ตำนานครุฑยุดนาค ต้นแบบสถาปัตยกรรมไทย "พญานาค" จากตำนานสู่ความเชื่อ

ตำนานครุฑยุดนาค ต้นแบบสถาปัตยกรรมไทย

ครุฑยุดนาค

กล่าวกันว่าอาหารที่พวกครุฑกินนั้น คือนาค แต่ครุฑมิได้กินนาคทั้งตัว จะเลือกกินเฉพาะมันเหลวเท่านั้น มีกล่าวอ้างถึงในเรื่องภูริทัตชาดกตอนหนึ่งว่า “เมื่อครุฑพานาคไปถึงต้นงิ้ว ก็จิกด้วยจะงอยปากฉีกท้องนาคกินมันเหลว แล้วทิ้งร่างลงไปในท้องมหาสมุทร ถ้าจะกล่าวถึงเรื่องครุฑจับนาคกินนี้ ก็ให้เหตุที่นกหลายจำพวก จับงูกินเป็นอาหาร เช่น นกเหยี่ยวรุ้ง (Serpent Eagle) หรือนกอินทรี

เหตุความเชื่อและตำนานเหล่านี้ลางทีก็อ้างอิงจากธรรมชาติของสัตว์เช่นเดียวกัน เมื่อพูดถึงครุฑที่จับนาคตัวเล็กกิน ก็สามารถลากจากน้ำได้อย่างง่ายได้ จนกระทั่งเมื่อเหล่านาคถูกครุฑจับกินเป็นอาหารบ่อยเข้า จึงหาวิธีป้องกันตน โดยกลืนหินเข้าไว้ในท้องทำให้ตัวหนัก เวลานอนจะได้ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกจับไปกิน เพราะเมื่อใดที่ครุฑโฉบมาจับนาคไป จะถูกน้ำหนักหินถ่วงตกลงพื้นบ้าง ตกลงมหาสมุทรบ้าง ถูกน้ำซัดจมเสียชีวิตมากมาย

ครานั้นเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในพระนครพาราณสี มีพ่อค้า 500 คน แล่นสำเภาไปยังมหาสมุทร และอับปางลง ทุกคนตกเป็นเหยื่อปลาและเต่าหมด เหลือเพียงคนเดียวคือบุรุษที่ถูกกำลังลมพัดลอยไปถึงท่าเรือชื่อ กทัมพิยะ เมื่อเขาได้ขึ้นจากทะเลด้วยสภาพเปลือยกายล่อนจ้อน และเที่ยวขอทานไปทั่วดินแดน ผู้คนเมื่อเห็นดังนั้นก็พากันสรรเสริญว่า ท่านผู้นี้จะต้องเป็นสมณะผู้มักน้อยและสันโดษเป็นแน่แท้ จึงได้ทำการสักการะ สร้างอาศรมให้พำนักอยู่ และเรียกว่า กทัมพิยอเจลก หรือ “ชีเปลือย” (ตำนานนี้ถูกนำมาเขียนขึ้นในวรรณคดีไทยเรื่องพระอภัยมณี ตอน สุดสาคร ในบท ชูชก)

ชีเปลือยในตำนานเป็นที่เคารพของเหล่าครุฑและเหล่านาค ครั้งครุฑตนหนึ่งได้ไปยังสำนักชีเปลือยเพื่อเล่าความถึงการจับนาคแล้วพินาศดับสูญไปมากมาย จะทำเช่นไรดี ถึงจะทราบเหตุของเหล่านาคที่หากลอุบายคร่าชีวิตพวกของตนได้ท่านชีเปลือยช่วยหาวิธีเจรจาถามความให้สักหน่อยจะได้หรือไม่ ชีเปลือยเองก็เป็นที่นับถือของเหล่านาค จึงการให้ปฏิเสธไป แต่ด้วยคำรบเร้าของครุฑ และคำมั่นที่ว่า เมื่อรู้แล้วจะไม่บอกใคร (คล้ายนิสัยของคนนะครับ “เอาน่าไม่บอกใครหรอก” เมื่อมีคำนี้เมื่อใด ความลับไม่เคยมีในโลกเลยสักครั้ง) เมื่อนาคตนหนึ่งนามว่าปัณฑรกนาคมาพบชีเปลือย ก็พยามยามถามนาคถึงสามครั้งสามครา ครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง นาคก็ไม่ยอมบอก เหตุเพราะจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของพวกตน พอครั้งที่สามนาคจึงเอยว่า ที่ไม่กล้าบอกเพราะกลัวท่านจะนำความลับนี้ไปบอกผู้อื่น จะทำให้พวกตนเดือดร้อน ชีเปลือยได้ฟังดังนั้นจึงกำชับนักหนาว่า จะไม่บอกใครแน่นอน นาคจึงยอมเผยความลับเรื่องการกลืนหินเข้าไปในท้อง จบการสนทนานาคก็ลากลับไป

