ตำนานมนต์อาลัมพายน์ (พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพญานาค ตอนที่ 5)

ตำนานมนต์อาลัมพายน์

(พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพญานาค ตอนที่ 5)

มนต์อาลัมพายน์

ในกาลนั้น ยังมีครุฑตนหนึ่ง อาศัยอยู่ที่ต้นงิ้ว ทางมหาสมุทรภาคใต้ กระพือลมปีก แหวกน้ำในมหาสมุทรลงไป จับศีรษะนาคราชได้ตนหนึ่ง แท้จริงในกาลนั้น ครุฑทั้งหลาย ยังไม่รู้จักวิธีจับนาค ครั้นภายหลัง จึงรู้จักวิธีจับนาคอย่างในปัณฑรกชาดก (อ่านได้ที่เรื่องครุฑยุดนาคในบทตำนานต่อไป) แต่ครุฑตัวนั้น เมื่อจับนาคทางศีรษะ กระพือปีกแหวกน้ำยังไม่ทันน้ำจะท่วมมาถึง ก็หิ้วนาคขึ้นได้ จึงปล่อยให้นาคห้อยหางลง แล้วพาบินไปเบื้องบนป่าหิมพานต์ ในกาลนั้นมีพราหมณ์ชาวกาสิกรัฐผู้หนึ่ง (กาสิกคือชื่อเมือง) ออกบวชนามว่า “ฤาษีโกสิยโคตร” สร้างบรรณศาลาอาศัยอยู่ในหิมวันตประเทศ (ชายป่า) ที่สุดจงกรมของฤาษีนั้น มีต้นไทรใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ฤาษีนั้นทำที่พักผ่อนหย่อนใจ ในกลางวันที่โคนต้นไทรนั้น

ครุฑหิ้วนาคผ่านไปถึงตรงยอดไทร นาคปล่อยหางห้อยอยู่ นาคจึงเอาหางพันรอบต้นไทรด้วยหมายใจจะให้พ้นจากครุฑ ครุฑมิทันรู้ก็โผบินขึ้น เพราะมันมีกำลังมาก ต้นไทรพร้อมทั้งรากติดหางนาคไปด้วย เมื่อครุฑพานาคไปถึงต้นงิ้วที่พำนักของตน ก็จิกด้วยจะงอยปาก ฉีกท้องนาคกินมันเหลว และทิ้งร่างลงไปในท้องมหาสมุทร ต้นไทรก็ตกลงมหาสมุทรเสียงดังสนั่นหวั่นไหว ครุฑจึงสงสัยว่า เสียงอะไร ก็มองไปดูเบื้องต่ำ แลเห็นต้นไทร จึงคิดในใจว่า “ต้นไทรนี้เราถอนมาแต่ไหน” ก็นึกได้โดยถ่องแท้ว่า ต้นไทรนั้นอยู่ท้ายที่จงกรมของพระดาบส ตัวเราจะปรากฏว่า ทำอกุศลกรรมหรือไม่หนอ เราจักไปถามดาบสผู้นั้นดูก็จะรู้ได้ ดังนี้แล้วก็แปลงเพศ เป็นมาณพน้อยไปสู่สำนักพระดาบส เพื่อถามความแห่งอกุศลกรรมของตน

ขณะนั้นพระดาบสกำลังปรับที่ตรงโคนต้นไทรนั้นให้สม่ำเสมอ พญาครุฑไหว้พระดาบสแล้วก็นั่งอยู่ ณ ที่สมควร ทำทีประหนึ่งว่าไม่รู้ จึงแกล้งถามไปว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ที่ตรงนี้เดิมเป็นที่อยู่ของอะไร” ดาบสตอบว่า “ดูก่อนท่านผู้มีอายุ สุบรรณตนหนึ่งนำนาคมา เพื่อเป็นภักษาหาร เมื่อนาคเอาหางพัน คาคบต้นไทรด้วยหมายจะให้พ้น สุบรรณนั้นมิทันรู้บินไปโดยเร็ว เพราะความที่ตนมีกำลังมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ต้นไม้ในที่นี้ ก็ถูกถอนขึ้นทันที ที่ตรงนี้แหละเป็นที่แห่งต้นไทรนั้นถอนขึ้น” พญาครุฑถามต่อว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ อกุศลกรรมจะมีแก่สุบรรณหรือไม่” ดาบสตอบว่า “ถ้าหากว่า สุบรรณนั้นไม่รู้อกุศลกรรมก็ไม่มี เพราะไม่มีเจตนา” พญาครุฑจึงถามว่า “ก็อกุศลกรรมจะมีแก่นาคนั้นหรือไม่เล่าเจ้าข้า” ดาบสตอบว่า “นาคก็มิได้จับเหนี่ยวไว้เพื่อจะให้ต้นไทรเสียหาย จับเหนี่ยวไว้เพื่อจะให้พ้นภัย เพราะเหตุนั้นอกุศลกรรมก็ไม่มีแก่นาคนั้นเหมือนกัน”

พญาสุบรรณได้ฟังคำของดาบสก็ยินดีจึงกล่าวว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้านี้แหละ คือสุบรรณนั้น ข้าพเจ้ายินดีด้วยพระผู้เป็นเจ้าแก้ปัญหา ข้าพเจ้ารู้มนต์ชื่อว่า อาลัมพายน์ บทหนึ่งหาค่ามิได้ ข้าพเจ้าจะถวายมนต์นั้นแก่พระผู้เป็นเจ้า ให้เป็นส่วนบูชาอาจารย์ พระผู้เป็นเจ้าจงรับไว้เถิด” ดาบสกล่าวว่า “พอละ เราไม่ต้องการด้วยมนต์ ท่านจงไปเถิด” พญาครุฑวิงวอนอยู่บ่อยครั้ง จนพระดาบสยอมรับ แล้วจึงถวายมนต์พร้อมบอกสูตรยาแก้พิษนาคแก่ดาบสแล้วก็หลีกไป (จบครุฑกัณฑ์)

ในกาลนั้น ยังมีพราหมณ์อีกผู้หนึ่งในกรุงพาราณสี กู้ยืมหนี้สินไว้มากมาย ถูกเจ้าหนี้ทั้งหลายทวงถามก็คิดว่า เราจะอยู่ในเมืองนี้ไปทำไมอีก เข้าไปตายเสียในป่ายังประเสริฐกว่า ดังนี้แล้วจึงออกจากบ้านเข้าไปในป่า จนบรรลุไปถึงอาศรมแห่งพระฤาษีท่านนั้น พราหมณ์ปฏิบัติต่อพระดาบสให้ยินดีด้วยวัตตสัมปทาคุณ (ปฎิบัติตนให้ถึงพร้อมซึ่งความดี) พระดาบสคิดว่า พราหมณ์ผู้นี้เป็นผู้มีอุปการะแก่เรายิ่งนัก เราจักให้ทิพยมนต์ ซึ่งสุบรรณราชเคยให้เราไว้ มอบแด่พราหมณ์ผู้นี้ ดังนี้แล้วก็บอกพราหมณ์ว่า “ดูก่อนพราหมณ์ เรารู้มนต์ชื่อว่าอาลัมพายน์ จักให้มนต์นั้นแก่ท่าน ท่านจงเรียนมนต์นั้นไว”" แม้เมื่อพราหมณ์นั้นห้ามว่า “อย่าเลย ข้าพเจ้าไม่ต้องการมนต์” พระดาบสก็อ้อนวอนแล้วอ้อนวอนเล่า จนพราหมณ์รับถ้อยคำ แล้วจึงให้มนต์ และบอกยาอันประกอบกับมนต์และอุปจารแห่งมนต์ (วิธีการใช้) ทันใดพราหมณ์นั้นก็คิดได้ว่า เราได้อุบายที่จะเลี้ยงชีพแล้ว ก็พักอยู่ต่อ 2-3 วัน แล้วอ้างเหตุว่า โรคลมเบียดเบียน จึงกราบไหว้พระดาบส ขอขมาโทษแล้วก็ออกจากป่าไป จนถึงฝั่งแม่น้ำยมุนาโดยลำดับ เดินสาธยายมนต์นั้นไปตามหนทางใหญ่

ขณะนั้น นางนาคมาณวิกาบาทบริจาริกาของพระภูริทัต ประมาณ 1,000 ตน ต่างถือเอาแก้วมณีที่ให้ ความปรารถนาทุกอย่างนั้น ออกจากนาคพิภพ แล้ววางแก้ววิเศษไว้บนกองทราย ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา นางนาคพากันเล่นน้ำตลอดคืน ด้วยแสงสว่างแห่งแก้วมณีนั้น ครั้นอรุณขึ้น จึงพากันตกแต่งกายด้วยเครื่องอาภรณ์ทั้งปวง นั่งล้อมแก้วมณีให้สิริเข้าสู่กาย (ให้รัศมีดวงแก้วเข้าสู่กายตน) ฝ่ายพราหมณ์ก็เดินสาธยายมนต์มาถึงที่นั่น เหล่านางนาคมาณวิกาได้ยินเสียงมนต์ สำคัญว่า เสียงพราหมณ์นั้นเป็นพญาครุฑ ก็สะดุ้งกลัวเพราะมรณภัย ไม่ทันหยิบแก้วมณี ก็พากันแทรกปฐพีไปยังนาคพิภพ พราหมณ์เห็นแก้วมณีก็ดีใจว่า มนต์ของเราสำเร็จผลเดี๋ยวนี้แล้ว ก็หยิบเอาแก้วมณีนั้นไป การที่พราหมณ์ท่องบ่นมนต์นี้จึงเรียกขานนามตัวเองว่า “อาลัมพายน์พราหมณ์” และทำตัวประดุจหมองูผู้ยิ่งใหญ่ในกาลต่อมา

ขณะนั้น พราหมณ์เนสาท พร้อมโสมทัตบุตรชาย เข้าไปสู่ป่า เพื่อล่าเนื้อ เห็นแก้วมณีวิเศษในมือของอาลัมพายน์พราหมณ์ จึงกล่าวกับบุตรว่า “ดูก่อนโสมทัต แก้วมณีดวงนี้ ที่พระภูริทัตให้แก่เรา มิใช่หรือ” โสมทัตตอบ “ใช่แล้วพ่อ” พราหมณ์เนสาท “ถ้าเช่นนั้นเราจะกล่าวโทษแก้วมณีดวงนั้น หลอกพราหมณ์เอาแก้วมณีนี้เสีย” โสมทัตจึงว่า “ข้าแต่พ่อ เมื่อพระภูริทัตให้ครั้งก่อนพ่อไม่รับ แต่บัดนี้ กลับจะไปหลอกพราหมณ์เล่า นิ่งเสียเถิด” พราหมณ์เนสาทจึงกล่าวว่า “เรื่องนั้นยกไว้ก่อน เจ้าคอยดู เราหลอกตานั่นเถิด” ว่าแล้วเมื่อจะปราศรัยกับอาลัมพายน์พราหมณ์ จึงกล่าวว่า “แก้วมณีที่สมมติว่าเป็นมงคล เป็นของดี เป็นเครื่องปลื้มรื่นรมย์ใจเกิดแต่หิน สมบูรณ์ด้วยลักษณะที่ท่านถืออยู่นี้ ได้มาอย่างไร” อาลัมพายน์พราหมณ์กล่าวว่า “วันนี้เราเดินไปตามทาง แต่เวลาเช้าตรู่ เดินไปตามหนทางใหญ่ได้พบแก้วมณี แวดล้อมโดยรอบ ด้วยนางนาคมาณวิกา ผู้มีตาแดงประมาณ 1,000 ตน ก็นางนาคมาณวิกาทั้งหมดนั้นเห็นเราเข้า สะดุ้งตกใจแล้ว พากันทิ้งแก้วมณีนี้หนีไป”

