ต้นกำเนิดของพญานาคตามความเชื่อพราหมณ์-ฮินดูโบราณ "พญานาค จากตำนานสู่ความเชื่อ"

(ต้นกำเนิดของเหล่าพญานาคราช)

ต้นกำเนิดของพญานาค
เมื่อกล่าวถึงตำนานการถือกำเนิดของเหล่าพญานาค เรียกได้ว่าถูกกล่าวถึงมากมายหลากหลาย มีทั้งการอ้างอิงจากไศวนิกาย, ไวษณพนิกาย หรืออื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อจวบจนถึงปัจจุบันนี้ สาเหตุเพราะการเผยแพร่คำสอนความเชื่อและพิธีกรรมฮินดู ของชาวอารยันยุคโบราณที่แผ่ขยายไปเป็นวงกว้างนั่นเอง และอาณาจักรขอม ก็ได้รับมาค่อนข้างเต็มเปี่ยมพอสมควร (อาณาจักรขอม ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในกัมพูชา และบางส่วนในประเทศไทย – ประเทศลาว - เวียดนาม)

ดังนั้น ในการศึกษาตำนานของพญานาค จำต้องใช้วิจารณญาณพอสมควร เพราะอย่างที่ผู้เขียนพยายามบอกว่า ตำนานต่าง ๆ ถูกสร้างสรรค์ แต่งแต้มเติม หรือเรียบเรียงจากผู้ที่เป็นคนบันทึก จะเอาหลักฐานใดมาชี้วัดความถูกผิดมิได้ บางเรื่องราวก็น่าอัศจรรย์ใจเกินกว่าที่จะเชื่อ จึงต้องใช้ดุลพินิจของตนประกอบ ดังว่า

เหล่านาคที่ถือกำเนิดจากพระกัศยปเทพบิดร

พระกัศยปเทพบิดรนั้น ถือเป็นบรมครูของเหล่าฤาษีในยุคต้น ๆ ของการนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็น 1 ใน 7 มหาฤาษีของโลก หรือที่เรียกว่า “สปตะฤาษี” ประกอบด้วย โคตม, ภัทรวาช, วิศวามิตร, ชมทัศนี, วศิษฐ์, กัศยป และ อัตริ สำหรับพระกัสยปเทพบิดร ในความเชื่อนั้นกล่าวว่า ท่านเป็นผู้ให้กำเนิดเทพเทวดา มนุษย์ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย แต่ตำนานของพราหมณ์-ฮินดูนั้น มีความหลากหลายยิ่งนัก เช่นคัมภีร์ในยุคไตรเภท และคัมภีร์พรหมมัสกล่าวถึงการกำเนิดของพระศิวะ ว่า ทรงประสูติจาก พระนางสุรภี และพระบิดาก็คือพระกัศยปะเทพบิดร ด้วยความที่ต้นตำนานท่านเป็นผู้ให้กำเนิดเทพมากมาย จึงถูกเรียกขานว่า “เทพบิดร” หรือแปลตรงตัวก็คือ บิดาแห่งเหล่าเทพเทวดานั่นเอง

ตามตำนานกล่าวว่า พระทักษะปชาบดี ได้ยกพระธิดาทั้ง 13 พระองค์ให้แก่พระกัศยปเทพบิดร แต่มีธิดาอยู่เพียงสององค์ที่มีอุปนิสัยชิงดีชิงเด่นกันเอง คือพระนางวินตา และนางกัทรุ เมื่อพระนางทั้งสองมีโอกาสขอพรจากพระกัศยปมุนี นางกัทรุจึงขอพรให้มีบุตรมากที่สุด พรนั้นส่งผลให้พระนางกัทรุ มีบุตรเป็นไข่พันฟอง และเมื่อไข่ฟักตัวเป็นนาคถึง 1,000 ตน ในส่วนของนางวินตา ขอให้มีบุตรเพียงแค่สอง แต่ให้มีฤทธิ์เดชมากกว่าบุตรของพระนางกัทรุ เมื่อนั้นพระนางวินตาจึงให้กำเนิดออกมาเป็นไข่ 2 ฟอง ต่อมาไข่ทั้งสองฟองไม่ยอมฟักเป็นตัว พระนางวินตาเร่งร้อนใจ จึงทุบไข่ใบแรกออก ปรากฏร่างของเทพที่มีครึ่งองค์ เนื่องจากกำเนิดก่อนกำหนดเวลาอันสมควร เทพองค์นี้ชื่อว่า อรุณเทพบุตร มีฤทธิ์เดชและอานุภาพมากดั่งคำขอพรของพระนางวินตา