เมื่อครั้นครุฑมาถึงก็ได้ถามความกับชีเปลือย และชีเปลือยก็เล่าความตามที่นาคบอกทุกประการ เมื่อครุฑได้ฟังเช่นนั้น จึงคิดในใจว่า นาคทำกรรมอันมิสมควรที่จะพาให้พวกของตนฉิบหายเสียแล้ว ถึงทีของเราะทำลมกำลังสุบรรณ จับนาคปัณฑรกนี้ก่อน จึงได้ทำการจับนาคปัณฑรกทางหาง แล้วโผบินให้ห้อยศีรษะลง ทำให้สำรองหินและอาหารที่กลืนเข้าไปจนหมดสิ้น เมื่อถึงคราวนั้นนาคปัณฑรกจึงรำพึงรำพันว่า เรานำทุกข์มาสุ่ตนเองแท้ๆ การรำพึงรำพันด้วยความคร่ำครวญนี้เรียกว่า “ปริเทวนาการ” นาคปัณฑรกได้กระทำปริเทวนาการ 8 ประการด้วยกัน

(1) ภัยเกิดจากตนเอง ย่อมตามถึงบุคคลผู้ไร้ปัญญา พูดพล่อย ๆ ไม่ปิดบังความรู้ ขาดความระมัดระวัง ขาดความพิจารณา เหมือนครุฑตามถึงเราผู้ปัณฑรกนาคราช ฉะนั้น

(2) นรชนใดยินดีบอกมนต์ลึกลับที่ตนควรจะรักษาแก่คนชั่ว เพราะความหลง ภัยย่อมตามถึงนรชนนั้นผู้มีมนต์อันแพร่งพรายแล้วโดยพลัน เหมือนครุฑตามที่เราผู้ปัณฑรกนาคราช ฉะนั้น

(3) มิตรเทียมไม่ควรให้รู้เหตุสำคัญอันลึกลับ ถึงมิตรแท้แต่เป็นคนโง่ หรือมีปัญญาแต่ประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่ควรจะให้รู้ความลับเหมือนกัน

(4) เราได้ถึงความคุ้นเคยกับชีเปลือย ด้วยเข้าใจว่า สมณะนี้โลกเข้านับถือ มีตนอบรมดีแล้ว ได้บอกเปิดเผยความลับแก่มัน จึงได้ล่วงเลยประโยชน์ ร้องได้อยู่ดุจคนกำพร้า ฉะนั้น

(5) ดูก่อนพญาครุฑที่ประเสริฐ เมื่อก่อนเรามีวาจาปกปิด ไม่บอกความลับแก่มัน แต่ก็ไม่อาจระมัดระวังได้แท้จริง ภัยได้มาถึงเราจากทางชีเปลือยนั้น เราจึงได้ล่วงเลยประโยชน์ ร้องไห้ดุจคนกำพร้า ฉะนั้น

(6) นรชนใดสำคัญว่า ผู้นี้มีใจดี บอกความลับกะคนสกุลทราม นรชนนั้นเป็นคนโง่เขลา ทรุดโทรมลงโดยไม่ต้องสงสัย เพราะโทสาคติ ภยาคติ หรือเพราะฉันทคติ

(7) ผู้ใดปากบอนนับเข้าในพวกอสัตบุรุษ ชอบกล่าวถ้อยคำในที่ประชุมชน นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า ผู้มีปากชั่วร้าย คล้ายอสรพิษ ควรระมัดระวังคนเช่นนั้นเสียให้ห่างไกล

(8) เราได้ละทิ้ง ข้าว น้ำ ผ้าแคว้นกาสี และจุรณจันทน์ สตรีที่เจริญใจดอกไม้และเครื่องชโลมทา ซึ่งเป็นส่วนกามารมณ์ทั้งปวงไปหมดแล้ว ดูก่อนพญาครุฑ เราขอถึงท่านเป็นสรณะด้วยชีวิต