พราหมณ์เนสาทประสงค์จะลวงอาลัมพายน์นั้น จึงประกาศโทษแห่งแก้วมณีว่า “แก้วมณีอันเกิดแต่หินนี้ ที่สั่งสมมาได้ด้วยดี อันบุคคลเคารพบูชา ประดับประดา เก็บรักษาไว้ดี ทุกเมื่อยังประโยชน์ทั้งปวงให้สำเร็จได้ เมื่อบุคคลปราศจาก การระวังในการเก็บรักษา หรือในการประดับประดา แก้วมณีอันเกิดแต่หินนี้ ที่บุคคลหามาได้โดยไม่แยบคาย ย่อมเป็นไปเพื่อความพินาศ คนผู้ไม่มีกุศล ไม่ควรประดับแก้วมณี อันเป็นทิพย์นี้” “ทองคำแท่งมีมากในเรือนของเรา เราจะให้แท่งทอง 100 แท่งแก่ท่าน ท่านจงปกครองแท่งทองนั้น แล้วจงให้แก้วมณีแก่เรา แม้แท่งทองในเรือนของท่าน เพียงแท่งเดียวก็ไม่มี”

อาลัมพายน์พราหมณ์ผู้นั้นย่อมรู้ว่า แก้วมณีนี้ให้สิ่งสารพัดนึก จึงอาบน้ำดำศีรษะ แล้วเอาน้ำประพรมแก้วมณี และกล่าวว่า “ท่านจงให้แท่งทอง 100 แท่งแก่เรา เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจักให้แก้วมณีที่ปรากฏว่า เป็นของเราแก่ท่าน” เพราะเหตุนั้นพราหมณ์ผู้กล้าหาญจึงกล่าวอย่างนี้ (คือให้ทองมาก่อน ถึงจะมอบแก้ว)

พราหมณ์เนสารทรู้ว่าตนไม่มีทอง 100 แท่ง จึงเบี่ยงประเด็นไปเป็นความอื่น จึงกล่าวว่า

“ถ้าท่านไม่แลกเปลี่ยนแก้วมณีด้วยโคหรือรัตนะ เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านจะแลกเปลี่ยนแก้วมณีด้วยอะไร เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกความข้อนั้นแก่เรา” อาลัมพายน์กล่าวว่า “ผู้ใดบอกนาคใหญ่ผู้มีเดช ยากที่บุคคลจะล่วงเกินได้ เราจะให้แก้วมณีอันเกิดแต่หิน อันรุ่งเรืองด้วยรัศมีนี้”

พราหมณ์เนสาทกล่าวว่า “ท่านมีกำลังอะไร มีศิลปอะไร ท่านเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งผลอันพิเศษในอะไร จึงไม่ยำเกรงนาค” อาลัมพายน์นั้น เมื่อต้องการแสดงกำลังของตนจึงกล่าวว่า “ครุฑมาบอกวิชาหมองูอย่างสูงแก่ฤาษีโกสิยโคตร ผู้อยู่ในป่าประพฤติตบะอยู่สิ้นกาลนาน เราเข้าไปหาฤาษีตนนี้ง ซึ่งนับเข้าในพวกฤาษีผู้บำเพ็ญตน อาศัยอยู่ในระหว่างภูเขา ได้บำรุงท่านโดยเคารพ มิได้เกียจคร้าน ทั้งกลางคืนกลางวัน ในกาลนั้น ท่านบำเพ็ญวัตรและพรหมจรรย์ เป็นผู้มีโชค เมื่อได้สมาคมกับเรา จึงสอนมนต์ทิพย์ให้แก่เราด้วยความรัก” “เราทรงไว้ซึ่งผลอันวิเศษในมนต์นั้น จึงไม่กลัวต่อนาค เราเป็นอาจารย์ของพวกหมอผู้ฆ่าอสรพิษ ชนทั้งหลายรู้จักเราว่า อาลัมพายน์” (ถึงบทนี้แสดงชัดว่าพราหมณ์อุปโลกน์ตนด้วยชื่อมนต์อาลัมพายน์)

พราหมณ์เนสาทได้ฟังดังนั้นแล้วจึงคิดว่า “อาลัมพายน์นี้ให้แก้วมณีแก่บุคคล ผู้แสดงที่อยู่ของพระภูริทัตแก่เขา ครั้นแสดงพระภูริทัตแก่เขาแล้ว จึงจักรับเอาแก้วมณี” จึงหารือเจรจาปรึกษาบุตรของตนว่า “ดูก่อนลูกโสมทัต เราควรรับแก้วมณีไว้สิ เจ้าจงรู้ไว้ เราอย่าละสิริ อันมาถึงตนด้วยท่อนไม้ตามชอบใจสิ”

โสมทัตกล่าวว่า “ข้าแต่พ่อผู้เป็นพราหมณ์ ภูริทัตนาคราชบูชาคุณพ่อผู้ไปถึงที่อยู่ของตน เพราะเหตุไร คุณพ่อจะปรารถนาประทุษร้าย ต่อผู้กระทำดี เพราะความหลงอย่างนี้ ถ้าคุณพ่อปรารถนาทรัพย์ ภูริทัตนาคราชก็คงจักให้ คุณพ่อไปขอท่านเถิด ภูริทัตนาคราชคงจักให้ทรัพย์เป็นอันมากแก่คุณพ่อ”

พราหมณ์เนสารทกล่าวว่า “ดูก่อนโสมทัต การกินของที่ถึงมือ ที่อยู่ในภาชนะ หรือที่ตั้งอยู่เบื้องหน้า เป็นความประเสริฐ ประโยชน์ที่อยู่เบื้องหน้าเรา อย่าได้ล่วงเราไปเสียเลย” โสมทัตกล่าวว่า “คนประทุษร้ายต่อมิตร สละความเกื้อกูล จะตกหมกไหม้อยู่ในนรกอันร้ายแรง แผ่นดินย่อมสูบผู้นั้น หรือเมื่อผู้นั้นมีชีวิตอยู่ก็ซูบซีด ถ้าคุณพ่อปรารถนาทรัพย์ ภูริทัตนาคราชก็คงจักให้ ลูกเข้าใจว่า คุณพ่อจักต้องประสบเวรที่ตนทำไว้ในไม่ช้า”

พราหมณ์เนสารทกล่าวว่า “พราหมณ์ทั้งหลายบูชามหายัญแล้ว ย่อมบริสุทธิ์ได้ เราจักบูชามหายัญ ก็จักพ้นจากบาป ด้วยการบูชายัญอย่างนี้” โสมทัตกล่าวว่า “เชิญเถิด ลูกจะขอแยกไป ณ บัดนี้ วันนี้ลูกจะไม่ขออยู่ร่วมกับคุณพ่อ จะไม่ขอเดินทางร่วมกับคุณพ่อ ผู้ทำกรรมหยาบอย่างนี้สักก้าวเดียว”

ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เมื่อไม่อาจให้บิดาเชื่อฟังคำของตน จึงโพนทะนาให้เทวดาทราบ ด้วยเสียงอันดังว่า “ข้าพเจ้าจะไม่ไปกับคนทำบาปเห็นปานนี้ละ” ครั้นประกาศแล้ว ก็หนีไปทิ้งบิดาให้อยู่ในที่แห่งนั้น

(ถึงตอนนี้ โสมทัตได้เข้าไปสู่ป่าหิมพานต์ บวชเป็นฤาษียังอภิญญาและสมาบัติให้เกิดแล้ว มิให้เสื่อมฌานแล้วเกิดไปเกิดในพรหมโลก) (จบโสมทัตกัณฑ์)

พราหมณ์เนสาทก็คิดไปว่า โสมทัตจักไปไหนได้ นอกจากเรือนของตน ครั้นเห็นอาลัมพายน์ไม่พอใจกับเรื่องนี้ จึงปลอบว่า “ดูก่อนอาลัมพายน์ ท่านอย่าวิตกไปเลย เราจักชี้ภูริทัตให้ท่าน” ดังนี้แล้ว ก็พาอาลัมพายน์ไปยังที่รักษาอุโบสถแห่งพญานาค เห็นพญานาคภูริทัตคู้ขดขนดกายอยู่ที่จอมปลวก จึงยืนอยู่ในที่ไม่ไกล เหยียดมือออกแล้วกล่าวความว่า “ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจงจับเอานาคใหญ่นั้น จงส่งแก้วนั้นมาให้เรา นาคใหญ่นั่นมีรัศมีดังสีแมลงค่อมทอง ศีรษะแดง ตัวปรากฏดังกองปุยนุ่น นอนอยู่บนจอมปลวก ท่านจงจับมันเถิดพราหมณ์”

พระมหาสัตว์ ลืมพระเนตรขึ้น แลเห็นพราหมณ์เนสาท ก็รู้ด้วยฌาณโดยทันที พึงคิดในใจว่า “เราคิดไว้แล้วว่าพราหมณ์คนนี้จะทำอันตรายแก่อุโบสถของเรา เราจึงพาผู้นี้ไปยังนาคพิภพ แต่งให้มีสมบัติเป็นอันมาก ไม่ปรารถนาเพื่อจะรับแก้วที่เราให้ แต่บัดนี้ไปรับเอาหมองูมา ถ้าเราโกรธแก่ผู้ประทุษร้ายมิตร ศีลของเราก็จักขาด ก็เราได้อธิษฐานอุโบสถ อันประกอบด้วยองค์ 4 ไว้ก่อนแล้ว ต้องให้คงที่อยู่ อาลัมพายน์จะตัด จะเผา จะฆ่า จะแทงด้วยหลาวก็ตามเถิด เราจะไม่โกรธเขาเลย ถ้าเราจะแลดูเขาด้วยความโกรธ เขาก็จะแหลกเป็นเหมือนขี้เถ้า ช่างเถอะทุบตีเราเถอะ เราจักไม่โกรธเลย”

ดังนี้แล้วก็หลับเนตรลง ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมีไว้เป็นเบื้องหน้า ซุกเศียรเข้าไว้ ณ ภายในขนดนอนนิ่ง มิได้ไหวติงเลย (จบศีลกัณฑ์)

ฝ่ายพราหมณ์เนสาทกล่าวว่า “ดูก่อนอาลัมพายน์ผู้เจริญ เชิญท่านจับนาคนี้ และจงให้แก้วมณีแก่เราเถิด” อาลัมพายน์เห็นนาคแล้วก็ปลื้มปิติ มิได้สนใจว่าแก้วจะมีค่าอะไร เปรียบเสมือนเป็นผักหญ้า โยนแก้วมณีไปที่มือพราหมณ์เนสาท พร้อมกล่าวว่า “เอาไปเถิดพราหมณ์” แก้วมณีก็พลาดจากมือพราหมณ์เนสาท ตกลงที่แผ่นดิน พอตกลงแล้วก็จมแผ่นดินลงไปยังนาคพิภพนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ พราหมณ์เนสาทเป็นเหตุแห่งความเสื่อมจากฐานะสามประการ คือ (1) เสื่อมจากแก้วมณี (2) เสื่อมจากมิตรภาพกับพระภูริทัต และ (3) เสื่อมจากบุตรของตน เขาก็ร้องไห้รำพันว่า “เราหมดที่พึ่งพาอาศัยแล้ว เพราะเราไม่ทำตามคำของบุตร แล้วแล่นกลับไปสู่เรือนตน”