พระอรุณเทพบุตรโกรธมารดาของตนเป็นอย่างมาก ที่ทำให้พระวรกายไม่ครบสมบูรณ์เนื่องจากทุบไข่ก่อนเวลาฟัก เมื่อทราบถึงความริษยาของพระมาดา ที่มีต่อพระนางวินตา จึงได้สาปให้พระนางวินตามารดาของตน ต้องตกเป็นทาสพระนางกัทรุเป็นเวลา 500 ปี แต่ด้วยความที่เป็นพระมารดาแห่งตน จึงบรรเทาเบาบางคำสาปลงว่า หากพระนางวินตาสามารถทนรอไข่ฟองที่สองซึ่งจะฟักในอีก 500 ปีข้างหน้าได้ บุตรในไข่ฟองที่สองจะช่วยให้พระนางวินตาพ้นคำสาปนี้

ต่อมาพระนางทั้งสองก็พนันขันแข่งกันเรื่องทายสีม้าเทียมรถของพระอาทิตย์ ว่าเป็นสีใด โดยมีข้อแม้ว่า หากผู้ใดทายผิด จะต้องยอมตกเป็นทาสของอีกฝ่ายหนึ่ง ในกาลนี้ พระนางกัทรุใช้อุบายให้ลูกนาคของตน เนรมิตกายไปแทรกอยู่ในขนม้าเทียมรถของพระอาทิตย์ เพื่อให้สีเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีดำ พระนางวินตาจึงต้องตกเป็นทาสของพระนางกัทรุถึง 500 ปี ต่อมาเมื่อไข่ฟองที่สองฟักสำเร็จ กลายเป็นพญานกนามว่า “เวนไตย” (แปลว่าผู้เกิดจากนางวินตา) ทราบว่าพระมารดาถูกกลโกงแพ้อุบายพระนางกัทรุ จึงขอไถ่ตัวมารดาจากเหล่านาค ซึ่งเหล่านาคบุตรแห่งพระนางกัทรุก็ยินยอม แต่มีข้อแม้ว่า จะต้องไปนำน้ำอมฤตที่พระอินทร์เก็บรักษาบนสวรรค์ มาให้พวกตน จึงจะยอมปล่อยพระมารดาของเวนไตย

เวนไตยตกลงดังนั้น แต่ก่อนออกเดินทาง พระมารดากำชับว่า ระหว่างทางหากหิวให้จับกินเฉพาะคนนิษาท (คนป่าเถื่อน) และห้ามทำอันตรายพวกฤาษี หรือพราหมณ์เด็ดขาด เวนไตยรับคำและระหว่างทางก็จับแต่พวกนิษาทที่มีความป่าเถื่อน กระทำความชั่วกินเป็นอาหาร แต่ยังไม่อิ่มท้องจนไปเจอกับเต่าวิภาวสุ และช้างสุประติกะ อสูรพี่น้องที่โลภมากแย่งสมบัติกันจนต่างฝ่ายต่างสาปกันเองให้กลายเป็นเต่าและช้างขนาดยักษ์ ดังนั้น เวนไตยคาบสัตว์ทั้งสองบินไปเกาะกิ่งไทรอันเป็นที่อยู่ของฤาษีแคระ เรียกว่า “พาลขิยะ” (ตามความเชื่อของพราหมณ์-ฮินดู กล่าวถึงฤาษีแคระที่มีขนาดตัวเพียงนิ้วมือของมนุษย์เท่านั้น เหล่าฤาษีแคระเป็นสาวกขององค์พระศิวะเจ้า และสรรเสริญพระมหาเทพด้วยใจบริสุทธิ์) ด้วยความหนักจึงทำให้กิ่งไทรทานน้ำหนักไม่ไหว หักลงมา แต่เมื่อเห็นว่ามีเหล่าฤาษีแคระพำนักอยู่ เวนไตยจึงจับกิ่งไทรพาบินไปวางไว้ที่เขาเหมกูฎ

