กำเนิดทัตตะนาคราช ภูริทัตชาดก (พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพญานาค ตอนที่ 2)

 

ภูริทัตชาดก

กำเนิดทัตตะนาคราช

(พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพญานาค ตอนที่ 2)

เมื่อเต่านั้นถึงห้วงน้ำอันเป็นที่ไปสู่ภพนาคแห่งหนึ่ง ได้เจอกับนาคมาณพ (นาคหนุ่ม) บุตรของพญานาคราชชื่อว่าธตรฐพร้อมบริวาร กำลังเล่นอยู่ในห้วงน้ำนั้น เห็นเต่านั้นเข้าจึงกล่าวว่า “พวกท่านจงจับมันเป็นทาส” เต่านั้นคิดว่า “เราพ้นจากพระหัตถ์ของพระเจ้าพาราณสีแล้ว บัดนี้มาถึงมือของพวกนาคผู้หยาบช้าเห็นปานนี้ เราจะพึงพ้นด้วยอุบายอะไรหนอ” เต่านั้นคิดว่า อุบายนี้ใช้ได้ เราจะพึงพูดมุสาวาท จึงจะพ้น (จะต้องโกหกเพื่อเอาตัวรอดอีกแล้ว) แล้วกล่าวว่า “พวกท่านมาจากสำนักของพระยานาคชื่อว่าธตรฐ เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวกะเราอย่างนี้ เราเป็นเต่าชื่อว่า “จิตตจูฬ” เป็นทูตแห่งพระเจ้าพาราณสีมายังสำนักของพญานาคราชชื่อว่า ธตรฐ พระราชาของเรา ประสงค์จะให้ธิดาแก่พระยานาคชื่อว่าธตรฐ จึงส่งเรามา ขอท่านจงแสดงเราแก่ พระยานาคนั้นเถิด” นาคมาณพเหล่านั้นก็เชื่อแล้วเกิดความยินดีจึงพาเต่าไปหาพญาธตรฐนาคราช พระองค์รับสั่งให้เรียกเต่านั้นมาด้วยคำว่า “จงนำมันมาเถิด” พอเห็นเต่านั้นจึงพอพระทัยและตรัสว่า “ผู้มีร่างลามกเห็นปานนี้ ไม่สามารถจะทำทูตกรรม” (คือสภาพแบบนี้ไม่น่าจะเป็นทูตได้นะ ประมาณนั้น) เต่าได้ฟังดังนั้นจึงกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า ก็ชื่อว่าผู้เป็นทูต จะพึงมีร่างกายประมาณเท่าลำตาลหรือ ความจริงร่างกายเล็กหรือน้อย ไม่เป็นประมาณ การทำกรรมในที่ที่ไปแล้ว แล้วให้สำเร็จนั่นแล เป็นประมาณ ดังนั้น ข้าแต่มหาราชเจ้า ทูตเป็นอันมากของพระราชาของเราเป็นมนุษย์ ย่อมทำกรรมบนบก นกย่อมทำกรรมบนอากาศ ข้าพระองค์ชื่อว่าจิตตจูฬ ถึงฐานันดรเป็นที่โปรดปรานของพระราชา เป็นผู้ปกครองหมู่บ้าน ย่อมทำกรรมในน้ำ ขอพระองค์อย่าข่มขู่ ดูหมิ่นข้าพระองค์”

พญานาคราชธตรฐจึงถามกับเต่านั้นว่า “ก็ท่านเป็นผู้อันพระราชาส่งมาเพื่อต้องการอะไร?” เต่ากล่าวว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า พระราชาของข้า ตรัสกะข้าอย่างนี้ว่า เราจะทำมิตรธรรมกับพระราชา ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น บัดนี้ เราควรจะทำมิตรธรรมกับพระยานาคธตรฐ เราจะให้นางสาวสมุททชาผู้เป็นธิดาของเราแก่พระยานาคธตรฐ จึงส่งข้ามาด้วยพระดำรัสว่า ขอท่านอย่ากระทำการเนิ่นช้า จงส่งบุรุษทั้งหลายไปกับข้า และกำหนดวันรับนางทาริกาเถิด” พญานาคราชนั้นยินดียิ่ง ให้กระทำสักการะแล้ว ส่งนาคมาณพ 4 ตนไปกับเต่านั้น แล้วรับสั่งว่า “พวกท่านไปเถิด จงฟังคำของพระราชา กำหนดวันแล้วจงมา” นาคมาณพเหล่านั้น รับคำสั่งแล้วจึงพาเต่าออกจากพิภพนาคไป