ฝ่ายอาลัมพายน์ ก็ทาร่างของตนด้วยทิพยโอสถตามสูตรที่ได้เรียนมา เคี้ยวกินเล็กน้อย กับประพรมกายของตน แล้วก็ร่ายมนต์วิเศษ เข้าไปหาพระโพธิสัตว์ จับหางพระโพธิสัตว์ คร่ามาจับศีรษะไว้มั่น แล้วเปิดปากพระมหาสัตว์ เคี้ยวยาบ้วนใส่พร้อมเสมหะ เข้าในปากพระมหาสัตว์ พญานาคผู้เป็นชาติสะอาด ไม่โกรธไม่ลืมตา เพราะกลัวแต่ศีลจะขาดทำลาย ลำดับนั้น อาลัมพายน์ก็ใช้ยาและมนต์ จับหางพระมหาสัตว์หิ้วให้ศีรษะห้อยลงเบื้องต่ำ เขย่าให้สำรอกอาหารที่มีอยู่ แล้วให้นอนเหยียดยาวที่พื้นดิน เหยียบย่ำด้วยเท้า เหมือนคนนวดถั่ว กระดูกเหมือนจะแหลกเป็นจุณออกไป พลันจับหางพระมหาสัตว์หิ้วให้ศีรษะห้อยลงข้างล่างอีก ฟาดลงเหมือนฟาดผ้า พระมหาสัตว์แม้เสวยทุกขเวทนาถึงปานนี้ ก็ไม่โกรธเลยแม้แต่น้อย

อาลัมพายน์ ครั้นทำพระมหาสัตว์ให้ถอยกำลังดังนั้นแล้ว จึงเอาเถาวัลย์ถักกระโปรง แล้วเอาพระมหาสัตว์ใส่ในกระโปรงนั้น แต่สรีระของพระมหาสัตว์ใหญ่โต เข้าไปในกระโปรงนั้นไม่ได้ อาลัมพายน์จึงใช้ส้นเท้าถีบพระมหาสัตว์ให้เข้าไป แล้วแบกกระโปรงไปถึงบ้านแห่งหนึ่ง จึงวางกระโปรงลง วางไว้กลางบ้านแล้วร้องบอกชาวบ้านว่า “ผู้ประสงค์จะดูการฟ้อนรำของนาคก็จงมา” ชาวบ้านต่างมาประชุมกัน เมื่อนั้น อาลัมพายน์จึงกล่าวว่า “มหานาค เจ้าจงออกมา” พระมหาสัตว์คิดว่า “วันนี้เราจะเล่นให้บริษัทร่าเริง จึงจะควรอาลัมพายน์เมื่อได้ทรัพย์มากอย่างนี้ยินดีแล้ว จักปล่อยเราไป อาลัมพายน์จะให้เราทำอย่างใด เราก็จะทำอย่างนั้น” ลำดับนั้น อาลัมพายน์ก็นำพระมหาสัตว์ออกจากกระโปรง แล้วกล่าวว่า เจ้าจงทำตัวให้ใหญ่ พระมหาสัตว์ทำตัวให้ใหญ่ อาลัมพายน์บอกให้ทำตัวให้เล็กและให้ขด ให้คลาย ให้แผ่พังพาน 1 พังพาน 2, 3, 4, 5 - 100 ให้สูง ให้ต่ำ ให้เห็นตัว ให้หายตัว ให้เห็นครึ่งตัว ให้สีเขียว เหลือง แดง ขาว หงสบาท (หงสบาท คือ สีแดงเรื่อ หรือสีแสด)ให้พ่นเปลวไฟ พ่นน้ำ พ่นควัน ในอาการเหล่านี้ ไม่ว่าอาลัมพายน์จะบอกให้ทำอาการใด พระมหาสัตว์ก็นิรมิตอัตภาพแสดงอาการนั้นทุกประการ

ผู้คนที่ได้เห็นพระมหาสัตว์นั้นแล้ว ก็ไม่สามารถจะกลั้นน้ำตาไว้ได้ มนุษย์เป็นอันมากต่างพากันให้สิ่งของต่างๆ มีเงิน ทอง ผ้า และเครื่องประดับ เป็นต้น หวังให้พระมหาสัตว์นั้นพ้นจากอาลัมพายน์พราหมณ์ เมื่อได้ทรัพย์ในบ้านนั้นประมาณเป็นพัน ด้วยอาการอย่างนี้ อาลัมพายน์จึงกล่าวกับพระมหาสัตว์ว่า

จะปล่อยพระมหาสัตว์ แต่ถึงกระนั้น ครั้นได้พันหนึ่งแล้ว ก็คิดโลภโมโทนสันว่า แม้ในบ้านเล็กบ้านน้อย เรายังได้ทรัพย์ถึงเพียงนี้ ถ้าในพระนครคงจักได้ทรัพย์มากมาย เพราะความโลภมากในทรัพย์จึงมิได้ปล่อยพระมหาสัตว์อย่างที่พูด

อาลัมพายน์นั้น เมื่อเป็นผู้มีทรัพย์ จึงสั่งให้นายช่างทำกระโปรงแก้ว ใส่พระมหาสัตว์ลงในกระโปรงแก้วนั้น แล้วก็ขึ้นสู่ยานน้อยอย่างสบาย (รถม้าพาหนะ) ออกไปด้วยบริวารเป็นอันมาก ให้พระมหาสัตว์เล่นไปในหมู่บ้านและนิคม เป็นต้น จนถึงกรุงพาราณสีโดยลำดับ แต่อาลัมพายน์ ไม่ให้น้ำผึ้งและข้าวตอกแก่พญานาค กลับฆ่ากบให้กิน พระมหาสัตว์ก็มิได้รับอาหาร เพราะกลัวอาลัมพายน์จะไม่ปล่อย อาลัมพายน์จึงให้พระมหาสัตว์เล่นแสดงในหมู่บ้านนั้น ตั้งต้นแต่หมู่บ้านใกล้ประตูเมืองทั้ง 4 ด้าน

ครั้นถึงวันอุโบสถสิบห้าค่ำ อาลัมพายน์จึงขอให้กราบทูลแด่ พระราชาว่า ข้าพระองค์จะให้นาคราชเล่นถวายพระองค์ พระราชาจึงรับสั่งให้ตีกลองร้องประกาศให้มหาชนมาประชุมกัน ชนเหล่านั้นจึงพากันมาประชุมบนกันที่พระลานหลวง (จบอาลัมพายนกัณฑ์)

ย้อนความในวันที่อาลัมพายน์จับพระมหาสัตว์ไปนั้น พระมารดาสมุททชา (พระมารดาของพระภูริทัตนาคราช) ได้เห็นในระหว่างทรงพระสุบินว่า พระนางถูกชายคนหนึ่งตัวดำ ตาแดง เอาดาบตัดแขนขวาของพระนางขาด แล้วนำไปทั้งที่มีเลือดไหลอยู่ ครั้นพระนางตื่นขึ้น ก็สะดุ้งกลัวลุกขึ้นคลำแขนขวา ทรงทราบว่าเป็นความฝัน พระนางทรงดำริว่า “เราฝันเห็นร้ายแรงมาก บุตรของเราทั้ง 4 คน หรือท้าวธตรฐ ทั้งตัวเราเองคงจะเป็นอันตราย” อีกอย่างหนึ่ง พระนางทรงปรารภคิดถึงพระมหาสัตว์ยิ่งกว่าผู้อื่น เพราะเหตุว่าบุตรแห่งนาคนอกนั้นอยู่ในนาคพิภพของตน

ฝ่ายพระมหาสัตว์ผู้มีศีลเป็นอัธยาศัย ขึ้นไปยังมนุษยโลกเพื่อการกระทำอุโบสถกรรม เพราะเหตุนี้ พระนางจึงทรงคิดถึงพระภูริทัตยิ่งกว่าใคร “เกรงว่า หมองู หรือสุบรรณ จะพึงจับเอาบุตรของเราไปเสียกระมังหนอ”

จากนั้นพอล่วงไปได้กึ่งเดือน พระนางทรงถึงโทมนัสว่า “บุตรของเราไม่สามารถจะพลัดพรากจากเราเกินกึ่งเดือนเลย ภัยอย่างใดอย่างหนึ่ง จักเกิดขึ้นแก่บุตรของเราเป็นแน่” ครั้นล่วงไปได้เดือนหนึ่ง พระนางสมุททชาก็ทรงโศกเศร้า หาเวลาขาดน้ำตามิได้ ดวงหฤทัยก็เหือดแห้ง พระเนตรทั้งสองก็บวมเบ่งขึ้นมา พระนางสมุททชาทรงนั่งมองหาทางที่พระมหาสัตว์จะกลับมาถึงเพียงเท่านั้น ด้วยทรงรำพึงว่า “ภูริทัตจักมา ณ บัดนี้ ภูริทัตจักมา ณ บัดนี้”

ครั้นล่วงไปได้เดือนหนึ่งแล้ว สุทัสสนะโอรสองค์ใหญ่ของพระนางสมุททชา พร้อมด้วยบริษัทเป็นอันมาก มาเยี่ยมพระชนกชนนี พักบริษัทไว้ภายนอกแล้วขึ้นสู่ปราสาท ไหว้พระชนนี แล้วได้ยืนอยู่อันที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระนางสมุททชานั้น กำลังทรงโศกเศร้าถึงพระภูริทัตอยู่ มิได้เจรจาปราศรัยกับด้วยสุทัสสนะ สุทัสสนะนั้น จึงคิดว่า พระมารดาของเรา เมื่อเรามาครั้งก่อนๆ เห็นเราแล้วย่อมยินดีต้อนรับ แต่วันนี้พระมารดาทรงโทมนัสน้อยพระทัย คงมีเหตุอะไรเป็นแน่

เมื่อนั้น จึงทูลถามพระมารดาว่า “เพราะได้เห็นข้าพระองค์ ผู้ให้สำเร็จสิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงมาเฝ้า อินทรีย์ของพระแม่เจ้าไม่ผ่องใส พระพักตร์พระแม่เจ้าก็เกรียมดำ เพราะทอดพระเนตรเห็น ข้าพระองค์เช่นนี้ พระพักตร์พระแม่เจ้าเกรียมดำ เหมือนดอกบัวอยู่ในมือถูกฝ่ามือขยี้ฉะนั้น”

แม้เมื่อสุทัสสนะกล่าวอย่างนี้แล้ว พระนางสมุททชามิได้ตรัสปราศรัยเลย สุทัสสนะจึงคิดว่า ใครทำให้พระมารดาโกรธหนอ หรือว่าพึงมีอันตรายประการใด

ลำดับนั้น จึงทูลถามพระมารดาอีกว่า “ใครว่ากล่าวล่วงเกินพระแม่เจ้า หรือพระแม่เจ้ามีเวทนาอะไรบ้าง เพราะทอดพระเนตรเห็น ข้าพระองค์ผู้มาเฝ้า พระพักตร์ของพระแม่เจ้าเกรียมดำ เพราะเหตุไร? พระแม่เจ้าจงบอกเหตุนั้นแก่ข้าพระองค์”

