หญ้าหวาน พืชสมุนไพรให้ความหวานแทนน้ำตาลอย่างปลอดภัย #สายสุขภาพ
หญ้าหวาน เป็นพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stevia Rebaudiana Bertoni เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศบราซิล และได้มีการค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกาใต้ เมื่อปี 1887 คือ 113 ปีมาแล้ว โดยแรกเริ่มเดิมที ชาวปารากวัย ใช้สารหวานชนิดนี้ ผสมชากินมากว่า 150 ปี ซึ่งหลังจากที่มีการค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ ประเทศญี่ปุ่น ก็นำมาใช้อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ปี 1982 และสำหรับประเทศไทย มีการนำพันธุ์หญ้าหวานมาปลูกเมื่อปี พ.ศ.2518 ซึ่งบริเวณที่พบว่าปลูกกันมากคือ จังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, ลำพูน, พะเยา และน่าน เพราะเป็นพืชเมืองหนาว และจะเจริญเติบโตได้ดีที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 600-700 เมตร
หญ้าหวานจัดอยู่ในวงศ์ Astcraceac เป็นพืชล้มลุกระยะยาว มีลักษณะคล้ายต้นกระเพราหรือแมงลักในบ้านเรา ในใบสมุนไพรหญ้าหวาน มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระเช่นเดียวกันกับใบชาเขียว แต่มีจุดเด่นในเรื่องของความหวานจากธรรมชาติ ซึ่งเมื่อเทียบเท่ากับน้ำตาลแล้ว ใบหญ้าหวานมีความหวานมากว่าถึง 10-15 เท่าเลยทีเดียว และเมื่อผ่านกระบวนการสกัดเพื่อให้ได้สารสกัดหญ้าหวาน หรือที่รู้จักกันในชื่อ "Stevioside และ Rebaudioside" ซึ่งเป็นสารประเภท ไกลโคไซด์ (Glycosides = เป็นสารประกอบอินทรีย์กลุ่มสำคัญที่ได้จากการสกัดพืชชั้นสูง) ซึ่งสารสตีวิโอไซด์ชนิดนี้ มีข้อดีมากว่าน้ำตาลหลายด้าน เช่น ไม่ทำให้ฟันผุ สามารถทนความร้อนและกรด ไม่ทำให้อาหารเกิดสีน้ำตาลเมื่อผ่านความร้อนสูง ๆ สามารถนำมาปรุงอาหารร้อนบนเตาได้ ไม่ถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ เพราะฉะนั้น เมื่อนำมาประกอบอาหารบางชนิด จะไม่ทำให้เกิดการบูดเน่า และที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่ควบคุมน้ำหนัก หรือผู้ที่เป็นเบาหวานคือ ไม่ถูกดูดซึมในระบบการย่อย จึงไม่ให้พลังงาน ทานเท่าไหร่ก็ไม่อ้วนนั่นเอง
ผลสรุปด้านงานวิจัยของหญ้าหวาน
หญ้าหวานที่ถูกนำมาใช้กันในเวลายาวนานนับแต่อดีต จนกระทั่งแพร่หลายมากขึ้น เมื่อมีความนิยมมากขึ้น จึงมีการเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านลบของหญ้าหวานในปี 1985 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อ John M. Pezzuto และคณะ ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวได้ถูกตีพิมพ์ลงวารสาร Proc. Nati. Acad. Sci. โดยระบุว่าหญ้าหวานนั้นอันตราย เพราะทำให้เกิดการ Mutagenic หรือ การกลายพันธุ์สูงมากในหนูทดลอง สืบเนื่องจากผลงานวิจัยนี้เอง ทำให้องค์การอาหารและยาของสหรัฐ หรือ FDA ออกมาประกาศว่าหญ้าชนิดนี้ไม่ปลอดภัย ห้ามใช้เป็นสารปรุงแต่งในอาหาร ทำให้ส่งผลกระทบเป็นวงศ์กว้างไปทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย
งานวิจัยดังกล่าว ได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์อีกท่านหนึ่ง ชื่อ Emily Procinska ได้ค้นคว้าศึกษาต่อ และทำให้ทราบว่า ผลงานวิจัยของ John M. Pezzuto นั้นมีข้อผิดพลาด โดยทำการตีพิมพ์ผลการวิจัยของตนเองในวารสาร Mutagenesis ระบุว่า หญ้าหวานไม่มีผลทำให้เกิด Mutagenic แต่อย่างใด โดยพิสูจน์ได้จากการทำการทดลองซ้ำอยู่หลายครั้ง และยังมีงานวิจัยต่าง ๆ อีกมากมาย ที่ให้ผลการวิจัยว่า หญ้าหวานไม่มีสารพิษ หรือสารก่อมะเร็งใด ๆ แต่ถึงกระนั้น FDA ก็ยังไม่สั่งระงับการห้ามใช้หญ้าหวานแต่อย่างใด จนในที่สุด องค์การอนามัยโลก หรือ WHO (World Health Organization) ได้รายงานผลการประเมินอย่างละเอียดจากงานวิจัยต่าง ๆ และได้ระบุว่า หญ้าชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด จนในปี 2009 ที่ผ่านมา FDA ก็ได้ทำการประกาศแล้วว่า หญ้าหวานเป็นพืชที่ปลอดภัย และให้การยอมรับว่าเป็น GRAS (Generally Recognized as Safe)
ด้านงานวิจัยของประเทศไทย พบว่า ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถสรุปผลการวิจัยได้ว่า สารสกัดหญ้าหวานมีความปลอดภัยในทุก ๆ กรณี โดยค่าสูงสุดที่รับประทานได้อย่างปลอดภัยคือ 7.938 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับการผสมในเครื่องดื่ม ประมาณ 73 แก้วต่อวัน ซึ่งคนทั่วไปบริโภคเพียง 1-2 แก้วต่อวันเท่านั้น
สำหรับรสชาติของหญ้าหวานนั้น หลายคนที่พึ่งเคยบริโภคจะรับทราบว่าหวานแปล๊บ ๆ ไม่เหมือนน้ำตาลทั่วไป และมีกลิ่นคล้ายใบหญ้า นั่นเป็นเพราะรสสัมผัสถึงความเป็นสมุนไพรที่ออกมาจากใบหญ้าหวานนั่นเอง แต่เมื่อนำมาปรุงอาหารอย่างถูกวิธีแล้ว ก็สามารถสร้างเมนูหลากหลายได้ หรือจะชงเป็นชาดื่มเพื่อสุขภาพ ก็ได้เช่นกัน
สรรพคุณของหญ้าหวานตามข้อมูลทางวิชาการ
1. สมุนไพรใบหญ้าหวาน ช่วยเพิ่มพละกำลัง (กระชุ่มกระชวย)
2. ช่วยบำรุงโลหิต
3. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
4. ช่วยลดไขมันในเลือด
5. ช่วยบำรุงตับอ่อน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น