ระหว่างทางเต่าเห็นมีสระปทุม (สระบัว) สระหนึ่งอยู่ระหว่างแม่น้ำยมุนา กับกรุงพาราณสี จึงคิดจะหลบหนีไปด้วยอุบายอย่างหนึ่ง เลยกล่าวอย่างนี้ว่า

“ดูก่อนนาคมาณพทั้งหลาย ผู้เจริญ พระราชาของเรา และบุตรภรรยาของพระราชา เห็นเราเที่ยวไปในน้ำ ไปสู่พระราชนิเวศน์ อ้อนวอนว่า ท่านจงให้ดอกปทุมแก่เราทั้งหลาย จงให้รากเหง้าบัว เราจักถือเอารากเหง้าบัวเหล่านั้นเพื่อประโยชน์แก่เขาเหล่านั้นพวกท่านจงปล่อยข้า ในที่นี้ แม้เมื่อพวกท่านไม่เห็นข้า จงล่วงหน้าไปยังสำนักของพระราชา เราจักเห็นพวกท่านในที่นั้นนั่นแล” (เต่า จิตตจูฬหลอกเหล่านาคมาณพว่าจะต้องเก็บบัวไปถวายพระราชา) นาคมาณพเหล่านั้นเชื่อถ้อยคำ จึงได้ปล่อยเต่าไป

เต่าได้ทีจึงแอบอยู่บริเวณนั้น ฝ่ายนาคมาณพไม่เห็นเต่า จึงเข้าไปเฝ้าพระราชาด้วยเพศแห่งมาณพ (จำแลงเป็นชายหนุ่ม) ตามสัญญาว่า เราจักไปสำนักพระราชา (จบกัจฉปกัณฑ์ กัด-ฉะ-ปะ แปลว่าเต่า กัณฑ์ แปลว่าตอน, เรื่อง)

พระราชาทรงกระทำปฏิสันถาร (ต้อนรับ) แล้วตรัสถามว่า

“พวกท่านมาแต่ที่ไหน?” นาคมาณพทั้งหลายทูลว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า พวกข้าพระองค์มาจากสำนักของพระยานาคธตรฐ” พระราชาตรัสถามว่า “เพราะเหตุไร พวกท่านจึงมาในที่นี้” นาคมาณพทั้งหลายทูลว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า พวกข้าพระองค์เป็นทูตของพระยานาคธตรฐนั้น พระยานาคธตรฐถามถึง ความไม่มีโรคของพระองค์ และพระองค์ปรารถนาสิ่งใด ท่านจะให้สิ่งนั้นแก่พระองค์ ข่าวว่า พระองค์จะประทานนางสมุททชา ผู้เป็นพระธิดาของพระองค์ให้เป็นบาทปริจาริกาของพระราชาของพวกข้าพระองค์ ดังนี้แล้ว”

เมื่อจะประกาศความนั้น จึงกล่าวคาถาที่หนึ่งว่า “รัตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง มีอยู่ในนิเวศน์ของท้าวธตรฐ รัตนะทั้งหมดนั้นจงมาสู่พระราชนิเวศน์ของพระองค์ ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาโปรดประทาน พระราชธิดาแก่พระราชาของข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า”