พระนางสมุททชา จึงตรัสบอกแก่สุทัสสนะว่า “พ่อสุทัสสนะเอ๋ย แม่ได้ฝันเห็นล่วงมาเดือนหนึ่งแล้วว่า มีชายคนหนึ่งมาตัดแขนของแม่ ดูเหมือนเป็นข้างขวา พาเอาไปทั้งที่เปื้อนด้วยเลือด เมื่อแม่กำลังร้องไห้อยู่ นับตั้งแต่แม่ได้ฝันเห็นแล้ว เจ้าจงรู้เถิดว่า แม่ไม่ได้รับความสุขทุกวันทุกคืนเลย”

แล้วตรัสต่อว่า “ดูก่อนลูกรัก น้องของเจ้าหายไปโดยมิได้เห็น ชะรอยว่าภัยคงจะเกิดมีแก่น้องของเจ้า” ดังนี้พลางทรงรำพันกล่าวต่อไปว่า “เมื่อก่อนนางกัญญาทั้งหลาย ผู้มีร่างกายอันสวยสดงดงาม ปกคลุมด้วยตาข่ายทอง พากันบำรุงบำเรอภูริทัตใด บัดนี้ภูริทัตนั้น ย่อมไม่ปรากฏให้เห็น เมื่อก่อนเสนาทั้งหลายผู้ถือดาบอันคมกล้า งามดังดอกกรรณิการ์ พากันห้อมล้อมภูริทัตใด บัดนี้ภูริทัตนั้น ย่อมไม่ปรากฏให้เห็น เอาเถอะ เราจักไปยังนิเวศน์แห่งภูริทัตบัดเดี๋ยวนี้ จักไปเยี่ยมน้องของเจ้า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล”

เมื่อพระนางสมุททชา ตรัสอย่างนี้แล้ว จึงเสด็จไปยังนิเวศน์แห่งพระภูริทัต พร้อมด้วยบริวารทั้งหลาย เหล่าภรรยาของพระมหาสัตว์ เมื่อไม่เห็นพระภูริทัตที่จอมปลวกแล้วก็คิดไปว่า คงจักอยู่ในนิเวศน์ของพระมารดา จึงมิได้พากันขวนขวายหา แต่เมื่อภรรยาเหล่านั้นทราบข่าวว่า แม่ผัวมาไม่เห็นบุตรของตน จึงปฏิสันถารแล้วทูลว่า “ข้าแต่พระแม่เจ้า หม่อมฉันทั้งหลายไม่ทราบเกล้าล่วงมาเดือนหนึ่งแล้วว่า พระภูริทัตผู้เรืองยศ โอรสของพระแม่เจ้า สิ้นชีพแล้วหรือว่ายังดำรงชนม์อยู่”

พระมารดาของพระภูริทัตเสด็จพร้อมด้วยหญิงสะใภ้ พากันคร่ำครวญในระหว่างทางเดินขึ้นสู่ปราสาทแห่งพระภูริทัต ตรวจดูที่นอนและที่นั่งของบุตรแล้วคร่ำครวญว่า “เราไม่เห็นภูริทัต จักตรอมตรมด้วยทุกข์สิ้นกาลนาน เหมือนนกพลัดพรากจากลูกเห็นแต่รังเปล่า เราไม่เห็นภูริทัต จักตรอมตรมด้วยทุกข์สิ้นกาลนาน เหมือนนางหงส์ขาว พลัดพรากจากลูกอ่อน เราไม่เห็นภูริทัต จักตรอมตรมด้วยทุกข์สิ้นกาลนาน เหมือนนางนกจากพราก ในเปือกตมอันไม่มีน้ำเป็นแน่ เราไม่เห็นภูริทัต จักตรอมตรมด้วยความโศกเศร้า เปรียบเหมือนเบ้าของช่างทอง เกรียมไหม้ในภายใน ไม่ออกไปภายนอกฉะนั้น” ทั้งบุตรและชายาในนิเวศน์ของภูริทัต ล้มนอนระเนระนาด เหมือนต้นรังอันลมฟาดหักลงฉะนั้น

ในกาลนั้นพญาสุโภค และพญากาณาริฏฐะ (โอรสองค์ที่ 3 และองค์ที่ 4) ได้ฟังเสียงอันกึกก้องของบุตรธิดา และพระชายาในนิเวศน์ของพระภูริทัตเหล่านั้น จึงวิ่งไปทอดพระเนตร และช่วยกันปลอบพระมารดา โดยพญาสุทัสสนะตรัสว่า

“ข้าแต่พระแม่เจ้า จงเบาพระทัยอย่าเศร้าโศกไปเลย เพราะว่าสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีความตายและความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาอยู่อย่างนี้ การตายและการเกิดขึ้นนี้เป็นความแปรของสัตว์โลก” พระนางสมุททชาตรัสว่า “ดูก่อนพ่อสุทัสสนะ ถึงแม้เรารู้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา ก็แต่ว่าแม่เป็นผู้อันความเศร้าโศก ครอบงำแล้ว ถ้าเมื่อแม่ไม่ได้เห็นภูริทัตในคืนวันนี้ เจ้าจงรู้ว่า แม่ไม่ได้เห็นภูริทัต เห็นจะต้องละชีวิตเป็นแน่” บุตรทั้งหลายกล่าวว่า “ข้าแต่พระแม่เจ้า จงเบาพระทัย อย่าเศร้าโศกไปเลย ลูกทั้ง 3 จักเที่ยวแสวงหาภูริทัตไปตามทิศน้อยทิศใหญ่ ที่ภูเขา ซอกเขา บ้านและนิคม แล้วจักนำท่านพี่ภูริทัตมา พระแม่เจ้าจักได้ทรงเห็น ท่านพี่ภูริทัตมาภายใน 7 วัน”

กาลนั้น พญาสุทัสสนะจึงคิดว่า ถ้าเราทั้ง 3 ไปรวมกัน ก็จักชักช้า ควรแยกไป 3 แห่ง คือ ผู้หนึ่งไปเทวโลก ผู้หนึ่งไปหิมพานต์ ผู้หนึ่งไปมนุษย์โลก แต่ถ้าให้กาณาริฎฐะไปมนุษย์โลก แล้วได้พบพระภูริทัตในบ้านและนิคมใด ก็จักเผาบ้านและนิคมนั้นเสียหมด เพราะกาณาริฎฐะ หยาบช้ากล้าแข็งมาก ไม่ควรให้ไปมนุษย์โลก ดังนี้จึงส่งกาณาริฏฐะไปเทวโลก กล่าวว่า “ดูก่อนพ่ออริฏฐะ เจ้าจงไปยังเทวโลก ถ้าว่าเทวดาต้องการฟังธรรม นำภูริทัตไปไว้ในเทวโลกไซร้ เจ้าจงพาเขากลับมา” และส่งสุโภคะให้ไปป่าหิมพานต์กล่าวว่า “พ่อสุโภคะ เจ้าจงไปยังหิมพานต์ เที่ยวค้นหาภูริทัตในมหานทีทั้ง 5 พบภูริทัตแล้วจงพามา” ส่วนพญาสุทัสสนะเอง จะไปมนุษย์โลก แต่มาคิดว่า ถ้าเราจะไปโดยเพศชายหนุ่ม พวกมนุษย์ไม่ค่อยรักใคร่ ควรจะไปด้วยเพศดาบส เพราะพวกบรรพชิตเป็นที่รักใคร่ของพวกมนุษย์ พญาสุทัสสนะ จึงแปลงเพศเป็นดาบส กราบลาพระมารดาแล้วเร่งไป

ก็ภูริทัตโพธิสัตว์นั้น มีนางนาคน้องสาวต่างมารดาอยู่ตนหนึ่ง นามว่า “อัจจิมุขี” นางอัจจิมุขีนั้น รักพระโพธิสัตว์เหลือเกิน นางเห็นพญาสุทัสสนะจะไปจึงร้องขอว่า “ข้าแต่พี่ น้องลำบากใจเหลือเกิน น้องขอไปกับพี่ด้วย” สุทัสสนะกล่าวว่า “ดูก่อนน้องไม่สามารถไปกับพี่ได้ พี่จะไปด้วยเพศบรรพชิต” อัจจิมุขีกล่าวว่า “ข้าแต่พี่น้องจะกลายเป็นลูกเขียดน้อย นอนไปในชฎาของพี่” สุทัสสนะกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้นจงมาไปกันเถิด” นางอัจจิมุขีจึงแปลงเป็นลูกเขียดน้อย นอนไปในชฎาของพี่สุทัสสนะ พญาสุทัสสนะจึงคิดว่า เราจักตรวจสอบไปตั้งแต่ต้น ดังนี้แล้วจึงถามถึงที่ ที่พระภูริทัตไปรักษาอุโบสถกับภรรยาพระภูริทัตเสียก่อน แล้วจึงไปในที่แห่งการบำเพ็ญอุโบสถกรรมนั้น

เมื่อไปถึงแลเห็นพระโลหิต และชะรอยการถักกระโปรงที่ทำด้วยเถาวัลย์ ในที่นี้ จึงรู้ชัดว่า หมองูจับภูริทัตไป ก็เกิดความโศกเศร้าขึ้นทันที มีเนตรนองไปด้วยน้ำตา จึงตามรอยหมองู ไปจนถึงบ้านที่หมออาลัมพายน์ให้พระมหาสัตว์ทำการแสดงนาคครั้งแรก

จึงถามพวกมนุษย์ว่า “หมองู เอานาคราช เห็นปานนี้มาเล่นในบ้านนี้บ้าง หรือไม่” มนุษย์ตอบว่า “อาลัมพายน์เอานาคราช เห็นปานนี้มาเล่น แต่นั้นถึงวันนี้ ประมาณหนึ่งเดือนแล้ว” สุทัสสนะถามว่า “หมองูนั้นได้อะไรบ้างไหม” มนุษย์ตอบว่า “ที่บ้านนี้หมองูได้ทรัพย์ ประมาณพันหนึ่งขอรับ” สุทัสสนะถามว่า “บัดนี้หมองูไปไหน” มนุษย์ตอบว่า “หมองูไปบ้านชื่อโน้น” สุทัสสนะถามเรื่อยไปตั้งแต่บ้านนั้น จนถึงประตูพระราชฐานกรุงพาราณสี (จบวิลาปกัณฑ์) (วิลาป : คร่ำครวญรำพัน)

ขณะนั้นอาลัมพายน์ อาบน้ำสระศีรษะ ลูบไล้ของหอม นุ่งห่มผ้าเนื้อเกลี้ยงแล้ว ให้คนยกกระโปรงแก้วไปยังประตูพระราชฐาน มหาชนออกจากเหย้าเรือนมาประชุมกันแล้ว พระราชอาสน์ก็จัดไว้พร้อมเสร็จ พระราชานั้นเสด็จอยู่ข้างในนิเวศน์ ทรงส่งสาสน์ไปว่า “เราจะไปดู ขออาลัมพายน์จงให้นาคราชเล่นไปเถิด”

พราหมณ์อาลัมพายน์จึงวางกระโปรงแก้ว ลงบนเครื่องลาดอันวิจิตร เปิดกระโปรงออกแล้วให้สัญญาณว่า “ขอมหานาคออกมาเถิด”

