสงัด คนในเมืองนอนหลับกันอย่างสงบเพราะฤทธิ์ของเนื้อฟานด่อน ธนมูลนาคจึงยกพล ขุดแผ่นดินเมืองหนองหารหลวงนั้น ให้ล่มสลายลงกลายเป็นผืนน้ำ ธนมูลนาคก็ตรงเข้าจับพระยาสุรอุทกด้วยบ่วงบาศก์ที่ทรงอิทธิฤทธิ์และลงเวทย์มนต์คาถาไว้ และชักลากพระยาสุรอุทกลงไปที่แม่น้ำโขง เมื่อธนมูลนาคชักลากพระยาสุรอุทกไปตามทุ่งนาป่าเขา วกไปวนมาหวังให้ได้รับความทุกขเวทนา จนกระทั่งมาถึงแม่น้ำโขง พระยาสุรอุทกก็สิ้นใจตาย ธนมูลนาค จึงส่งศพพระยาสุรอุทกไปยังเมืองอินทปัตถ์นคร (บางตำรากล่าวว่าโยนพระศพลงแม่น้ำโขง) ซึ่งเป็นเมืองเชื้อสายเดิม (หนทางที่ธนมูนนาค ชักลากพระยาสุรอุทกไปยังแม่น้ำโขงนั้นได้กลายเป็นล่องลึกและกลายมาเป็นลำน้ำ ชาวบ้านจึงเรียกลำน้ำนี้ว่า “ลำน้ำกรรม” (ภายหลังเรียกเพี้ยนกลายเป็นลำน้ำก่ำ ในปัจจุบัน) เพราะธนมูลนาคทรมานพระยาสุรอุทกให้ได้รับกรรมเช่นเดียวกับที่พระองค์สั่งให้คนลากฟานด่อนมายังริมหนองหาร

ฝ่ายเมืองหนองหารหลวง เจ้าภิงคาร เจ้าคำแดง (ราชบุตรทั้งสอง) กับญาติวงศ์ข้าราชบริพาร และประชาชนบางส่วนที่รู้สึกตัวก่อนจมน้ำ ก็ต่างคนต่างว่ายน้ำออกไปอาศัยอยู่ตามเกาะดอนกลางหนองหาร (ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่า เกาะดอนสวรรค์) ซึ่งเหลือจากกำลังนาคทำร้ายไม่หมดสิ้น เจ้าภิงคาร เจ้าคำแดงก็พาญาติวงศ์บ่าวไพร่ ขี่แพข้ามมาตั้งพักพลกำลังโยธาอยู่ที่โพนเมือง ริมหนองหารหลวงข้างทิศใต้

เจ้าภิงคารและเจ้าคำแดง พร้อมด้วยเสนาอำมาตย์ที่เหลือ จึงไปตรวจหาชัยภูมิที่จะตั้งบ้านสร้างเมือง เห็นว่าภูน้ำลอดเชิงชุม เป็นที่ชัยภูมิดี และเป็นที่ประชุมรอยพระพุทธบาทด้วย เจ้าภิงคารจึงตั้งสัตย์อธิษฐานว่า ข้าพเจ้าจะพาครอบครัวมาตั้งบ้านสร้างเมืองขึ้นที่ภูน้ำลอดนี้ เพื่อปฏิบัติรอยพระพุทธบาทด้วย ขอให้เทพยดาผู้มีฤทธิ์ จงช่วยอภิบาลบำรุงให้บ้านเมืองวัฒนาถาวรต่อไป