เมื่อครุฑได้ฟังปริเทวนาการ ทั้ง 8 ประการนี้ จึงได้ติเตียนนาคปัณฑรกว่า ท่านนาคราช ท่านบอกความลับของตนแก่ชีเปลือยแล้ว ทำไมบัดนี้จึงปริเทวนาการอยู่เล่า จึงกล่าวความว่า

“ดูก่อนปัณฑรกนาคราช บรรดาสัตว์ทั้ง 3 จำพวก คือ สมณะ ครุฑ และนาค ใครหนอควรจะได้รับคำติเตียนในโลกนี้ ที่จริงตัวท่านนั่นแหละ ควรจะได้รับ ท่านถูกครุฑจับเพราเหตุอันใด”

เมื่อนาคได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า

“แท้จริง สัตว์ที่จะไม่ตายไม่มีเลยในแผ่นดิน ธรรมชาติเช่นกับปัญญาไม่ควรติเตียน คนในโลกย่อมบรรลุคุณวิเศษที่ยังไม่ได้ เพราะสัจธรรม ปัญญาและทมะ

มารดาบิดาเป็นยอดเยี่ยมแห่งเผ่าพันธุ์ คนที่สามชื่อว่ามีความอนุเคราะห์แก่บุตรนั้น ไม่มีเลย เมื่อรังเกียจว่ามนต์จะแตก ก็ไม่ควรบอกความลับสำคัญ แม้แก่มารดาบิดานั้น

เมื่อบุคคลรังเกียจว่ามนต์จะแตก ก็ไม่ควรแพร่งพรายความลับสำคัญ แม้แก่บิดามารดา พี่สาว น้องสาว พี่ชาย น้องชาย หรือแก่สหาย แก่ญาติฝ่ายเดียวกับตน

ถ้าภรรยาสาวพูดไพเราะ ถึงพร้อมด้วยบุตรธิดา รูปและยศ ห้อมล้อมด้วยหมู่ญาติ จะพึงกล่าวอ้อนวอนสามีให้บอกความลับ เมื่อรังเกียจว่ามนต์จะแตก ไม่ควรแพร่งพรายความลับสำคัญ แม้แก่ภรรยานั้น”

พญาครุฑกล่าวความต่อไปอีกว่า

“บุคคลไม่ควรเปิดเผยความลับเลย ควรรักษาความลับนั้นไว้ เหมือนรักษาขุมทรัพย์ ความลับอันบุคคลอื่นรู้เข้าทำให้แพร่งพราย ไม่ดีเลย

คนฉลาดไม่ควรขยายความลับแก่สตรี ศัตรู คนมุ่งอามิส และแก่คนผู้หมายล้วงดวงใจ

คนใดให้ผู้ไม่มีความคิดล่วงรู้ความลับ ถึงแม้เขาจะเป็นคนใช้ของตน ก็จำต้องอดกลั้นไว้ เพราะกลัวความคิดจะแตก

คนมีประมาณเท่าใด รู้ความลับที่ปรึกษากันของบุรุษ คนประมาณเท่านั้นย่อมขู่ให้บุรุษนั้นหวาดกลัวได้ เพราะเหตุนั้น จึงไม่ควรขยายความลับ

ในกลางวันก็ดี กลางคืนก็ดี ควรพูดเปิดเผยความลับในที่สงัด ไม่ควรเปล่งวาจาให้เกินเวลา เพราะคนที่คอยแอบฟัง ก็จะได้ยินข้อความที่ปรึกษากัน เพราะเหตุนั้น ข้อความที่ปรึกษากันก็จะถึงความแพร่งพรายทันที

ผู้มีความคิดอันลี้ลับในโลกนี้ ย่อมปรากฏแก่เรา เปรียบเหมือนนครอันล้วนแล้วด้วยเหล็กใหญ่โต ไม่มีประตู เจริญด้วยเรือนโรงล้วนแต่เหล็กประกอบด้วยคูอันขุดไว้โดยรอบ ฉะนั้น

ดูก่อนปัณฑรกนาคราชผู้มีลิ้นชั่ว คนจำพวกใดมีความคิดลี้ลับ ต้องไม่พูดแพร่งพราย มั่นคงในประโยชน์ของตน อมิตรทั้งหลายย่อมเว้นไกลจากคนจำพวกนั้น ดุจคนผู้รักชีวิตเว้นไกลจากหมู่อสรพิษฉะนั้น”