ในเวลานั้นพระสุทัสสนะฤาษี ก็ไปยืนอยู่ท้ายบริษัททั้งปวง พระมหาสัตว์โผล่ศีรษะแลดูบริษัททั่วไป นาคทั้งหลายที่ถูกจับมาแสดง แลดูบริษัทด้วยอาการ 2 อย่างคือ เพื่อจะดูอันตรายจากสุบรรณอย่างหนึ่ง เพื่อจะพวกญาติอย่างหนึ่ง นาคเหล่านั้น ครั้นเห็นสุบรรณก็กลัวไม่ฟ้อนรำ ครั้นเห็นพวกญาติก็ละอายไม่ฟ้อนรำ ส่วนพระมหาสัตว์ เมื่อแลไปเห็นพี่ชาย ท่านก็เลื้อยออกจากกระโปรงตรงไปหาพี่ชายทั้งที่น้ำตานองหน้า มหาชนเห็นพระภูริทัตเลื้อย ก็พากันตกใจหลีกออกไป ยังยืนอยู่แต่พระสุทัสสนะฤาษีเพียงผู้เดียว

พระภูริทัตไปซบศีรษะร้องไห้ อยู่ที่หลังเท้าของสุทัสสนะฤาษี ฝ่ายสุทัสสนะก็ร้องไห้ พลันพระมหาสัตว์ก็กลับมาไปในกระโปรงดังเดิม อาลัมพายน์เข้าใจว่า ดาบสถูกนาคนี้กัดเอา คิดจะปลอบโยนท่าน จึงเข้าไปหาสุทัสสนะฤาษีแล้วกล่าวว่า

“นาคหลุดพ้นจากมือ ไปฟุบลงที่เท้าของท่านคุณพ่อ มันกัดเอากระมังหนอ คุณพ่ออย่ากลัวเลย จงถึงความสุขเถิด”และกล่าวต่อว่า “ดูก่อนพ่อดาบส เราชื่อว่า อาลัมพายน์ ท่านอย่ากลัวเลย ชื่อว่าการปฏิบัติรักษานั้น เป็นหน้าที่ของข้าพเจ้า” สุทัสสนะฤาษี จึงกล่าวกับอาลัมพายน์ว่า “นาคตัวนี้ ไม่สามารถจะยังความทุกข์อะไรให้เกิดแก่เราเลย หมองูมีอยู่เท่าใดก็ไม่ดียิ่งกว่าเรา”

เมื่ออาลัมพายน์ไม่รู้จักว่าผู้นี้คือใคร ก็โกรธแล้วกล่าวว่า “คนเซอะอะไรหนอ แปลงเพศเป็นพราหมณ์มาท้าเราในที่ประชุมชน ขอบริษัทจงฟังเรา โทษของเราไม่มี ท่านอย่ามาโกรธเราเลย” ลำดับนั้น สุทัสสนะฤาษี ได้กล่าวกะหมองูว่า “ดูก่อนหมองู ท่านจงต่อสู้กับเราด้วยนาค เราจะต่อสู้กับท่านด้วยเขียด ในการรบของเรานั้น เราทั้งสองจงมาพนันกันด้วยเดิมพัน 5,000 กหาปณะ” (กหาปณะคือมาตราเงินโบราณ 1 กหาปณะ เท่ากับ 20 มาสก หรือ 1 ตำลึง หรือ 4 บาท)

อาลัมพายน์กล่าวว่า “ดูก่อนมาณพ เราเท่านั้นเป็นคนมั่งคั่งด้วยทรัพย์ ท่านเป็นคนจน ใครจะเป็นคนรับประกันท่าน และอะไรเป็นเดิมพันของท่าน เดิมพันของเรามี และคนรับประกันเช่นนั้นก็มี ในการรบของเราทั้งสอง เราทั้งสองมาพนันกันด้วยเดิมพัน 5,000 กหาปณะ” อาลัมพายน์กล่าวว่า “อีกอย่างหนึ่ง ทรัพย์อะไรชื่อว่า พึงเป็นของท่านที่ตั้งไว้ในการพนันนี้มีอยู่หรือ ท่านจงแสดงแก่เรา”

สุทัสสนะฤาษี ครั้นได้ฟังคำของอาลัมพายน์นั้นแล้ว ไม่กล้ายืนยันว่าทรัพย์ จึงกล่าวว่า “เอาเถอะพนันกันด้วยทรัพย์ 5,000 กหาปณะ” กล่าวจบก็ขึ้นสู่

พระราชนิเวศน์ ไปเฝ้าพระเจ้าพาราณสีผู้เป็นลุง แล้วกล่าวความว่า “ดูก่อนมหาบพิตรผู้ทรงเกียรติ เชิญสดับคำของอาตมภาพ ขอความเจริญจงมีแก่มหาบพิตร ขอมหาบพิตรทรงรับประกันทรัพย์ 5,000 กหาปณะของอาตมภาพเถิด” พระราชาทรงพระดำริว่า ดาบสนี้ขอทรัพย์เรามากเหลือเกิน จึงตรัสว่า “ข้าแต่ดาบส หนี้เป็นหนี้ของบิดา หรือว่าเป็นหนี้ที่ท่านทำเอง เพราะเหตุไร ท่านจึงขอทรัพย์มากมายอย่างนี้ ต่อข้าพเจ้า”

เมื่อพระราชาตรัสอย่างนี้ สุทัสสนะฤาษีจึงได้กล่าวว่า “เพราะอาลัมพายน์ ปรารถนาจะต่อสู้กับอาตมภาพด้วยนาค อาตมภาพจักให้ลูกเขียดกัด พราหมณ์อาลัมพายน์ ดูก่อนมหาบพิตรผู้ผดุงรัฐ ขอเชิญพระองค์ ผู้มีหมู่ทหารดาบเป็นกองทัพ เสด็จทอดพระเนตรนาคนั้นในวันนี้”

พระราชาตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น เราจักไป” จึงเสด็จไปพร้อมกับดาบสนั้นแลอาลัมพายน์เห็นพระราชาเสด็จมากับดาบส ตกใจกลัวว่า ดาบสนี้ไปเชิญพระราชาออกมา ชะรอยว่า จักเป็นบรรพชิตในพระราชาสำนัก เมื่อจะคล้อยตาม จึงกล่าวว่า “ข้าแต่ดาบส เราไม่ได้ดูหมิ่นท่าน โดยทางศิลปศาสตร์เลย ท่านมัวเมาด้วยศิลปศาสตร์มากเกินไป ไม่ยำเกรงนาค” ลำดับนั้น สุทัสสนะฤาษีจึงกล่าวว่า

“ดูก่อนพราหมณ์ แม้อาตมาก็ไม่ดูหมิ่นท่านในทางศิลปศาสตร์ แต่ว่าท่านล่อลวงประชาชนนัก ด้วยนาคอันไม่มีพิษ ถ้าชนพึงรู้ว่านาคของท่านไม่มีพิษ เหมือนอย่างอาตมารู้แล้ว ท่านก็จะไม่ได้แกลบสักกำมือหนึ่งเลย จักได้ทรัพย์แต่ที่ไหนเล่าหมองู” (พระสุทัสสนะหมิ่นพราหมณ์อาลัมพายน์ว่านาคเหล่านั้นไม่มีพิษสักตน)

ลำดับนั้น อาลัมพายน์โกรธต่อสุทัสสนะ จึงกล่าวว่า “ท่านผู้นุ่งหนังเสือพร้อมทั้งเล็บ เกล้าชฎารุ่มร่าม เหมือนคนเซอะ เข้ามาในประชุมชน ดูหมิ่นนาคเช่นนี้ว่าไม่มีพิษ ท่านเข้ามาใกล้แล้ว ก็จะพึงรู้ว่านาคนั้นเต็มไปด้วยเดช เหมือนของนาคอันสูงสุด ข้าพเจ้าเข้าใจว่า นาคตัวนี้จักทำท่านให้แหลก เป็นเหมือนเถ้าไปโดยฉับพลัน”

ลำดับนั้น สุทัสสนะฤาษี เมื่อกระทำการเย้ยหยัน จึงกล่าวว่า “พิษของงูเรือน งูปลา งูเขียว พึงมี แต่พิษของนาคมีศีรษะแดง ไม่มีเลยทีเดียว” อาลัมพายน์จึงสวนกลับว่า “ข้าพเจ้าได้ฟังคำของพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้สำรวม ผู้มีตบะ มาว่า ทายกทั้งหลายให้ทานในโลกนี้ย่อมไปสู่สวรรค์ ท่านมีชีวิตอยู่ จงให้ทานเสียเถิด ถ้าท่านมีสิ่งของที่จะควรให้ นาคนี้มีฤทธิ์มาก มีเดชยากที่ใครๆ จะก้าวล่วงได้ เราจะให้นาคนั้นกัดท่าน มันก็จักทำท่านให้เป็นขี้เถ้าไปลำดับนั้น”

สุทัสสนะฤาษีกล่าวต่อว่า “ดูก่อนสหาย เราแม้ก็ได้ฟังคำของพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้สำรวมมีตบะมาว่า ทายกทั้งหลายให้ทาน ในโลกนี้แล้ว ย่อมไปสู่สวรรค์ ท่านนั่นแหละเมื่อมีชีวิตอยู่ จงให้ทานเสีย ถ้าท่านมีสิ่งของที่ควรจะให้จงให้ ลูกเขียดชื่อว่าอัจจิมุขีนี้ เต็มด้วยเดชเหมือนของนาคอันสูงสุด เราจักให้ลูกเขียดนั้นกัดท่าน ลูกเขียดนั้นจักทำท่านให้เป็นขี้เถ้าไป นางเป็นธิดาของท้าวธตรฐ เป็นน้องสาวต่างมารดาของเรา นางอัจจิมุขีผู้เต็มไปด้วยเดช เหมือนของนาคอันสูงสุดนั้นจงกัดท่าน”

ครั้นสุทัสสนะฤาษีกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงเหยียดมือร้องเรียกน้องหญิง ในท่ามกลางมหาชนนั่นแล ด้วยคำว่า “น้องหญิงอัจจิมุขี เจ้าจงออกจากภายในชฎาของพี่ มายืนอยู่ในฝ่ามือของพี่”

นางอัจจิมุขีผู้นั่งอยู่ในชฎา ได้ยินเสียงเรียกของสุทัสสนะพี่ชาย จึงออกจากชฎา กระโดดมาอยู่บนฝ่ามือของสุทัสสนะพี่ชาย แล้วทำการหยาดพิษ 3 หยาด ให้ตกลงบนมือสุทัสสนะฤาษี แล้วเข้าไปในชฎาของสุทัสสนะอีกตามเดิม

สุทัสสนะยืนถือพิษอยู่แล้ว ประกาศเสียงดังขึ้นว่า “ชาวชนบทจักพินาศหนอ” เสียงของสุทัสสนะได้ดังกลบนครพาราณสีถึง 12 โยชน์

ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสถามเขาว่า “ชนบทจักพินาศเพื่ออะไร” สุทัสสนะทูลว่า “ดูก่อนมหาบพิตร อาตมาไม่เห็นที่หยดของพิษนี้” พระราชาจึงบอกว่า “เจ้าจงหยดพิษที่แผ่นดินใหญ่เถิด” สุทัสสนะฤาษีจึงว่า “ดูก่อนมหาบพิตร ถ้าอาตมภาพจักหยดพิษลงบนแผ่นดินไซร้ มหาบพิตรจงทราบเถิดว่า ต้นหญ้า ลดาวัลย์และต้นยาทั้งหลาย พึงเหี่ยวแห้งไปโดยไม่ต้องสงสัย”

