แชร์ประสบการณ์ป้อนกล้วยน้ำว้ากระรอกน้อย อายุเดือนเศษ #สายทาส Cutie

วันนี้จะมาเล่าประสบการณ์การเลี้ยงกระรอกนะครับ คลิปนี้บันทึกเมื่อ 5 สิงหาคม 2562 ตอนนั้นเจ้าเฮอร์ไมล์ กระรอกน้อย อายุได้เดือนเศษ ๆ เอาจริง ๆ มาเล่าเรื่องน้องก็อดคิดถึงไม่ได้นะ ป่านนี้ไม่รู้จะไปอยู่ส่วนไหนของป่า พอดีผมย้ายมาอยู่บ้านสวนครับ แล้วก็แรก ๆ เลี้ยงแบบกรงบ้าง ปล่อยบ้าง จากกระรอกที่เคยอยู่แต่ในคอนโด นางก็จะตื่นเต้นเป็นธรรมดา แต่ไม่เคยออกห่างกรงครับ วิ่งเล่นแค่ในกรง เพราะเค้าติดเรา ติดกรงเค้า แต่พอเค้าเริ่มสนุก เค้าก็จะไปไกลขึ้น วิ่งหายไปนานขึ้น และเริ่มที่จะปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ ติดกับสวนบ้านผมเป็นป่าครับ พอหลังๆ หายไปเป็นวัน กลับมากินผลไม้กับนม กับน้ำ แล้วก็หายไปเลย และแล้ว ก็ไปทำรังบนต้นไม้ แวะมาแค่เช้ากับเย็น จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ไม่มาให้เห็นเลย 555 ถามบ้านใกล้เคียงแล้วเค้าก็บอกว่า เห็นบ้าง มันกระโดดล่อหมาเล่น ก็คิดถึงครับ เล่าสู่กันฟัง แต่การที่เราเลี้ยงเค้าแล้วจะขังอยู่แต่ในห้องในบ้าน ผมก็สงสาร กระรอกเป็นสัตว์ป่า เค้ารักธรรมชาติของเค้า ไอ้ครั้นว่ากลัวมั๊ย ที่น้องต้องไปผจญกับลูกปืนนักล่าสัตว์ กลัวนะครับ แต่มีโอกาสมาอยู่ตรงนี้แล้ว ก็เซฟที่สุดคือ ฝากบอกปากต่อปากว่า ถ้ามันไปกวนบ้านใคร หรือสวนใคร ให้มาบอก เราจะไปเอามันกลับเข้ากรง 

เลยเรื่องราวที่จะเล่าสู่กันฟังไปเสียแล้วนะครับ จริง ๆ บทความนี้จะมาแชร์ เพราะหลายคนก็สงสัยว่า กระรอกตัวน้อย ๆ กินกล้วยได้ไหม บางคนบอกท้องจะอืด บางคนบอกว่าดี ถ้าเอาด้วยประสบการณ์ตรงของผม จากการเลี้ยงกระรอก 2 ตัว ตัวนึงก็เจ้าเฮอร์ไมล์ ตามคลิป อีกตัวคือเจ้ารอน กระรอกดงตัวแสบ เจ้ารอนนี่ไปก่อนเพื่อนเลย ชอบป่ามาก และปราดเปรียวกว่าเฮอร์ไมล์ สาเหตุเพราะผมประคบประหงมไม่เหมือนกัน เฮอร์ไมลน์นี่พกติดตัว ติดกระเป๋าห้อยคอไปตลอด ส่วนเจ้ารอนเลี้ยงแบบกระรอกคอนโด ขี้ระแวงตามสัญชาติญาณของเค้าตั้งแต่เด็ก น่าจะเพราะคนที่จับมาขายอาจจะทำให้เค้ากลัวจนเป็นนิสัย ซึ่งนั่นคือข้อดีของการเอาตัวรอดของเจ้ารอน  