เมื่อพญาครุฑกล่าวธรรมอย่างนี้แล้ว ปัณฑรกนาคจึงกล่าวต่อว่า

“อเจลกชีเปลือย ละเรือนออกบวช มีศีรษะโล้น เที่ยวไปเพราะเหตุแห่งอาหาร เราได้ขยายความลับแก่มันซิหนอ เราจึงเป็นผู้ปราศจากประโยชน์และธรรม

ดูก่อนพญาครุฑ บุคคลผู้ละสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นของเราแล้ว มาประพฤติเป็นนักบวช มีการกระทำอย่างไร มีศีลอย่างไร ประพฤติพรตอย่างไร จึงจะชื่อว่าเป็นสมณะ สมณะนั้นมีการทำอย่างไร จึงจะเข้าแดนสวรรค์”

พญาครุฑกล่าวต่อว่า “บุคคลผู้ละสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นของตนแล้ว มาประพฤติเป็นนักบวช ต้องประกอบด้วยความละอาย ความอดทนอดกลั้น ความฝึกตน ความไม่โกรธง่าย ละวาจาส่อเสียด จึงจะชื่อว่าเป็นสมณะ สมณะนั้นมีการกระทำอย่างนี้ จึงจะเข้าถึงแดนสวรรค์”

เมื่อปัณฑรกนาคได้ฟังธรรมเช่นนั้น จึงอ้อนวอนขอชีวิตด้วยความว่า

“ข้าแต่พญาครุฑ ข้อท่านจงปรากฏแก่ข้าพเจ้า เหมือนมารดาที่กกกอดลูกอ่อนที่เกิดแต่ตน แผ่ร่างกายทุกส่วนสัดปกป้อง หรือดุจมารดาผู้เอ็นดูบุตรฉะนั้นเถิด”

ลำดับต่อมา พญาครุฑ เมื่อจะละเว้นมอบชีวิตให้แก่นาคปัณฑรก กล่าวว่า

“ดูก่อนพญานาคราชผู้มีลิ้นชั่ว เอาเถอะ ท่านจงพ้นจากการถูกฆ่าในวันนี้ ก็บุตรมี 3 จำพวก คือศิษย์ 1 บุตรบุญธรรม 1 บุตรตัว 1 บุตรอื่นหามีไม่ ท่านยินดีจะเป็นบุตรจำพวกไหนของเรา”

ครั้นพญาครุฑกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ลงจากอากาศ วางนาคปัณฑรกลงผืนดิน พระบรมศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงกล่าวว่า

“พญาครุฑจอมทิชชาติกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็โผลงจับที่แผ่นดิน แล้วปล่อยพญานาคไปด้วยกล่าวว่า วันนี้ท่านรอดพ้นล่วงสรรพภัยแล้ว จงเป็นผู้อันเราคุ้มครองแล้ว ทั้งทางบกทางน้ำ หมอผู้ฉลาดเป็นที่พึ่งของคนไข้ได้ฉันใด ห้วงน้ำอันเย็นเป็นที่พึ่งของคนหิวกระหายได้ฉันใด สถานที่พักเป็นที่พึ่งของคนเดินทางได้ฉันใด เราก็จะเป็นที่พึ่งของท่าน ฉันนั้น”

พญาครุฑปล่อยนาคไป ความว่า “ท่านจงไปเถิด” นาคปัณฑรกก็กลับสู่นาคพิภพดังเดิม ฝ่ายครุฑเมื่อกลับสู่สุบรรณพิภพ คิดในใจว่า ปัณฑรกนาคที่เราได้ทำการสบถให้เชื่อปล่อยไปแล้ว จะมีดวงใจต่อเราเช่นไรหนอ เราจักลองทดสอบดู จึงได้ยังนาคพิภพ กางปีกออกกระทำลมกำลังสุบรรณ เมื่อนาคเห็นเช่นนั้นจึงสำคัญตนว่า ครุฑจะมาจับตน จึงเนรมิตอัตภาพยาวประมาณพันวา กลืนก้อนหินและทรายเข้าไว้ในตัว นอนแผ่พังพานไว้ยอดขนดจรดหางลงเบื่องต่ำ ทำอาการประหนึ่งว่าจะขบกัดครุฑ

ฝ่ายครุฑเห็นอาการเช่นนั้น จึงกล่าวว่า “นั่นหนอท่านผู้ชลามพุชชาติ ท่านแยกเขี้ยวจะขบ มองดูดังจะทำกับศัตรูผู้อัณฑชชาติ ภัยของท่านมีมาจากไหนกัน”