พระราชาตรัสว่า “ดูก่อนพ่อ ถ้าเช่นนั้นท่านจงขว้างขึ้นไปบนอากาศ” สุทัสสนะฤาษีเมื่อจะแสดงว่า ถึงในอากาศนั้น ก็ไม่อาจขว้างหยดพิษขึ้นไปได้ จึงกล่าวว่า “ดูก่อนมหาบพิตร ถ้าอาตมภาพจักขว้างพิษขึ้นบนอากาศ มหาบพิตรจงทราบเถิดว่า ฝนและน้ำค้างจะไม่ตกลงตลอด 7 ปี” พระราชาตรัสว่า “ดูก่อนพ่อ ถ้าเช่นนั้นพ่อจงหยดพิษลงในน้ำ” สุทัสสนะฤาษีก็กล่าวอีกว่า “ดูก่อนมหาบพิตร ถ้าอาตมภาพจักหยดพิษลงในน้ำ มหาบพิตรจงทราบเถิดว่า สัตว์น้ำมีประมาณเท่าใด ทั้งปลาและเต่าจะพึงตายหมด”

ลำดับนั้น พระราชาตรัสกะท่านว่า “ดูก่อนพ่อ ข้าพเจ้าไม่รู้อะไร ท่านจงช่วยหาอุบายที่จะไม่ให้แคว้นของเราฉิบหายด้วยเถิด” สุทัสสนะทูลว่า “ดูก่อนมหาบพิตร ถ้าเช่นนั้น มหาบพิตรจงรับสั่งให้คนขุดบ่อ 3 บ่อ ต่อๆ กันไปในที่แห่งนี้” พระราชารับสั่งให้ขุดบ่อแล้ว สุทัสสนะ จึงบรรจุบ่อแรกให้เต็มด้วยยาต่างๆ บ่อที่ 2 ให้บรรจุโคมัย (ขี้วัว) และบ่อที่ 3 ให้บรรจุยาทิพย์ แล้วจึงใส่หยดพิษลงในบ่อที่ 1 ขณะนั้นนั่นเองก็เกิดควันไฟลุกขึ้น เป็นเปลวแล้วเลยลามไปจับบ่อโคมัย แล้วลุกลามต่อไปถึงบ่อยาทิพย์ ไหม้ยาทิพย์หมดแล้วจึงดับ อาลัมพายน์ยืนอยู่ใกล้บ่อนั้นพอดี ไอควันพิษฉาบเอาผิวร่างกายเพิกขึ้นไป ได้กลายเป็นขี้เรื้อนด่าง อาลัมพายน์ตกใจกลัว จึงเปล่งเสียงขึ้น 3 ครั้งว่า “ข้าพเจ้าปล่อยนาคราชละ ข้าพเจ้าปล่อยนาคราชละ ข้าพเจ้าปล่อยนาคราชละ” พระโพธิสัตว์ได้ยินดังนั้น จึงออกจากกระโปรงแก้ว นิรมิตอัตภาพอันประดับ ด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง ยืนอยู่ด้วยท่าทางเหมือนเทวราช ทั้งสุทัสสนะทั้งอัจจิมุขี ก็มายืนอยู่เหมือนพระโพธิสัตว์นั่นแล ลำดับนั้น สุทัสสนะจึงทูลถามพระเจ้าพาราณสีว่า “ข้าแต่มหาราช พระองค์ทรงรู้จักหรือ ข้าพระองค์ทั้งสามนี้เป็นลูกใคร”

ราชาตอบว่า “ดูก่อนพ่อ เราไม่รู้จัก” สุทัสสนะ “พระองค์ไม่รู้จักข้าพระองค์ทั้งสามยกไว้ก่อน แต่พระองค์ทรงทราบ เรื่องที่ยกนางสมุททชาราชธิดาพระเจ้ากาสี ซึ่งพระราชทานแก่ท้าวธตรฐหรือไม่เล่า” ราชาตอบว่า “เออ เรารู้ นางสมุททชาเป็นน้องสาวเรา” สุทัสสนะจึงกล่าวว่า “ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์ทั้งสามนี้เป็นลูกของนางสมุททชา พระองค์เป็นพระเจ้าลุงของข้าพระองค์ทั้งสาม”

พระราชาได้ฟังดังนั้น ก็ทรงสวมกอดจุมพิตหลานทั้ง 3 องค์ พลางทรงกรรแสงแล้วพาขึ้นปราสาท ทรงทำสักการะเป็นอันมากแล้ว ทรงกระทำปฏิสันถารก่อนถามว่า “ดูก่อนภูริทัต พ่อมีฤทธิ์เดชสูงถึงอย่างนี้ ทำไมอาลัมพายน์จึงจับได้” พระภูริทัตจึงทูลเรื่องดังกล่าวถึงคราวที่ตนถืออุโบสถศีล จึงไม่แสดงฤทธิ์ เมื่อจะถวายโอวาทพระราชา จึงแสดงราชธรรมแก่พระเจ้าลุงโดยนัยมีอาทิว่า “ขอพระราชทาน ธรรมเนียมพระราชาควรจะดำรงราชสมบัติ โดยทำนองอย่างนี้”

ต่อมา พญาสุทัสสนะจึงทูลพระราชาว่า “ข้าแต่พระเจ้าลุง มารดาของข้าพระองค์ยังไม่พบเจ้าภูริทัต ก็ยังกลัดกลุ้มอยู่ ข้าพระองค์ไม่อาจจะอยู่ช้าได้”
พระราชา “ดีละพ่อ จงพากันไปก่อนเถิด แต่ว่าลุงอยากจะพบน้องของเราบ้าง ทำอย่างไรจึงจะได้พบกัน” สุทัสสนะกล่าวว่า “ข้าแต่พระเจ้าลุง พระเจ้ากาสิกราชผู้เป็นพระอัยกาของข้าพระองค์ เดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหนเล่า” พระราชา “ดูก่อนพ่อ พระเจ้ากาสิกราชนั้นต้องพรากจากน้องสาวของลุง แล้วไม่สามารถจะอยู่เสวยราชสมบัติได้ ได้ละราชสมบัติทรงผนวชเสียแล้ว เสด็จไปอยู่ในไพรสณฑ์แห่งโน้น”

สุทัสสนะ “ข้าแต่พระเจ้าลุง มารดาของข้าพระองค์ประสงค์จะพบพระเจ้าลุง และพระอัยกาด้วย ถึงวันโน้น พระองค์จงเสด็จไปยังสำนักพระอัยกา ข้าพระองค์จักพามารดาไปยังอาศรมพระอัยกา พระเจ้าลุงจักได้พบมารดาของข้าพระองค์ ในที่นั้นทีเดียว” กล่าวจบทั้ง 3 พระองค์ จึงกำหนดนัดหมายวันแก่พระเจ้าลุง แล้วออกจากพระราชนิเวศน์ พระราชาเสด็จส่งราชภาคิไนย (หลานที่เกิดจากน้องสาว) ไปแล้ว ก็ทรงพระกรรแสงแล้วเสด็จกลับ หลานทั้งสามตน ก็แทรกแผ่นดินลงไปนาคพิภพ (จบนาคคเวสนกัณฑ์)

เมื่อพระมหาสัตว์ถึงนาคพิภพ เสียงร่ำไรรำพันก็เกิดขึ้นพร้อมกัน ฝ่ายพระภูริทัตเหน็ดเหนื่อย เพราะเข้าอยู่ในกระโปรงถึงหนึ่งเดือน จึงนอนเป็นไข้ มีพวกนาคมาเยี่ยมนับไม่ถ้วน พระภูริทัตนั้นยิ่งเหน็ดเหนื่อยเพราะปราศรัยกับนาคเหล่านั้น

กาณาริฏฐะ ซึ่งยังไปเทวโลก ครั้นไม่พบพระมหาสัตว์ก็กลับมาก่อน ลำดับนั้น ญาติมิตรของพระมหาสัตว์เห็นว่า กาณาริฏฐะนั่นเป็นผู้ดุร้าย หยาบคายสามารถจะห้ามนาคบริษัทได้ จึงให้กาณาริฏฐะเป็นผู้เฝ้าประตูห้องบรรทมของพระมหาสัตว์ เพื่อหวังความสงบให้พระมหาสัตว์ได้พักผ่อนพระวรกาย

ในเวลาก่อนหน้านี้ ฝ่ายพญาสุโภคะนาคราชก็เที่ยวไปทั่วหิมพานต์ จากนั้นจึงตรวจตราต่อไป ตามหามหาสมุทรและแม่น้ำนอกนั้น แล้วตรวจตรามาถึงแม่น้ำยมุนา ก็ได้พบพราหมณ์เนสาท ที่กำลังทำพิธีลอยบาปที่ท่าน้ำปยาคะ ลำดับความว่า

ฝ่ายพราหมณ์เนสาทเห็นอาลัมพายน์เป็นโรคเรื้อน จึงคิดว่า เจ้านี่ทำพระภูริทัตให้ลำบาก จึงเกิดเป็นโรคเรื้อน ส่วนเราก็เป็นคนชี้พระภูริทัต ผู้มีคุณแก่เรามากให้อาลัมพายน์ด้วยอยากได้แก้ว กรรมชั่วอันนั้นคงจักมาถึงเรา เราจักไปยังแม่น้ำยมุนาตลอดเวลาที่กรรมนั้นจะยังมาไม่ถึง แล้วจักกระทำพิธีลอยบาปที่ท่า ปยาคะ เมื่อไปถึงท่าน้ำปยาคะก็ได้กล่าวว่า “เราได้ทำกรรมประทุษร้ายมิตรในพระภูริทัต เราจักลอยบาปนั้นไปเสีย ดังนี้แล้วจึงทำพิธีลงน้ำ”

ขณะนั้น สุโภคะไปถึงที่นั้นพอดีได้ยินคำของพราหมณ์เนสารท จึงคิดได้ว่า “พราหมณ์คนนี้บาปหนานัก พี่ชายของเราให้ยศศักดิ์มันมากมายแล้ว กลับไปชี้ให้หมองู เพราะอยากได้แก้ว เราจักเอาชีวิตมันเสียเถิด” ดังนี้แล้วจึงเอาหางพันเท้าพราหมณ์เนสาททั้งสองข้าง ลากให้จมลงในน้ำ พอจวนจะขาดลมหายใจ จึงหย่อนให้หน่อยหนึ่ง พอพราหมณ์โผล่หัวขึ้นได้ ก็กลับลากให้จมลงไปอีก ทรมานให้ลำบากอย่างนี้อยู่หลายครั้ง พราหมณ์เนสาทโผล่หัวขึ้นได้ จึงกล่าวว่า

“น้ำที่โลกสมมติว่าสามารถลอยบาปได้ มีอยู่ที่ท่าปยาคะ ภูตผีอะไรฉุดเราลงสู่แม่น้ำยมุนาอันลึก” เมื่อนั้น สุโภคะได้กล่าวกับพราหมณ์เนสาทว่า “นาคราชนี้ใดเป็นใหญ่ในโลก เรืองยศ พันกรุงพาราณสีไว้โดยรอบ เราเป็นลูกของนาคราช ผู้ประเสริฐนั้น ดูก่อนพราหมณ์ นาคทั้งหลายเรียกเราว่า สุโภคะ”