ครั้นพระราชาได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า “พวกเราไม่เคยทำการวิวาห์กับนาคทั้งหลาย ในกาลไหนๆ เลย พวกเราจะทำวิวาห์อันไม่สมควรนั้นได้อย่างไรเล่า พวกเราเป็นชาติมนุษย์จะกระทำ ความสัมพันธ์กับสัตว์ดิรัจฉานอย่างไรได้” พวกนาคมาณพได้ฟังคำดังนั้นแล้วจึงกล่าวว่า “ถ้าความสัมพันธ์กับพระยานาคธตรฐ ไม่เหมาะสมกับท่าน เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไร ท่านจึงส่งเต่าชื่อว่า จิตตจูฬ ผู้อุปฐากของตนไปเป็นทูตแก่พระราชาของพวกเราว่า เราจะให้ธิดาของเราชื่อว่า สมุททชา เล่า ครั้นส่งสาสน์อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อท่านกระทำการดูหมิ่นพระราชาของพวกเรา พวกเราแลชื่อว่าเป็นนาคมาณพ จักรู้กรรมที่ควรกระทำแก่ท่าน” เมื่อจะข่มขู่พระราชา นาคมานพจึงกล่าวว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่กว่ามนุษย์ พระองค์จำต้องทรงสละพระชนม์ชีพ หรือแว่นเคว้นเสียเป็นแน่ เพราะเมื่อพวกนาคโกรธแล้ว คนทั้งหลาย เช่นพระองค์จะมีชีวิตอยู่นานไม่ได้ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พระองค์เป็นมนุษย์ไม่มีฤทธิ์ มาดูหมิ่นพวกพระยานาค ธตรฐ ผู้มีฤทธิ์ ผู้เป็นบุตรของท้าววรุณนาคราช เกิดภายใต้แม่น้ำยมุนา”

เมื่อพระราชาได้ยินคำขู่นั้น จึงกล่าวว่า “เราไม่ได้ดูหมิ่นท้าวธตรฐผู้เรืองยศ ก็ท้าวธตรฐ ผู้เป็นใหญ่กว่านาคแม้ทั้งหมด ถึงจะเป็นพระยานาคผู้มีอานุภาพมาก ก็ไม่สมควรกะธิดาของเรา เราเป็นกษัตริย์ของชนชาววิเทหรัฐ (เมืองใหญ่เมืองหนึ่ง)

และนางสมุททชาธิดาของเราก็เป็นอภิชาต” (กำเนิดดีมีตระกูล)

พวกนาคมาณพได้ฟังดังนั้นแล้ว แม้ประสงค์จะฆ่าพระองค์ด้วยลมในนาสิก ในที่นี่ก็ตาม แต่ก็ฉุกคิดได้ว่า พวกเราถูกพระราชาส่งมาเพื่อให้กำหนดวัน การที่เราจะฆ่าพระราชานี้แล้วกลับไปเป็นการไม่สมควรเลย พวกเราจักกลับไปกราบทูลพระราชาของตนตามนี้ จึงออกจากราชนิเวศน์แล้วดำลงแผ่นดินไปสู่นาคพิภพ

พญาธตรฐนาคราชจึงถามว่า “พ่อทั้งหลาย พวกท่านได้ราชธิดาแล้วหรือ?” ด้วยความโกรธต่อพระราชามนุษย์ นาคมานพจึงกราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ส่งพวกข้าพระองค์ ไปในที่ใดที่หนึ่ง เพราะเหตุอันไม่สมควรอะไรเลย ถ้าพระองค์ปรารถนาจะฆ่า พระองค์จงฆ่าพวกข้าพระองค์เสียในที่นี้แหละ พระราชานั้นด่าบริภาษพระองค์ ยกธิดาของตนขึ้นด้วยความเมาในชาติ” (บอกว่าพระราชาด่าทอพญาธตรฐนาคราช แล้วยกยอปอปั้นพระธิดาของตนว่าไม่เหมาะสมกับนาค) เมื่อพญานาคราชได้ยินดังนั้น จึงโกรธกริ้วเป็นอย่างมาก สั่งพวกนาคทั้งหลายที่อยู่ในปกครองมาประชุมกันในทันที

