ตำนานพินทโยนกวตินาค รบกับ ธนะมูลนาค "พญานาค" จากตำนานสู่ความเชื่อ

ตำนานพินทโยนกวตินาค รบกับ ธนะมูลนาค

พินทโยนกวตินาค

ตำนานนี้จะคล้ายคลึงกับศรีสุทโธนาค และสุวรรณนาค เชื่อว่าการเล่าขานสืบทอดน่าจะมาจากต้นกำเนิดเดียวกัน

มีนาค 2 ตัวเป็นมิตรสหายกันอยู่ในหนองแส (ในความนี้หมายถึงทะเลสาบเตียนฉือ คุนหมิง) ตัวหนึ่งชื่อพินทโยนกวตินาค เป็นใหญ่อยู่หัวหนอง อีกตัวหนึ่งชื่อธนะมูลนาค เป็นใหญ่อยู่ท้ายหนองกับด้วยชีวายนาคผู้หลาน

นาคทั้งสองคือพินทโยนกวตินาคกับธนะมูลนาคให้ความสัตย์ ไว้ซึ่งกันและกันว่า ถ้าหากมีสัตว์ตัวใดตัวหนึ่งมาตกที่หัวหนองก็ดี ตกที่ท้ายหนองก็ดี เราทั้งสองรักกันด้วยอาหารการเลี้ยงชีวิต เราทั้งสองจงเอาเนื้อสัตว์นั้นๆ มาแบ่งปันแก่กันเพื่อเลี้ยงชีวิต แล้วตั้งชีวายนาค ผู้เป็นหลานให้เป็นสักขี เมื่อนาคทั้งสองให้สัตย์ปฏิญาณแก่กันดังนั้น แล้วต่างก็กลับไปสู่ที่อยู่ของตน

ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง ยังมีช้างสารตัวหนึ่งตกลงที่ท้ายหนอง ธนะมูลนาคจึงเอาเนื้อสัตว์นั้นมาแบ่งปันออกเป็น 2 ส่วน เอาไปให้พินทโยนกวตินาคส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้บริโภค

อยู่ต่อมาอีกสองสามวันมีเม่นตัวหนึ่งมาตกลงที่หัวหนอง พินทโยนกวตินาคก็เอาเนื้อสัตว์มาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน เอาไปใน มูลนาคส่วนหนึ่ง ธนะมูลนาคบริโภคไม่พออิ่ม แต่บังเอิญมองไปเห็นขนเม่นยาวแค่ศอกก็บังเกิดมีความโกรธขึ้น นําเอาขนเม่นไปให้ชีวายนาคผู้เป็นหลานดู แล้วกล่าวว่าคําสัตย์ปฏิญาณของเรากับพินทโยนกวตินาคจะขาดจากกันเสียแล้ว

เมื่อเราได้ช้างสารมาเป็นอาหารครั้งนั้น เราก็เอาเนื้อนั้นมาแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่งไปให้พินทโยนกวตินาคส่วนหนึ่ง เราเอาไว้บริโภคส่วนหนึ่งก็พออิ่มถึงแม้ขนก็พอปานนั้น แต่เราเห็นว่าเม่นนี้จะใหญ่โตกว่าช้างสารนัก เพราะขนก็โตยาวเป็นศอก เหตุใดพินทโยนกวตินาคจึงให้เนื้อแก่เราน้อยเช่นนี้ เราบริโภคก็ไม่อิ่ม

ตั้งแต่นั้นมา นาคทั้งสองก็เกิดทะเลาะวิวาทกัดกันขึ้นในหนอง เป็นเหตุให้น้ำขุ่นมัวไปสิ้นทั้งหนอง สัตว์ทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในหนองนั้นตายกันสิ้น เมื่อพระอาทิตย์ทรงทราบ จึงใช้ให้วิสุกรรมเทวบุตร ลงมาขับไล่นาคทั้งสองให้ออกไปเสียจากหนองนั้น นาคทั้งสองก็วัดเหวี่ยงกัดกันหนีออกจากหนองแสไปด้วยอก ดินก็ลึกเป็นคลอง

ชีวายนาคเห็นดังนั้นจึงได้คุ้ยควักให้เป็นแม่น้ำออกไปตามคลองอกแห่งนาคทั้งสอง แม่น้ำนั้นจึงเรียกชื่อว่าอุรังคนที หรือแม่น้ำอู ส่วนพินทโยนกวตินาคได้คุ้ยควักให้เป็นแม่น้ำออกไปทางเมืองเชียงใหม่ เรียกชื่อว่าแม่น้ำพิง และเมืองโยนกวตินคร ตามชื่อนาคตัวนั้น

ส่วนผียักษ์ผีเปรตเห็นสัตว์ทั้งหลายในน้ำหนองแสตายมากนัก เป็นต้นว่า จระเข้, เหี้ย, เต่า จึงพากันมาชุมนุมกันอยู่ในที่นั้น พวก นาคก็พากันหนีไปอยู่ที่อื่น เช่น ปัพพารนาคคุ้ยควักหนีไปอยู่ที่ภูเขาหลวง ทําให้พญาเงือกตัวหนึ่งกับพญางูตัวหนึ่งไม่ต้องการปะปนด้วย จึงคุ้ยควักออกไปเป็นแม่น้ำอันหนึ่งมีนามว่าแม่น้ำงึม หรือแม่น้ำเงือกงู