ลำดับนั้น พราหมณ์เนสาทจึงคิดได้ว่า นาคนี้เป็นพี่น้องของพระภูริทัต คงจะไม่ไว้ชีวิตเราแน่ อย่ากระนั้นเลย เราจะยกยอเกียรติคุณของนาคนี้ ทั้งมารดาและบิดาของเขา ให้ใจอ่อนแล้วขอชีวิตเราไว้ ดังนี้แล้ว จึงกล่าวว่า “ถ้าท่านเป็นโอรสของนาคราชผู้ประเสริฐ ผู้เป็นพระราชาของชนชาวกาสี เป็นอธิบดีอมร พระชนกของท่านเป็นใหญ่คนโตผู้หนึ่ง และพระชนนีของท่านก็ไม่มีใครเทียบเท่าในหมู่มนุษย์ ผู้มีอานุภาพมากเช่นท่าน ย่อมไม่สมควรจะฉุด แม้คนที่เป็นเพียงทาสของพราหมณ์ให้จมน้ำเลย” (ในคำกล่าวนั้น คำว่า “กาสี” เป็นคำนามแทนแคว้นหรือเมือง มักใช้ว่า พระราชาผู้เป็นอิสระในแคว้นกาสี, พราหมณ์พรรณนาแคว้นกาสี, ให้เป็นของพระเจ้ากาสี, เพราะพระราชธิดาผู้เป็นใหญ่ในแคว้นกาสี เป็นต้น

สุโภคะจึงกล่าวกะพราหมณ์นั้นว่า “เจ้าพราหมณ์ชั่วร้าย เจ้าสำคัญว่า จะหลอกให้เราปล่อยหรือ เราไม่ไว้ชีวิตเจ้า” เมื่อพระองค์จะประกาศกรรมที่พราหมณ์นั้นกระทำจึงกล่าวว่า “เจ้าแอบต้นไม้ยิงเนื้อซึ่งมาเพื่อจะดื่มน้ำ เนื้อถูกยิงแล้วรู้สึกได้ด้วยกำลังลูกศร จึงวิ่งหนีไปไกล เจ้าไปพบมันล้มอยู่ในป่าใหญ่ จึงแล่เนื้อหามมาถึงต้นไทร ในเวลาเย็น อันกึกก้องไปด้วยเสียงร้องของนกดุเหว่า และนกสาลิกามีใบเหลือง เกลื่อนกล่นไปด้วยย่านไทร มีฝูงนกดุเหว่าร้องอยู่ระงม น่ารื่นรมย์ใจ ภูมิภาคเขียวไป ด้วยหญ้าแพรกอยู่เป็นนิตย์ พี่ชายของเราเป็นผู้รุ่งเรืองไปด้วยฤทธิ์และยศ มีอานุภาพมาก อันนางนาคกัญญาทั้งหลายแวดล้อม ปรากฏแก่เจ้าผู้อยู่ที่ต้นไทรนั้น ท่านพาเจ้าไปเลี้ยงดู บำรุงบำเรอ ด้วยสิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่าง เป็นคนประทุษร้ายต่อท่านผู้ไม่ประทุษร้าย เวรนั้นมาถึงเจ้าในที่นี้แล้ว เจ้าจงเหยียดคอออกเร็วๆ เถิด เราจักไม่ไว้ชีวิตเจ้า เราระลึกถึงเวรที่เจ้าทำต่อพี่ชายเรา จึงจักตัดศีรษะเจ้าเสีย”

เมื่อนั้น พราหมณ์เนสาทจึงคิดได้ว่า นาคนี้เห็นจะไม่ไว้ชีวิตเราแน่ แต่ถึงกระนั้น เราก็ควรจะพยายามกล่าวอะไรสักอย่าง เพื่อให้พ้นความตายให้จงได้ จึงเอ่ยว่า “พราหมณ์ผู้ทรงเวท 1 ผู้ประกอบในการขอ 1 ผู้บูชาไฟ 1 ทั้ง 3 ประการนี้ เป็นพราหมณ์ที่ใครๆ ไม่ควรจะฆ่า เพราะผู้ใดฆ่าพราหมณ์ ผู้นั้นย่อมเกิดในนรก” สุโภคะได้ฟังดังนั้นแล้ว ก็เกิดความลังเลใจ จึงคิดว่า “เราจะพาพราหมณ์นี้ไปยังนาคพิภพ สอบถามพี่น้องดูก็จักรู้ได้”

จึงกล่าวว่า “เมืองของท้าวธตรฐ อยู่ภายใต้แม่น้ำยมุนา จดหิมวันตบรรพต ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลแม่น้ำยมุนา ล้วนแล้วไป ด้วยทองคำงามรุ่งเรือง พี่น้องร่วมท้องของเรา ล้วนเป็นคนมีชื่อลือชา อยู่ในเมืองนั้น ดูก่อนพราหมณ์ พี่น้องของเราเหล่านั้นจักว่าอย่างไร เราจักต้องเป็นอย่างนั้น” ครั้นพญาสุโภคะกล่าวดังนั้นแล้ว จึงจับคอพราหมณ์เสือกไสไปพลาง บริภาษ (ด่าทอ) ไปพลาง จนถึงประตูปราสาทของพระโพธิสัตว์ (จบสุโภคกัณฑ์)

ลำดับนั้น กาณาริฏฐะนั่งเฝ้าประตูอยู่ เห็นสุโภคะพาพราหมณ์เนสาททรมานมาดังนั้น จึงเดินสวนทางไปบอกว่า “แน่ะ พี่สุโภคะ พี่อย่าเบียดเบียนพราหมณ์นั้น เพราะพวกที่ชื่อว่า พราหมณ์ในโลกนี้ เป็นบุตรท้าวมหาพรหม ถ้าท้าวมหาพรหมรู้เข้าก็จักโกรธว่า นาคเหล่านี้เบียดเบียน แม้ลูกทั้งหลายของเราแล้ว จักทำนาคพิภพทั้งสิ้นให้พินาศ เพราะพวกที่ชื่อว่า เป็นพราหมณ์ เป็นผู้ประเสริฐและมีอานุภาพมากในโลก พี่ไม่รู้จักอานุภาพของพวกพราหมณ์เหล่านั้น ส่วนข้าพเจ้ารู้”

ความว่า อริฏฐะ หรือ กาณาริฏฐะนาคนั้น ในภพชาติลำดับที่ล่วงมา ได้เกิดเป็นพราหมณ์ และเคยทำพิธีบูชายัญ เพราะฉะนั้น จึงได้กล่าวอย่างนี้ เมื่อได้กล่าวดังนั้นแล้ว ด้วยอำนาจที่ตนเคยเสวยมาในกาลก่อน จึงมีปกติฝังอยู่ในการบูชายัญ จึงเรียกสุโภคะและนาคบริษัทมาบอกว่า

“ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงมาเถิด เราจักพรรณนาคุณของพราหมณ์ผู้ทำการบูชายัญ ดังนี้แล้ว” เมื่อเริ่มกล่าวพรรณนายัญจึงกล่าวว่า “ข้าแต่พี่สุโภคะ ยัญและเวททั้งหลายในโลกที่พวกพราหมณ์นอกนี้ประกอบขึ้น ไม่ใช่เป็นของเล็กน้อย เพราะฉะนั้น ผู้ติเตียนพราหมณ์ซึ่งใครๆ ไม่ควรติเตียน ชื่อว่าย่อมละทิ้งทรัพย์เครื่องปลื้มใจ และธรรมของสัตบุรุษเสีย”

กาณาริฏฐะได้กล่าวกะพญาสุโภคะนั้นว่า “ดูก่อนพี่สุโภคะ พี่สุโภคะรู้หรือไม่ว่า โลกนี้ใครสร้าง” เมื่อสุโภคะตอบว่า “ไม่รู้” เพื่อจะแสดงว่า โลกนี้ท้าวมหาพรหม ปู่ของพวกพราหมณ์สร้าง จึงกล่าวความว่า “พวกพราหมณ์ ถือการทรงไตรเพท พวกกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน พวกแพศย์ยึดการไถนา และพวกศูทรยึดการบำเรอ วรรณะทั้ง 4 นี้ เข้าถึงการงานตามที่อ้างมาเฉพาะอย่างๆ นั้น กล่าวกันว่า มหาพรหม ผู้มีอำนาจจัดทำไว้” (เป็นความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ที่บัญญัติเรื่องชนชั้นวรรณะ โดยกาณาริฏฐะอ้างอิงจากคำกล่าวของท้าวมหาพรหม)

เล่ากันมาว่า พรหมนิรมิตวรรณะ 4 มี พราหมณ์เป็นต้นแล้ว กล่าวกะพราหมณ์ทั้งหลายผู้ประเสริฐ เป็นอันดับแรกว่า พวกท่านจงยึดการศึกษาไตรเพทเท่านั้น อย่ากระทำสิ่งอะไรอื่น กล่าวกะพระราชาว่า พวกท่านจงปกครองแผ่นดินอย่างเดียว อย่ากระทำสิ่งอะไรอื่น กล่าวพวกแพศย์ว่า พวกท่านจง ยึดการไถนาอย่างเดียว กล่าวกะพวกศูทรว่า พวกท่านจงยึดการบำเรอวรรณะ ๓ อย่างเดียว ตั้งแต่นั้นมา ท่านกล่าวว่า พราหมณ์ผู้ประเสริฐยึดการศึกษาไตรเพท พระราชายึดการปกครอง แพศย์ยึดการไถนา ศูทรยึดการบำเรอ

กาณาริฎฐะกล่าวว่า “ขึ้นชื่อว่า มหาพรหมผู้มีอานุภาพมากอย่างนี้ ก็ผู้ใดทำจิตให้เลื่อมใส ในมหาพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมให้ทาน ผู้นั้นไม่มีการถือปฏิสนธิในที่อื่น ย่อมไปสู่เทวโลกอย่างเดียว พระพรหมผู้สร้างโลก ท้าววรุณ ท้าวกุเวร ท้าวโสมะ พระยายม พระจันทร์ พระวายุ พระอาทิตย์ แม้ท่านเหล่านี้ ก็ล้วนบูชายัญมามากแล้ว และบูชาสิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่าง แก่พราหมณ์ผู้ทรงเวท ท้าวอรชุนและท้าวภีมเสน มีกำลังมาก มีแขนนับพัน ไม่มีใครเสมอในแผ่นดิน ยกธนูได้ 500 คัน ก็ได้บูชาไฟมาแต่ก่อน” กาณาริฏฐะนั้น

เมื่อจะสรรเสริญเฉพาะพวกพราหมณ์ แม้ให้ยิ่งขึ้นไป จึงกล่าวคาถาว่า “ดูก่อนพี่สุโภคะ ผู้ใดเลี้ยงพราหมณ์ มานานด้วย ข้าวและน้ำตามกำลัง ผู้นั้นมีจิตเลื่อมใสอนุโมทนาอยู่ ได้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง”

“พราหมณ์ผู้ใด สามารถบูชาเทวดา คือไฟ ผู้กินมาก มีสีไม่ทราม ไม่อิ่มหนำด้วยเนยใส พราหมณ์ผู้นั้นบูชายัญวิธีแก่เทวดา คือไฟผู้ประเสริฐแล้ว ได้ไปบังเกิดในทิพยคติ และได้เข้าเฝ้าพระเจ้ายุตินทะ”

เล่ากันมาว่า “พระราชาพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่ามุชตินทะ ในกรุงพาราณสี ในกาลก่อน ตรัสสั่งให้เรียก พราหมณ์ทั้งหลายมาแล้ว ถามถึงทางไปสวรรค์ ลำดับนั้น พราหมณ์เหล่านั้น ทูลพระราชานั้นว่า ขอพระองค์จงทรงกระทำสักการะ แก่พวกพราหมณ์ และแก่เทวดาผู้เป็นพราหมณ์ เมื่อพระราชาตรัสถามว่า เทวดาผู้เป็นพราหมณ์เหล่าไหน จึงทูลว่า เทวดาคือไฟ ดังนี้ แล้วจึงทูลพระราชาว่า ขอพระองค์จงให้ไฟนั้นอิ่มหนำ ด้วยเนยใสและเนยข้น พระราชานั้นได้ทรงกระทำอย่างนั้น” อริฏฐะนั้น เมื่อจะประกาศความนั้น จึงกล่าวว่า “พระเจ้าทุทีปะ มีอานุภาพมาก มีอายุ 1,000 ปี มีพระรูปงาม น่าดูยิ่งนัก ทรงละแว่นแคว้น. อันไม่มีที่สุดพร้อมทั้งเสนา เสด็จออกผนวชแล้ว ได้เสด็จสู่สวรรค์”