เมื่อพวกนาคทั้งหมดมาประชุมกันแล้ว ทูลถามว่า “พวกข้าพระองค์จะทำอย่างไร พระเจ้าข้า” พระองค์จึงตรัสว่า “นาคของเราทั้งหมดจงรีบไปกรุงพาราณสี” และเมื่อพวกนาคเหล่านั้นกล่าวว่า “พวกข้าพระองค์ไปในที่นั้นจะพึงทำอย่างไร พระเจ้าข้า อย่างไรพวกข้าพระองค์จะทำให้เป็นขี้เถ้า โดยการประหารด้วยพ่นลมทางนาสิก” (คือจะพ่นลมจมูกให้ราบไปเลยประมาณนั้น) พญานาคราชไม่ปรารถนาความพินาศแก่นางสมุททชา เพราะมีจิตปฏิพัทธ์ในราชธิดา จึงตรัสว่า “บรรดาพวกท่านบางพวก อย่าพึงเบียดเบียนใครๆ” พวกนาคจึงกล่าวกับพระราชาว่า “ข้าแต่มหาราช ถ้าไม่เบียดเบียนมนุษย์บางคน พวกเราไปในที่นั้น แล้วจะกระทำอะไร?” พญานาคราชจึงตรัสกับพวกนาคนั้นว่า “พวกนาคทั้งหลาย จงแผ่พังพานห้อยอยู่ที่บ้านเรือนในสระน้ำ ที่ทางเดิน ที่ทาง 4 แพร่ง บนยอดไม้ บนเสาระเนียด (แนวเสารั้ว เสาค่าย) และอย่าแสดงตนแก่คน 4 คน คือ เด็กหนุ่ม คนแก่ชรา หญิงมีครรภ์ และนางสมุททชา แม้เราก็จะไปด้วยร่างกายอันใหญ่ขาวล้วน วงล้อมเมืองกาสีไว้โดยรอบ 7 ชั้น ปิดด้วยพังพานใหญ่ กระทำให้มืดมนเป็นอันเดียวกัน ให้เกิดความกลัวแก่ชนชาวกาสี”

นาคทั้งหลายได้ฟังคำของท้าวธตรฐแล้ว จึงแปลงเพศเป็นหลายอย่าง แล้วพากันเข้าไปยังกรุงพาราณสี แต่มิได้เบียดเบียนใครเลย แผ่พังพานห้อยอยู่ที่บ้านเรือน ในสระน้ำ ที่ทางเดิน ที่ทาง 4 แพร่ง บนยอดไม้ เหล่าสตรีได้เห็นนาคเหล่านั้น แผ่พังพานห้อยอยู่ ตามที่ต่างๆ หายใจฟู่ๆ ก็พากันร้องคร่ำครวญ ชาวเมืองพาราณสีมีความตื่นตระหนก เดือดร้อนจึงพากันไปประชุม กอดอกร้องทุกข์ต่อพระราชาของตนว่า “ขอพระองค์ จงพระราชทานพระราชธิดา แก่พระยานาคเถิด”

ครั้นราตรีสว่าง เมื่อนครทั้งสิ้นและพระราชนิเวศน์ ถูกปกคลุมด้วยลมหายใจเข้าออกของพวกนาค มนุษย์ทั้งหลายพากันกลัว ดังนี้แล้ว พระราชาจึงส่งทูตไปถึงท้าวธตรฐนาคราชว่า “จะให้ธิดาของเราแก่ท่าน” เมื่อพญานาคราชได้ฟังพระดำรัสดังนั้นแล้ว ก็เดินทางไปยังที่ห่างจากเมืองประมาณหนึ่งคาวุต (100 เส้น เป็น 1 โยชน์ = 16 กิโลเมตร) แล้วเนรมิตนครขึ้นแห่งหนึ่ง พร้อมส่งเครื่องราชบรรณาการไปสู่ขอพระธิดา พระราชารับไว้และกล่าวว่า “พวกท่านจงไปเถิด เราจักส่งธิดาไปใน ความคุ้มครองของพวกอำมาตย์ของเรา” แล้วรับสั่งให้เรียกธิดามาให้ขึ้นสู่ปราสาทชั้นบน ให้เปิดสีหบัญชร (หน้าต่างเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกรับแขกเมือง) แล้วให้สัญญาว่า “ดูก่อนแม่ เจ้าจงดูนครอันตบแต่งแล้วนี้ เจ้าเป็นอัครมเหสีของพระราชานี้ ในที่นครนั้นไม่ไกลแต่ที่นี้ เมื่อเวลาเจ้าเกิดความเบื่อหน่ายนครนั้นขึ้นมา เจ้าสามารถจะมาในที่นี้ได้ เจ้าพึงมาในที่นี้” กล่าวแล้วให้สนานศีรษะ ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง ให้นั่งในวอที่ปกปิดแล้ว ได้ประทานส่งไปในความคุ้มครองของอำมาตย์ของพระองค์

