ตำนานลี้ลับ "หล่มภูเขียว" จ.ลำปาง



หล่มภูเขียวตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ประติมากรรมธรรมชาติที่เกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลก หรือชั้นหินปูน ซึ่งเดิมทีอาจเคยเป็นโพรงถ้ำมาก่อนก็เป็นได้ เมื่อเพดานถ้ำชั้นบนยุบตัวลงจึงกลายเป็นจุดรับน้ำ เรียกปรากฎการณ์นี้ว่า "หลุมยุบ" นักวิชาการคาดว่ามีอายุมากกว่า 280 ล้านปี ชาวบ้านเดินป่าเข้าไปพบเป็นเป็นแหล่งน้ำสีเขียวมรกตสวยงาม จึงเรียกกันว่า "หล่มภูเขียว" แต่หลายคนหารู้ไม่ว่า หล่มภูเขียว มีตำนานเร้นลับซ่อนอยู่มากมาย ทั้งเรื่องราวของพญางูใหญ่ หรือพญานาคเฝ้าแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ หรือเรื่องเล่าขานความอาถรรพ์ของป่าแห่งนี้



หล่มภูเขียวตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ตำบลบ้านอ้อน อำเภองาว จังหวัดลำปาง มีลักษณะเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ที่เกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลก ล้อมรอบด้วยภูเขาหินปูนสูงชันและป่าดิบแล้ง น้ำในหล่มมีสีเขียวมรกตและความลึกที่ไม่สามารถหยั่งถึงได้ โดยเคยมีการสำรวจโดยการดำน้ำลงไป 42 เมตร แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงก้นหลุมได้


ชาวบ้านมีความเชื่อว่า "หล่มภูเขียว" เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถนำมาใช้ดื่มกินและอธิษฐานขอให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ และนำไปใช้ในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านตามความเชื่อสืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน ​นอกจากนี้ ยังมีข้อห้ามที่ชาวบ้านยึดถือ เช่น ห้ามลงเล่นน้ำ ห้ามจับปลาในบ่อ และห้ามให้อาหารปลา เนื่องจากเชื่อว่าอาจเกิดอันตรายหรือเภทภัยขึ้นได้



ชาวบ้านเชื่อว่า "หล่มภูเขียว" เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่มี พญางูใหญ่ อาศัยอยู่ จึงมีการทำพิธีบูชาน้ำเป็นประจำทุกปี โดยในอดีต ชาวบ้านจะนำขันข้าวพร้อมดอกไม้ ธูป เทียน วางบนขอนไม้แล้วลอยไปกลางลำน้ำเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบึงน้ำ  มีเรื่องเล่าว่า ขอนไม้ที่ลอยไปกลางน้ำจะจมลงไปใต้น้ำแล้วลอยขึ้นมา โดยที่เทียนยังไม่ดับ สร้างความประหลาดใจและเสริมความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของแหล่งน้ำแห่งนี้



ในด้านของการท่องเที่ยวนะครับ ที่นี่มีการจัดสรรค์ที่ดี ทั้งเรื่องของสถานที่จอดรถ, ห้องน้ำบริการ รวมถึงการสร้างกิจกรรมให้กับชุมชนโดยการเปิดห้างร้าน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร, เครื่องดื่ม หรือของฝาก เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้อะไรกลับไปมากกว่าการเดินเข้าไปชมหล่ม (ปัจจุบัน 2568 ซบเซาเบาบาง ร้านค้าอยู่ไม่ได้เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวไม่แน่นอน) 
และในความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่มีกิจกรรมอะไรมากไปกว่าการเดินสำรวจธรรมชาติและเข้าชมหลุมยุบ ดังนั้น จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า "เข้าไปเที่ยวที่นี่แล้ว ไม่มีอะไรเลย?" นั่นเพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ไม่ได้ให้ความสำคัญในการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา หรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ อาจจะเพราะการขับรถเข้าไปค่อนข้างไกล และไปถึงก็เพียงแค่ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก และไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการเดินทางที่คุ้มค่าแต่อย่างใด



และอีกหนึ่งข้อเสียของการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ให้แยกออกจากความเชื่อพื้นบ้าน ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เช่นการตั้งศาลบูชาพ่อปู่หล่มภูเขียว (พญางู) บริเวณต้นทางก่อนลงไปชมหลุมยุบ หากมีการทำพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้ ก็จะมีควันธูปลอยเต็มไปหมด ส่วนตัวผู้เขียนเคยไปพบกลุ่มคนชุดขาว ที่รวมตัวกันมานั่งสวดมนต์เสียงดัง อีกทั้งยังกรีดร้องเพราะเชื่อว่าตนถูกพญางูสิงร่าง ทำท่าทางลักษณะเลื้อยคลานลงกับพื้น ซึ่งเป็นภาพที่ไม่สมควรเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวใด โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา หรือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมก็ตาม 

ดังนั้น ในความคิดเห็นส่วนตัว ควรแยกออกให้ชัดเจน ระหว่างแหล่งท่องเที่ยว กับที่กราบไหว้สักการะบูชาตามความเชื่อ การนำมาปะปนกัน ทำให้เสน่ห์ของประติมากรรมธรรมชาติดูไม่น่าสนใจในมุมมองของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสักเท่าใดนัก ซึ่งก็เป็นความฉงนใจของผู้เขียนพอสมควรว่า ตกลงจะจัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวประเภทไหนกันแน่ ตรงทางขึ้นก็มีจุดขายดอกไม้ธูปเทียน จะเป็นวัดก็ไม่ใช่ สถานที่ทางศาสนาก็ไม่ใช่ มองได้เพียงเป็นสถานที่ทางความเชื่อส่วนบุคคล เป็นการลงทุนที่เสียปล่าวอีกครั้งสำหรับการผลักดันสถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง ที่ทำทิ้ง ปล่อยรก ไม่สานต่อเพราะไม่มีการวางแผนและจัดการที่ดีพอ ทั้งที่เส้นอำเภองาว สามารถจัดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ได้มากมายเลยทีเดียว

สำหรับเรื่องเล่า ความเชื่อต่าง ๆ นั้น ผมได้ถ่ายทอดไว้ทั้งหมดแล้วในคลิปวีดีโอนี้ ขอให้ใช้วิจารณญาณในการฟังด้วยนะครับผม


ความคิดเห็น

คนชอบอ่าน

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ วานส์” (QUEEN OF WANDS)

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ เพนตาเคิลส์” (QUEEN OF PENTACLES)

ความหมายของไพ่บุคคล คิง ออฟ คัพส์ (KING OF CUPS)

ความหมายของไพ่ "เดอะ เวิลด์" (THE WORLD) สอนอ่านไพ่ยิปซี