ในขณะนั้นมีพญานาคผู้ทรงศีลธรรมตนหนึ่ง ชื่อว่าสุวรรณนาค ซึ่งเป็นผู้รักษารอยพระพุทธบาทพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ที่ภูน้ำลอด มีเกล็ดเป็นทองคำ ได้ผุดขึ้นมาจากพื้นพสุธาดล และอภิเษกให้เจ้าภิงคารเป็นเจ้าเมืองหนองหารหลวงองค์ใหม่ โดยให้พระนามว่า “พระยาสุวรรณภิงคาร” (แปลว่าน้ำเต้าทองคำ) และได้ราชาภิเษกกับพระนางนารายณ์เจงเวง ราชธิดาของเจ้าเมืองอินทปัตถ์นคร (เชื้อสายเดียวกับผู้เป็นบิดา) เป็นเอกอัครมเหสี พระยาสุวรรณภิงคารและพระนางนารายณ์เจงเวงก็ได้ครองเมืองหนองหารหลวงโดยสวัสดิภาพตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ฝ่ายเมืองหนองหานน้อย (คาดว่าปัจจุบันคือ หนองหาน อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี) ไม่มีผู้ครองบ้านเมือง เสนาอำมาตย์จึงทำพิธีอธิษฐานเสี่ยงราชรถเพื่อค้นหาผู้ครองบ้านเมืองต่อไป รถอันเทียมด้วยม้ามีกำลังก็พามาสู่หนองหารหลวง ราชรถเข้าไปเกยที่บันไดวังเจ้าคำแดง (ราชบุตรผู้น้อง) เหล่าเสนาอำมาตย์ จึงกราบทูลเชิญเจ้าคำแดงไปเป็นเจ้าเมืองหนองหานน้อย เมืองหนองหานน้อยกับเมืองหนองหารหลวงจึงเป็นไมตรีพี่น้องกัน

ครั้นต่อมาถึงศาสนาองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระอริยสาวก จำนวน 1,500 รูป เสด็จมาจากเมืองศรีโคตรบูรณ์ (เมืองโคตรบูร นครพนม) แล้วมาฉันข้าวที่ภูกำพร้า หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่าดอยเข็ญใจ พระองค์ระลึกถึงประวัติพระพุทธเจ้าสามพระองค์ ที่เข้าสู่ปรินิพพานแล้ว ได้มาประชุมรอยพระบาทไว้ที่ภูน้ำลอดเชิงชุมทุกพระองค์ จึงทรงเห็นว่าพระองค์ก็จวนจะเข้าปรินิพพานแล้ว จึงพาสวกพระอรหันต์ 500 องค์ ไปสู่ภูน้ำลอดเชิงชุม ประทานรอยประทับลงที่แผ่นศิลา ซึ่งฝังอยู่ที่ภูน้ำลอด

ขณะนั้นพระยาสุวรรณภิงคาร พร้อมกับบริวารมารับเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าได้กระทำปาฏิหาริย์ ให้พระยาสุวรรณภิงคารเห็นเป็นอัศจรรย์ คือแสดงให้มหารัตนมณีสามดวง ออกมาจากพระโอษฐ์ มีรัศมีรุ่งโรจน์โชติช่วงชัชวาลย์ทั่วทั้งอากาศนพดล คนทั้งหลายเห็นพอเส้นขนก็ลุกพองสยองเกล้า

พระยาสุวรรณภิงคารจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ถามปัญหาในข้ออัศจรรย์ พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสพระสัทธรรมเทศนาว่า ที่นี้เป็นที่อันประเสริฐอันหนึ่งแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ซึ่งได้ตรัสรู้สัพพัญญูเป็นพระพุทธเจ้าในภัทรกัปนี้ ทุกพระองค์เมื่อจวนจะเข้าสู่ปรินิพพาน ก็ได้มาประชุมรอยพระพุทธบาทไว้ที่นี่ รัตนมณีทั้ง 3 ก็คือ ควงที่ 1 พระเจ้ากกุสันธพุทธเจ้า ดวงที่ 2 คือพระโกนาคมนพุทธเจ้า ดวงที่ 3 คือพระเจ้ากัสสปพุทธเจ้า ที่ทุกพระองค์ล่วงลับเข้าสู่ปรินิพพานนานแล้ว ส่วนดวงที่ 4 ซึ่งเสด็จออกมาทีหลังก็คือองค์สัมมาสัมพุทธโคดมนี้แล เมื่อหมดศาสนาพระตถาคตครบ 5,000 ปีแล้ว ยังจะมีพระศรีอาริยเมตไตรเจ้าองค์หนึ่ง ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในกัปนี้ พระองค์ก็ยังจะได้มาประชุมรอยพระบาทไว้ที่นี้อีกจึงจะหมดภัทรกัป (ภัทรกัป คือกัปอันเจริญ กัปอันเป็นปัจจุบัน กล่าวถึงพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ดังนี้)