พญานาคราชและบริวารทั้งหลายกระทำการต้อนรับพระราชธิดา แล้วได้กระทำมหาสักการะ อำมาตย์ทั้งหลายเข้าไปสู่พระนคร ถวายพระราชธิดานั้นแก่ท้าวเธอ และได้ถือเอาทรัพย์เป็นอันมากกลับออกมา พญานาคราชธตรฐให้พระธิดาขึ้นสู่ปราสาท ให้นอนบนที่นอนอันเป็นทิพย์ที่ประดับไว้ ในขณะนั้นนั่นเอง พวกนาคมาณพ แปลงเพศเป็นหญิงคนค่อมและคนเตี้ยเป็นต้น แวดล้อมพระธิดาเหมือนพวกบริจาริกาของมนุษย์ (คนรับใช้) พระธิดาพอนอนบนที่นอนอันเป็นทิพย์ เอนพระวรกายต้องสัมผัสอันเป็นทิพย์เท่านั้น ก็ก้าวลงสู่ความหลับ ท้าวธตรฐจึงพาพระธิดา พร้อมบริษัทนาคหายไปจากที่แห่งนั้น และไปปรากฏในพิภพนาค เมื่อพระราชธิดาตื่นขึ้น ทรงทอดพระเนตรที่บรรทม อันเป็นทิพย์ที่ตบแต่งไว้ และที่อื่นเช่นปราสาท อันสำเร็จด้วยทองคำและสำเร็จด้วยแก้วมณี พระอุทยานและสระโบกขรณีในภพนาค เหมือนเทพนครที่ตบแต่งไว้ จึงตรัสถามหญิงรับใช้ที่จำแลงกายว่า

“นครนี้ช่างตบแต่งเหลือเกิน ไม่เหมือนนครของเรา นครนั่นเป็นของใคร” หญิงบำเรอทูลว่า “ข้าแต่พระเทวี นั่นเป็นของพระสวามีของพระนาง พระเจ้าข้า ผู้ที่มีบุญน้อย ย่อมไม่ได้สมบัติ เห็นปานนี้ ท่านได้สมบัตินี้ เพราะท่านมีบุญมาก” ฝ่ายท้าวธตรฐรับสั่งให้ ตีกลองร้องประกาศไปในนาคพิภพประมาณ 500 โยชน์ว่า ผู้ใดแสดงเพศงู แด่พระนางสมุททชา ผู้นั้นจักต้องราชทัณฑ์ เพราะความสำคัญว่าเป็นโลกมนุษย์ พระนางจึงชื่นชมยินดีกับท้าวธตรฐในที่นั้นนั่นเอง อยู่สังวาสด้วยความรักด้วยอาการอย่างนี้ (จบนครกัณฑ์ จบตอนของเมือง)