พญานาคจึงตอบว่า “บุคคลพึงรังเกียจในศัตรูทีเดียว แม้ในมิตรก็ไม่ควรไว้วางใจ ภัยเกิดขึ้นได้จากที่ที่ไม่มีภัย มิตรย่อมตัดโค่นรากได้แท้จริง, จะพึงวางใจในบุคคล ที่ทำการทะเลาะกันมาแล้วอย่างไรได้เล่า ผู้ใดดำรงอยู่ได้ด้วยการเตรียมตัวเป็นนิตย์ ผู้นั้นย่อมไม่ยินดีกับศัตรูของตน, บุคคลพึงทำให้เป็นที่ไว้วางใจของคนอื่น แต่ไม่ควรจะวางใจคนอื่นจนเกินไป ตนเองอย่าให้คนอื่นรังเกียจได้ แต่ควรรังเกียจเขา วิญญูชนพึงพากเพียรไปด้วยอาการที่ฝ่ายปรปรักษ์จะรู้ไม่ได้”

ครั้งทั้งสองเจรจากันอย่างนี้แล้ว ก็วางใจต่อกันและพากันไปยังอาศรมชีเปลือยในเวลาต่อมา ดังที่พระบรมศาสดาได้ประกาศความนี้ไว้ว่า “สัตว์ทั้งสองมีเพศพรรณดังเทวดา สุขุมาลชาติเช่นเดียวกัน อาจผจญได้ดี มีบุญบารมีได้ทำไว้ เคล้าคลคงกันไปราวกะว่าม้าเทียมรถ พากันเข้าไปหากรัมปิยอเจลก”

ครั้งไปถึงแล้ว ครุฑคิดว่านาคนี้คงจักไม่ให้ชีวิตแก่ชีเปลือยเป็นแน่แท้ ตนเองก็จักไม่ไหว้มันผู้ทุศีล ครุฑจึงยืนอยู่ข้างนอก ปล่อยให้นาคเข้าไปยังสำนักชีเปลือยแต่ลำพัง แล้วกล่าวว่า “วันนี้เรารอดพ้นความตาย ล่วงภัยทั้งปวงแล้ว คงไม่เป็นที่รักที่พอใจท่านเสียเลยเป็นแน่” ชีเปลือยตอบว่า “พญาครุฑเป็นที่รักยิ่งกว่าปัณฑรกนาคราชอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องสงสัย เรามีความรักใคร่ในพญาครุฑ ทั้งที่รู้กระทำกรรมอันลามก ไม่ใช่ทำเพราะความลุ่มหลงเลย”

เมื่อนาคปัณฑรกได้ฟังเช่นนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า “ความถือว่า สิ่งนี้เป็นที่รักของเรา หรือสิ่งนี้ไม่เป็นที่รักของเรา ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่บรรพชิตผู้พิจารณาเห็นโลกนี้และโลกหน้า ก็ท่านเป็นคนไม่สำรวม แต่ประพฤติลวงโลกด้วยเพศของผู้สำรวมดี ท่านไม่เป็นอริยะ แต่ปลอมตัวเป็นอริยะ ไม่ใช่คนสำรวม แต่ทำคล้ายคนสำรวม ท่านเป็นคนชาติเลวทราม ไม่ใช่คนประเสริฐ ได้ประพฤติบาปทุจริตเป็นอันมาก”

เมื่อปัณฑรกนาคติเตียนเช่นนี้แล้ว จึงสาปแช่งด้วยความว่า “แนะเจ้าคนเลวทราม เจ้าประทุษร้ายต่อผู้ไม่ประทุษร้าย ทั้งเป็นคนส่อเสียด ด้วยคำสัตย์นี้ ขอศีรษะของเจ้าจงแตกออกเป็นเจ็ดเสี่ยง” ทันใดนั้นศีรษะของชีเปลือยก็แตกออกเป็นเจ็ดภาค พื้นดินที่ชีเปลือยนั่งอยู่ก็แยกออกเป็นช่อง ชีเปลือยตกลงสู่อเวจีมหานรก พญานาคและพญาครุฑทั้งสอง ก็กลับสู่พิภพของตนตามเดิม พระบรมศาสดา เมื่อจะประกาศความที่ชีเปลือยถูกแผ่นดิบสูบนี้ จึงตรัสว่า