พระยาสุวรรณภิงคารเมื่อสดับฟังรสธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็มีความโสมนัสยินดีปรีดาปราโมทย์ในพระสัทธรรมเทศนานั้นยิ่งนัก เพราะว่าบ้านเมืองของตนตั้งอยู่ในสถานที่อันประเสริฐ พระยาสุวรรณภิงคาร ชักพระขรรค์ออกจะตัดศรีษะของพระองค์ถวายเป็นพุทธบูชาพระสัทธรรมเทศนา พระนางนารายณ์เจงเวงราชเทวี เห็นพระองค์ทรงพระสัญญาวิปลาส ดังนั้นจึงเข้ากุมพระหัตถ์แย่งพระขรรค์ไว้ แล้วทูลว่า เมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์มายุอยู่ยืนนาน ก็จะได้อุปถัมภ์บำรุงรอยพระพุทธบาท สืบพระพุทธศาสนาสร้างบุญกุศลสืบไป

พระยาสุวรรณภิงคารได้ยินนางเทวีห้าม ก็สะดุ้งพระทัยรู้สึกถึงคุณพระรัตนตรัย มีพระสติเลื่อมใสในรอยพระพุทธบาท พระยาก็ถอดมงกุฏกษัตริย์ ซึ่งมีราคาแสนตำลึงทองคำมณี สวมลงไปในรอยพระพุทธบาทเป็นเครื่องบูชา แล้วพระยาสุวรรณภิงคารก็อาราธนาพระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์ 500 องค์ ไปรับบิณฑบาตที่พระราชวังของพระองค์

พระพุทธเจ้ากระทำภัตกิจรับฉันอาหารบิณฑบาต ทรงอนุโมทนาซึ่งทานแห่งพระยาสุวรรณภิงคารแล้ว ก็เสด็จไปประทับพระบรรทมที่แท่นศิลาอาสน์ ณ ดอยคูหาแล้วก็เสด็จไปเมืองกุสินารา พระองค์เสด็จเข้าสู่ปรินิพพานในกาลนั้น

ฝ่ายพระยาสุวรรณภิงคารกับพระนางนารายณ์นารายณ์เจงเวงราชเทวี พร้อมด้วยบริวารสร้างอุโมงค์ก่อเป็นรูปเจดีย์สวมรอยพระพุทธบาทไว้ที่คูน้ำลอดเชิงชุม ให้นามว่าพระเจดีย์พุทธบาทโรมชุมหรือเชิงชุม ซึ่งมีรอยพระพุทธบาททั้ง 4 พระองค์มารวมกันทับซ้อนอยู่เป็นหลักฐาน ณ แผ่นศิลาเบื้องล่างพระเจดีย์นั้น

---------------------


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ 
พญานาค จากตำนานสู่ความเชื่อ
ดูรีวิวและช่องทางการสั่งซื้อ << คลิก >> 👇



ผู้เขียนอนุญาตให้ Copy หรือ แชร์บทความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ในช่องทางของตัวเองได้ แต่ขอความกรุณาให้เครดิต หรือแนบลิงก์สั่งซื้อหนังสือให้ด้วยจักขอบพระคุณยิ่งครับ

(ไม่อนุญาตให้จัดพิมพ์หรือจำหน่ายในเชิงพาณิชย์นะครับ)


#พญานาค #ความเชื่อเรื่องพญานาค #ตำนานพญานาค #พญานาคลุ่มน้ำโขง #พญานาคประเทศลาว #พญานาคเขมร #ศรีสุทโธนาคราช #อนันตนาคราช #ภุชงค์นาคราช #สุวรรณนาคราช #เมืองสุวรรณโคมคำ #เมืองศรีสัตตนาคนหุต

ความคิดเห็น

คนชอบอ่าน

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ วานส์” (QUEEN OF WANDS)

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ เพนตาเคิลส์” (QUEEN OF PENTACLES)

ความหมายของไพ่บุคคล คิง ออฟ คัพส์ (KING OF CUPS)

ความหมายของไพ่ "เดอะ เวิลด์" (THE WORLD) สอนอ่านไพ่ยิปซี