ครั้นต่อมา พระนางสมุททชาทรงครรภ์ประสูติพระโอรส ทั้งหมด 4 พระองค์ องค์แรกพวกพระญาติได้ตั้งชื่อว่า “สุทัสสนะ” เพราะเห็นแล้วให้เกิดความรัก ในเวลาพระโอรสทรงดำเนินเดินได้ พระนางประสูติพระโอรสอีกองค์หนึ่ง นามว่า “ทัตตะ” (พระโพธิสัตว์ได้ถือกำเนิดแล้วในนามนี้) องค์ที่สามนามว่า “สุโภคะ” และองค์สุดท้องนามว่า “อริฏฐะ” ซึ่งแม้พระนางประสูติพระโอรส 4 พระองค์แล้ว ก็ยังไม่รู้ว่าที่ตนอยู่นั้นเป็นภพของนาค

ต่อมาวันหนึ่งพวกนาคหนุ่มบอกแก่พระโอรสอริฏฐะองค์สุดท้องว่า พระมารดาของพระองค์เป็นมนุษย์ ไม่ใช่เป็นนางนาค พระโอรสอริฏฐะ คิดว่า เราจะทดสอบพระมารดานั้น ครั้นวันหนึ่งเมื่อเสวยนมจึงนิรมิตสรีระเป็นงู เอาปลายหาง เสียดสีหลังเท้าพระมารดา พระนางเห็นร่างงูของพระโอรสอริฏฐะ จึงตกพระทัยสะดุ้งกลัวแล้วกรีดร้อง ทิ้งพระโอรสไปที่ภาคพื้น นัยน์ตาของพระโอรสนั้นแตกไปเพราะเล็บของนางเกี่ยวโดนเข้า หลังจากนั้นโลหิตก็ไหล พระราชาทรงสดับเสียงของพระนาง จึงตรัสถามว่า นั่นเสียงกรีดร้องของใคร เมื่อทราบและทรงสดับกิริยาที่พระโอรสอริฏฐะกระทำ จึงสั่งให้ประหารพระโอรสอริฏฐะนั้นเสีย

เมื่อพระนางสมุททชาทรงทราบว่า ท้าวธตรฐนาคราชทรงกริ้วพระโอรส จึงตรัสด้วยความสิเนหาในบุตรแห่งตนว่า

“พระเจ้าข้า นัยน์ตาบุตรของหม่อมฉันแตกไปแล้ว ขอพระองค์จงงดโทษให้แก่บุตรของหม่อมฉันเถิด” ท้าวธตรฐนาคราชเมื่อได้ฟังพระนางตรัสอย่างนั้น จึงตรัสตอบว่า “เราไม่อาจทำอะไรได้ จึงงดโทษให้” ก็ในวันนั้นเอง พระนางจึงได้ทราบว่า ที่แห่งนี้เป็นพิภพนาค ความเดิมแต่นั้นมา พระโอรสนามว่า อริฏฐะ ได้ชื่อว่า “อริฏฐะบอด” หรือเรียกกันในนาม

---------------------


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ 
พญานาค จากตำนานสู่ความเชื่อ
ดูรีวิวและช่องทางการสั่งซื้อ << คลิก >> 👇



ผู้เขียนอนุญาตให้ Copy หรือ แชร์บทความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ในช่องทางของตัวเองได้ แต่ขอความกรุณาให้เครดิต หรือแนบลิงก์สั่งซื้อหนังสือให้ด้วยจักขอบพระคุณยิ่งครับ

(ไม่อนุญาตให้จัดพิมพ์หรือจำหน่ายในเชิงพาณิชย์นะครับ)


#พญานาค #ความเชื่อเรื่องพญานาค #ตำนานพญานาค #พญานาคลุ่มน้ำโขง #พญานาคประเทศลาว #พญานาคเขมร #ศรีสุทโธนาคราช #อนันตนาคราช #ภุชงค์นาคราช #สุวรรณนาคราช #เมืองสุวรรณโคมคำ #เมืองศรีสัตตนาคนหุต

ความคิดเห็น

คนชอบอ่าน

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ วานส์” (QUEEN OF WANDS)

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ เพนตาเคิลส์” (QUEEN OF PENTACLES)

ความหมายของไพ่บุคคล คิง ออฟ คัพส์ (KING OF CUPS)

ความหมายของไพ่ "เดอะ เวิลด์" (THE WORLD) สอนอ่านไพ่ยิปซี