ฝ่ายธนะมูลนาคหนีไปอยู่ที่ใต้ดอยกัปปนคีรีคือภูกําพร้า ประดิษฐานพระธาตุพนม พวกนาคที่กลัวผียิ่งกว่านาคทั้งหลายก็พากันไปขออยู่กับธนะมูลนาค แล้วหนีไปจนถึงน้ำสมุทรจึงเรียกว่าน้ำลี่ผี (หลี่ผี สปป.ลาว) ต่อมาน้ำที่อยู่ของธนะมูลนาคเกิดแห้งแล้ง ธนะมูลนาคจึงคุ้ยควักเป็น แม่น้ำออกไปถึงเมืองกรุนทนคร, แม่น้ำนั้นจึงชื่อว่าแม่น้ำมูลนที หรือ แม่น้ำมูล ตามชื่อนาค

ข้างชีวายนาคก็คุ้ยควักจากแม่น้ำมูลออกเป็นแม่น้ำ, อ้อมเมือง พระยาสมุทรอุทกที่กินเมืองหนองหานหลวง พร้อมทั้งเมืองขุนขอม นครหนองหานน้อย ตลอดขึ้นไปถึงเมืองกรุนทนคร, แต่นั้นมาแม่น้ำ นั้นจึงได้ชื่อว่าแม่น้ำชีวายนที หรือแม่น้ำชี

นาคในนิทานเรื่องนี้เป็นสัญลักษณ์ของคนพื้นเมืองดั้งเดิม ส่วนหนองแสอันเป็นถิ่นที่อยู่ของนาคคือทะเลสาบเตียนฉือ ที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนานของจีน เป็นแหล่งผลิตกลองทอง (มโหระทึก) สัมฤทธิ์ ยุคแรกของภูมิภาคอุษาคเนย์ (มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือ 2 เล่ม คือ (1) ไทยน้อย ไทยใหญ่ ไทยสยาม โดย ศรีศักร วัลลิโภดม และ สุจิตต์ วงษ์เทศ สํานักพิมพ์มติชน 2536, (2) คนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ จัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับสํานักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ. 2537)

นิทานเรื่องนี้พยายามจะบอกว่าในยุคดึกดําบรรพ์นานมาแล้ว มีคนกลุ่มหนึ่งเคลื่อนย้ายมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือของแม่น้ำโขง ผ่านลําน้ำอูเข้ามาอยู่สองฝั่งโขงบริเวณที่เป็นประเทศลาวและภาคเหนือ กับภาคอีสานของไทย แม้จะยึดถือเป็นความจริงไม่ได้ทั้งหมด แต่เมื่อพิจารณาประกอบหลักฐานทางโบราณคดีก็จะพบว่ามีหลายส่วนแฝง เรื่องจริงเอาไว้ เช่น ลักษณะภูมิประเทศ, ระบบความเชื่อเกี่ยวกับ นาค ฯลฯ

อ้างอิง : [อุรังคธาตุ (ตํานานพระธาตุพนม) กรมศิลปากร พิมพ์เนื่องในการสัมมนาทาง วิชาการเรื่อง “วรรณกรรมสองฝั่งโขง” ที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อ พ.ศ. 2537 หน้า 90-92]

---------------------


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ 
พญานาค จากตำนานสู่ความเชื่อ
ดูรีวิวและช่องทางการสั่งซื้อ << คลิก >> 👇



ผู้เขียนอนุญาตให้ Copy หรือ แชร์บทความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ในช่องทางของตัวเองได้ แต่ขอความกรุณาให้เครดิต หรือแนบลิงก์สั่งซื้อหนังสือให้ด้วยจักขอบพระคุณยิ่งครับ

(ไม่อนุญาตให้จัดพิมพ์หรือจำหน่ายในเชิงพาณิชย์นะครับ)


#พญานาค #ความเชื่อเรื่องพญานาค #ตำนานพญานาค #พญานาคลุ่มน้ำโขง #พญานาคประเทศลาว #พญานาคเขมร #ศรีสุทโธนาคราช #อนันตนาคราช #ภุชงค์นาคราช #สุวรรณนาคราช #เมืองสุวรรณโคมคำ #เมืองศรีสัตตนาคนหุต

👇👇👇👇👇👇👇👇

Saiheal Bookstore and Crafts


ความคิดเห็น

คนชอบอ่าน

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ วานส์” (QUEEN OF WANDS)

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ เพนตาเคิลส์” (QUEEN OF PENTACLES)

ความหมายของไพ่บุคคล คิง ออฟ คัพส์ (KING OF CUPS)

ความหมายของไพ่ "เดอะ เวิลด์" (THE WORLD) สอนอ่านไพ่ยิปซี