สำหรับการป้อนกล้วยนะครับ ถ้าจะเริ่มจริง ๆ ก็น่าจะกระรอกอายุเดือนครึ่งกำลังดี ค่อย ๆ ปรับท้อง จากที่เราให้นมแพะ หรือนมทดแทนสัตว์เล็กมาโดยตลอด 1 เดือนกว่า ตรงนี้ต้องขออธิบายด้วยนะครับว่า บางทีไปซื้อมาจากร้าน ร้านจะป้อนซีลีแลคให้กระรอกมาโดยตลอด อาจจะ 1-3 อาทิตย์ หรือตัวใหญ่หน่อยก็ตาม ถามว่าน้องปลอดภัยดี แต่จะไม่ได้สารอาหารที่เหมาะสม โตขึ้นก็จะแกร็น ขนไม่สวย ไม่แข็งแรง เพราะซีลีแลคไม่ช่วยพัฒนาร่างกาย ดังนั้นแพทย์จึงแนะนำนมแพะสำหรับสัตว์เล็ก (แบบซองชงถูกหลักอนามัยนะครับ ไม่ใช่แบบขวดเซเว่น) หรือนมทดแทนสัตว์เล็ก แต่ไอ้ครั้นจะเปลี่ยนไปเลยจากที่ร้านเค้าเลี้ยงมาแบบนั้น ก็ไม่ได้อีกนะครับ เพราะเดี๋ยวน้องจะปรับท้องไม่ทัน ให้ค่อย ๆ ปรับไปทีละนิด ๆ ต้องสังเกตุอึน้องด้วยว่า อย่างสมมุติหลอดแรก ลดซีลีแลคลง 90% ผสมนมแพะแทนไป 10% น้องถ่ายเหลวมีกลิ่นหรือเปล่า ถ้ามี ก็ต้องรีบกลับไปป้อนซีลีแลค เพราะน้องปรับท้องไม่ได้ ท้องเสีย  แต่ถ้าไม่เป็นไร ก็ป้อนแบบนี้ไปสัก 2-3 วัน แล้วค่อย ๆ ลดลงเป็น ซีลีแลค 80% นมแพะ 20% ปรับไปเรื่อย ๆ จนท้องกระรอกเข้าที่ ก็ใช้นมแพะ หรือนมทดแทนสัตว์เล็ก 100% ไปจนโตได้เลย

ในส่วนของกล้วยน้ำว้านะครับ พออายุเดือนกว่า ๆ ป้อนกล้วยน้ำว้าสุกงอมเท่านั้น กระรอกน้อยจะได้สารอาหารที่มีประโยชน์ที่สุด และน้องจะฝึกการกินด้วยปาก ให้วันละมื้อพอ ตอนเที่ยง ส่วนมื้อเช้า เย็น ค่ำ ให้นมเหมือนเดิมไปก่อนนะครับ สังเกตุได้ว่าพอน้องเริ่มกินกล้วยน้ำว้าสุก น้องจะเริ่มถ่ายเป็นก้อนแต่ไม่แข็ง ถ้าถ่ายแข็งหยุดกล้วยทันทีนะครับ เดี๋ยวท้องอืด 

นี่ก็เป็นเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ นะครับ สำหรับคนรักกระรอก สามารถติดตามบทความต่อไปพร้อมคลิปประกอบได้ที่นี่ "บันทึกตามสาย.com" หมวดหมู่บทความ "สายทาส cutie" นะครับ ไว้จะอัพเดทเรื่อย ๆ ครับผม




ความคิดเห็น

คนชอบอ่าน

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ วานส์” (QUEEN OF WANDS)

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ เพนตาเคิลส์” (QUEEN OF PENTACLES)

ความหมายของไพ่บุคคล คิง ออฟ คัพส์ (KING OF CUPS)

ความหมายของไพ่ "เดอะ เวิลด์" (THE WORLD) สอนอ่านไพ่ยิปซี