พวกฤาษีเห็นถึงจิตใจที่งดงามจึงขนาดนามว่า “ครุฑ” แปลว่าผู้รับภาระอันหนัก และให้พรว่า จะทำสิ่งใดก็ขอให้สำเร็จสมประสงค์ และมีพละกำลังมหาศาล ไม่มีผู้ใดทัดทานได้ เมื่อได้พรเช่นนั้น ครุฑจึงทำการสู้รบแย่งชิงน้ำอมฤตจากพระอินทร์ได้อย่างทัดเทียมไม่มีรู้แพ้ชนะ ความรู้ถึงพระนารายณ์ต้องเสด็จมาไกล่เกลี่ย โดยที่พระองค์ทรงทราบดีว่า พญาครุฑจะนำน้ำอมฤตไปช่วยพระมารดา จึงให้นำไปได้ และประทานพรแห่งความเป็นอมตะแก่พญาครุฑ ถึงแม้จะไม่ได้ดื่มกินน้ำอมฤตก็ตาม พญาครุฑจึงให้สัจจะแก่พระนารายณ์ว่า จะยอมเป็นพาหนะให้พระองค์ทรงขี่ ด้วยเหตุนี้ ครุฑจึงมีอีกชื่อหนึ่งคือ “สุบรรณ” แปลว่า ขนวิเศษ และเป็นเหตุที่มาของ “นารายณ์ทรงสุบรรณ” นั่นเอง ต่อมาเมื่อครุฑนำน้ำอมฤติมาให้นาคแล้ว ก็สร้างอุบายว่าให้พระอินทร์รีบลงไปชิงน้ำอมฤตคืนทันที เพื่อไม่ให้เหล่านาคทั้งหลายเหิมเกริมขึ้นในกาลต่อไป ซึ่งในการแย่งชิงทำให้น้ำอมฤตหยดลงตามยอดหญ้าคา เหล่านาคเสียดายน้ำอมฤต จึงเลียใบหญ้าคาจนถูกบาดลิ้นแยกเป็นสองแฉก และนี่เป็นที่มาของงูที่ว่าทำไมลิ้นจึงมีสองแฉกนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ครุฑและนาคเป็นศัตรูกัน เหล่านาค มีที่มาจากงูที่มีฤทธิ์ ในภาษาสันสกฤตกล่าวถึงมากมาย เช่นคำว่า อุรคะ, สรปะ, ภุชังคะ, นาคะ หรือ นาคี ซึ่งในมหาภารตะของอิเดียโบราณ กล่าวถึงนาคที่มีความสำคัญหลายตน เช่น เศษะ (อนันตนาคราช), วาสุกรี, ตักษกะ และอิราวัต แต่ก็ถูกแบ่งออกไปตามตำนานของแต่ละนิกายที่นับถือมหาเทพองค์ใดเป็นใหญ่ ก็จะลำดับปฐมนาคราชไปตามนั้น และในส่วนของภุชงค์นาคที่คนไทยศรัทธา ยังไม่พบในบันทึกใด สันนิษฐานว่าคือ

พญานาควาสุกรี เนื่องจากถูกอ้างว่าพญานาคภุชงค์ เป็นนาคคู่บารมีของพระศิวะ แต่ในมหาภารตะหรือบันทึกที่ถูกถ่ายทอดมาในชื่อพญานาควาสุกรีเสียส่วนมาก แต่ด้วยภาพลักษณ์ของพญานาคภุชงค์ที่สังขารเป็นฤาษีมีเศียรเป็นนาคนั้น อาจถือกำเนิดขึ้นในยุคหลัง และคำว่าภุชงค์นั้น แปลว่านาค หรืองูใหญ่นั่นเอง

---------------------


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ 
พญานาค จากตำนานสู่ความเชื่อ
ดูรีวิวและช่องทางการสั่งซื้อ << คลิก >> 👇



ผู้เขียนอนุญาตให้ Copy หรือ แชร์บทความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ในช่องทางของตัวเองได้ แต่ขอความกรุณาให้เครดิต หรือแนบลิงก์สั่งซื้อหนังสือให้ด้วยจักขอบพระคุณยิ่งครับ

(ไม่อนุญาตให้จัดพิมพ์หรือจำหน่ายในเชิงพาณิชย์นะครับ)


#พญานาค #ความเชื่อเรื่องพญานาค #ตำนานพญานาค #พญานาคลุ่มน้ำโขง #พญานาคประเทศลาว #พญานาคเขมร #ศรีสุทโธนาคราช #อนันตนาคราช #ภุชงค์นาคราช #สุวรรณนาคราช #เมืองสุวรรณโคมคำ #เมืองศรีสัตตนาคนหุต

👇👇👇👇👇👇👇👇

Saiheal Bookstore and Crafts



ความคิดเห็น

คนชอบอ่าน

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ วานส์” (QUEEN OF WANDS)

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ เพนตาเคิลส์” (QUEEN OF PENTACLES)

ความหมายของไพ่บุคคล คิง ออฟ คัพส์ (KING OF CUPS)

ความหมายของไพ่ "เดอะ เวิลด์" (THE WORLD) สอนอ่านไพ่ยิปซี