กาณาริฏฐะ เมื่อจะแสดงอุทาหรณ์อื่นอีกแก่สุโภคะนั้น จึงกล่าวว่า “ข้าแต่พี่สุโภคะ พระเจ้าสาครราชทรงปราบ แผ่นดินอันมีสาครเป็นที่สุด รับสั่งให้ตั้งเสาผูกสัตว์ บูชายัญอันงามยิ่งนัก ล้วนแล้วด้วยทองคำ ทรงบูชาไฟแล้วได้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง แม่น้ำคงคาและสมุทร เป็นที่สั่งสมนมส้ม ย่อมเป็นไปด้วยอานุภาพของผู้ใด ผู้นั้นคือ พระเจ้าอังคโลมบาท ทรงบำเรอไฟ แล้วเสด็จไปเกิด ในพระนครของท้าวสหัสนัยน์”

“ดูก่อนพี่สุโภคะ แม่น้ำคงคาและมหาสมุทรใครสร้างพี่รู้ไหม” สุโภคะกล่าวว่า “เราไม่รู้” อริฏฐะกล่าวว่า “พี่ไม่รู้อะไร พี่รู้แต่จะโบยตีพราหมณ์เท่านั้น ก็ในอดีตกาลพระเจ้ากรุงพาราณสีทรงพระนามว่า อังคโลมบาท ตรัสถามทางสวรรค์กะพวกพราหมณ์ เมื่อพวกพราหมณ์ทูลว่า พระองค์จงเสด็จเข้าไปหิมวันต์ กระทำสักการะแก่พราหมณ์ทั้งหลายแล้ว บำเรอไฟ พระองค์จึงพาแม่โคนมและพระมเหสี หาประมาณมิได้เข้าไปยังหิมวันต์ ได้กระทำอย่างนั้น เมื่อพระราชาตรัสถามว่า นมสดและนมส้มที่เหลือจากพวกพราหมณ์บริโภคแล้ว จะพึงทำอย่างไร จึงกล่าวว่า จงทิ้งเสีย ในที่ๆ น้ำนมแต่ละน้อยถูกทิ้งลงไปนั้นๆ ได้กลายเป็นแม่น้ำน้อย ส่วนน้ำนมนั้นกลายเป็นนมส้ม ไหลไปขังอยู่ในที่ใด ที่นั้นได้กลายเป็นสมุทรไป พระเจ้าพาราณสีทรงกระทำ สักการะเห็นปานนี้ เสด็จไปสู่บุรีของท้าวสหัสสนัยน์ ผู้บำเรอไฟตามวิธีที่พราหมณ์กล่าว ด้วยประการฉะนี้” กาณาริฏฐะ ครั้นนำอดีตนิทานนี้มาชี้แจงแก่สุโภคะดังนี้แล้ว จึงกล่าวคาถาว่า “เทวดาผู้ประเสริฐ มีฤทธิ์มาก มียศ เป็นเสนาบดีของท้าววาสวะในไตรทิพย์ กำจัดมลทินด้วยโสมยาควิธี (บูชาด้วยการดื่มน้ำโสม) ได้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง”

“ดูก่อนพี่สุโภคะผู้เจริญ บัดนี้ ผู้ที่เป็นเสนาบดีของท้าวสักกเทวราช มียศมาก เป็นเทพบุตร. แม้ผู้นั้น เมื่อก่อน เป็นพระเจ้าพาราณสี ถามถึงทางเป็นที่ไปสวรรค์กะพวกพราหมณ์. เมื่อพวกพราหมณ์กล่าวว่า ขอพระองค์จงลอยมลทินของตน ด้วยโสมยาควิธีแล้วจะไปสู่เทวโลก. จึงทรงกระทำสักการะใหญ่แก่พราหมณ์ทั้งหลายแล้ว กระทำการบูชาโสมยาคะ ตามวิธีที่พวกพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวแล้ว จึงทรงกำจัดมลทินด้วยวิธีนั้นแล้ว เกิดเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง”

“เทวดาผู้ประเสริฐ มีฤทธิ์เรืองยศสร้างโลกนี้โลกหน้า แม่น้ำภาคีรถี (หรือภาติรถี) ภูเขามาลาคิริ ขุนเขาหิมวันต์ เขาวิชฌะ ภูเขาสุทัสนะ ภูเขานิสภะ ภูเขากากเวรุ ภูเขาเหล่านี้ และภูเขาใหญ่อื่นๆ กล่าวกันว่า พวกพราหมณ์ ผู้บูชายัญได้ก่อสร้างไว้”

“ดูก่อนพี่สุโภคะ มหาพรหมใด ได้สร้างโลกนี้และโลกหน้า แม่น้ำภาคีรถี แม่น้ำคงคา ขุนเขาหิมวันต์ เขาวิชฌะและเขากากเวรุ ในกาลใด มหาพรหมแม้นั้นได้เป็นมาณพก่อนกว่าพรหมอุบัต. ในกาลนั้นเขาเริ่มต้นบูชาไฟ เป็นมหาพรหมได้สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง พราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ก็เป็นอย่างนั้น”

“เล่ากันมาว่า เมื่อก่อน พระเจ้ากรุงพาราณสีพระองค์หนึ่ง ตรัสถามถึงทางไปสวรรค์กะพวกพราหมณ์ เมื่อพวกพราหมณ์ทูลว่า ขอพระองค์จงทำสักการะแก่พวกพราหมณ์ พระองค์ก็ได้ถวายมหาทาน แก่พราหมณ์เหล่านั้น แล้วตรัสถามว่า ในการให้ทานของข้าพเจ้านี้ ไม่มีผลหรือ เมื่อพวกพราหมณ์ทูลว่า มีทั้งหมด พระเจ้าข้า แต่อาสนะไม่เพียงพอแก่พวกพราหมณ์ จึงรับสั่งให้ก่ออิฐสร้างอาสนะทั้งหลาย ที่นอนและตั่งที่พระองค์ให้ก่อสร้างขึ้นนั้น เจริญด้วยอานุภาพของพวกพราหมณ์ กลายเป็นภูเขามาลาคิริเป็นต้น ภูเขาเหล่านั้นกล่าวกันว่า พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญ ได้สร้างไว้ด้วยประการฉะนี้แล”

ลำดับนั้น กาณาริฏฐะกล่าวอีกว่า “พี่สุโภคะ ก็พี่รู้หรือไม่ว่า เพราะเหตุไร สมุทรนี้จึงเกิดเป็นน้ำเค็ม ดื่มไม่ได้” สุโภคะกล่าวว่า “ดูก่อนอริฏฐะ พี่ไม่รู้” กาณาริฏฐะจึงกล่าวกับสุโภคะนั้นว่า “พี่ก็รู้แต่จะเบียดเบียนพวกพราหมณ์เท่านั้น ไม่รู้อะไรอื่นเลย คอยฟังเถิด” “ชนทั้งหลายเรียกพราหมณ์ผู้ทรงเวท ผู้เข้าถึงคุณแห่งมนต์ ผู้มีตบะ ในโลกนี้ว่ายาจโยคี ผู้ประกอบในการขออ้อนวอน มหาสมุทรซัดท่วมพราหมณ์ ผู้กำลังตระเตรียมน้ำอยู่ ที่ฝั่งมหาสมุทร เพราะเหตุนั้น น้ำในมหาสมุทร จึงดื่มไม่ได้”

“เล่ากันว่า วันหนึ่งพราหมณ์นั้น กระทำกรรม คือการลอยบาป ยืนอยู่ที่ริมฝั่ง ตักน้ำจากสมุทร กระทำการดำเกล้าสระหัวของตน ขณะนั้นสาครกำเริบท่วมทับพราหมณ์นั้น ผู้กระทำอย่างนั้น มหาพรหมได้ทรงสดับเหตุนั้นจึงโกรธว่า ได้ทราบว่า สาครนี้ฆ่าบุตรเรา จึงสาปว่าสมุทรจงดื่มไม่ได้ จงเป็นน้ำเค็ม ด้วยเหตุนั้นนั่นเอง สมุทรจึงดื่มไม่ได้ กลายเป็นน้ำเค็ม ชื่อว่าพราหมณ์เหล่านี้ มีคุณมากถึงปานนี้แล”

“วัตถุที่ควรบูชา คือพวกพราหมณ์เป็นอันมากมีอยู่บนแผ่นดิน ของ*ท้าววาสวะ พราหมณ์ทั้งหลายมีอยู่ในทิศบูรพา ทิศปัจฉิม ทิศทักษิณและทิศอุดร ย่อมยังปีติและโสมนัสให้เกิด” กาณาริฏฐะพรรณนาถึงพราหมณ์ ยัญ และ เวทด้วยประการฉะนี้ (จบการพรรณนายัญญวาท) (ยัญญ คือการบูชา วาท คือคำหรือลัทธิ)

(เหตุแห่งชื่อท้าวสักกะเทวราช *สักกะ คือ ผู้ให้ทานโดยความเคารพ, วาสวะ คือ ผู้ให้ที่อยู่อาศัยแก่ผู้อื่น, ปุรินททะ คือ ผู้ให้ทานมาก่อน, มัฆวาน หรือ ท้าวมัฆวะ แสดงชื่อตามสมัยที่เกิดเป็นมนุษย์ (มฆะ), สหัสนัยน์ คือ ผู้คิดข้อความได้โดยเร็ว, เทวานมินท์ คือ เทวดาที่เป็นใหญ่กว่าเทวดาทั้งหลาย)

---------------------


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ 
พญานาค จากตำนานสู่ความเชื่อ
ดูรีวิวและช่องทางการสั่งซื้อ << คลิก >> 👇



ผู้เขียนอนุญาตให้ Copy หรือ แชร์บทความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ในช่องทางของตัวเองได้ แต่ขอความกรุณาให้เครดิต หรือแนบลิงก์สั่งซื้อหนังสือให้ด้วยจักขอบพระคุณยิ่งครับ

(ไม่อนุญาตให้จัดพิมพ์หรือจำหน่ายในเชิงพาณิชย์นะครับ)


#พญานาค #ความเชื่อเรื่องพญานาค #ตำนานพญานาค #พญานาคลุ่มน้ำโขง #พญานาคประเทศลาว #พญานาคเขมร #ศรีสุทโธนาคราช #อนันตนาคราช #ภุชงค์นาคราช #สุวรรณนาคราช #เมืองสุวรรณโคมคำ #เมืองศรีสัตตนาคนหุต

ความคิดเห็น

คนชอบอ่าน

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ วานส์” (QUEEN OF WANDS)

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ เพนตาเคิลส์” (QUEEN OF PENTACLES)

ความหมายของไพ่บุคคล คิง ออฟ คัพส์ (KING OF CUPS)

ความหมายของไพ่ "เดอะ เวิลด์" (THE WORLD) สอนอ่านไพ่ยิปซี