“เพราะเหตุนี้แล บุคคลไม่พึงประทุษร้ายต่อมิตร เพราะผู้ประทุษร้ายต่อมิตรเป็นคนเลวทรามที่สุด จะหาคนอื่นที่เลวกว่าเป็นไม่มี ชีเปลือยถูกอสรพิษกำจัดแล้วในแผ่นดิน ทั้งที่ได้ปฏิญญาว่าเรามีสังวร ก็ได้ถูกทำลายลงด้วยคำของพญานาคราช” ตำนานครุฑยุดนาคก็ด้วยประการฉะนี้ เมื่อพระบรมศาสดาทรงนำธรรมเทศนานี้มาแสดงจบแล้ว ทรงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในชาติก่อน พระเทวทัตก็กระทำมุสาวาทจนถูกแผ่นดินสูบ แล้วทรงประชุมชาดก ว่า ชีเปลือยได้มาเป็นพระเทวทัต, นาคราชได้มาเป็นพระสารีบุตร, ส่วนสุบรรณราช ได้มาเป็นเราผู้ตถาคต ฉะนี้แล” (อรรถกถาปัณฑรกชาดกที่ 8)

จากตำนานครุฑยุดนาคนั้น หากผู้รู้ผิวเผินก็จะมองว่า ครุฑจับนาคไปกิน ไม่รู้ถึงข้อธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากตำนานดังกล่าวนี้ และจากเหตุดังนี้จะเห็นได้ว่า ข้อบาดหมางของภูมิกำเนิดครุฑนาคในอดีต ได้รับการชำระด้วยข้อสนทนาธรรมตามคาถาต่าง ๆ จนเป็นมูลเหตุแห่งการอุปถัมภ์กัน และดำรงตนในหนทางแห่งพระพุทธศาสนา บำเพ็ญภาวนาด้วยอุโบสถศีล ดังนั้น ศิลปกรรมที่เราเห็น หรือสถาปัตยกรรมในวัด ล้วนกล่าวถึงตำนานครุฑยุดนาคนี้ และสอดแทรกข้อธรรมเหล่านี้ไว้ให้คนรุ่นหลัง เพียงแต่จืดจางเลือนหายเพราะความไม่รู้ถึงแก่นแท้นั่นเอง



เราจึงเห็นผู้ที่นับถือศรัทธาพญานาค จะมโนความกลัวนก กลัวสัตว์ปีก และกลัวครุฑ ถึงขั้นไม่ให้ภายในบ้านมีลักษณะของพญาครุฑปรากฏเลยก็มี เพราะความเชื่อที่หาเหตุให้ตนเองว่า เป็นสิ่งที่ปรปักษ์กัน ต่างกับความเชื่อของชาวเอเชียตะวันออก ที่เชื่อว่า มังกรและหงส์ เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นสิ่งคู่กัน มีอำนาจย่อมต้องมีวาสนา มีความอุดมสมบูรณ์ ย่อมต้องมีฤทธานุภาพ กล่าวถึงในทำนองนั้น


 ---------------------


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ 
พญานาค จากตำนานสู่ความเชื่อ
ดูรีวิวและช่องทางการสั่งซื้อ << คลิก >> 👇



ผู้เขียนอนุญาตให้ Copy หรือ แชร์บทความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ในช่องทางของตัวเองได้ แต่ขอความกรุณาให้เครดิต หรือแนบลิงก์สั่งซื้อหนังสือให้ด้วยจักขอบพระคุณยิ่งครับ

(ไม่อนุญาตให้จัดพิมพ์หรือจำหน่ายในเชิงพาณิชย์นะครับ)


#พญานาค #ความเชื่อเรื่องพญานาค #ตำนานพญานาค #พญานาคลุ่มน้ำโขง #พญานาคประเทศลาว #พญานาคเขมร #ศรีสุทโธนาคราช #อนันตนาคราช #ภุชงค์นาคราช #สุวรรณนาคราช #เมืองสุวรรณโคมคำ #เมืองศรีสัตตนาคนหุต

ความคิดเห็น

คนชอบอ่าน

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ วานส์” (QUEEN OF WANDS)

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ เพนตาเคิลส์” (QUEEN OF PENTACLES)

ความหมายของไพ่บุคคล คิง ออฟ คัพส์ (KING OF CUPS)

ความหมายของไพ่ "เดอะ เวิลด์" (THE WORLD) สอนอ่านไพ่ยิปซี