เที่ยวสังขละบุรีครบจบในหน้าเดียว เที่ยวกาญจนบุรีช่วงโควิดปี 63 #สายเที่ยว ep.2/2
บันทึกเรื่องราวการเดินทางในช่วงโควิดปี 63 กับ สายเที่ยว ep.2/2 วันนี้เราจะพาทุกท่านไปรู้จักกับสังขละบุรีแบบเจาะลึกถึงแก่นของเมืองสามประสบแห่งนี้ครับ
ตอนที่แล้ว เราพาทุกท่านไปเที่ยวตลาดทองผาภูมิ กับที่พักสุดชิลล์ "สวนริมแคว รีสอร์ท" กันแล้วนะครับ สำหรับตอนนี้ เราจะพาท่านเดินทางต่อเพื่อเข้าสู่เมืองสามประสบ "สังขละบุรี" ในวันที่สองของการเดินทางทริปนี้กันครับ
สังขละบุรี (Sangkhlaburi)
พอกล่าวถึงสังขละบุรี หลายคนก็จะถึงบางอ้อว่า "อ๋อ ไปมาแล้ว ถ่ายรูปบนสะพานมอญ ใส่บาตรพระตอนเช้า อากาศดีมวกกกก" แต่ผมอยากจะบอกแบบนี้นะครับว่า อากาศและธรรมชาติ ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ จากเดิม สังขละบุรี แทบจะเรียกได้ว่าเป็นเมืองสามหมอกเลยก็ว่าได้ เพราะทุกฤดูกาลในตอนเช้า หมอกจะลง กลางคืนอากาศจะเย็นฉ่ำ แต่ในปัจจุบัน ถ้าเป็นหน้าร้อน บอกเลยว่า "อย่า ไป เด็ด ขาด" 555 เพราะมันร้อนมากครับ กลางวันนี่แทบหาที่เที่ยวไม่ได้เลย แต่ แต่ แต่ อย่าพึ่งใจร้อน วันนี้ผมมีวิธีเที่ยวหน้าร้อนมาฝากกันเช่นเคยแหล่ะครับ ลองเก็บไว้พิจารณากันดูนะฮะ
เมื่อกล่าวถึงสังขละบุรี ภาพแรกที่ตัดเข้ามาให้หัวของทุกท่านนั่นคือที่ไหนครับ? ... ตอบ "สะพานมอญ" แน่นอน เพราะเป็นไฮไลท์เดียวของนักท่องเที่ยวสายเซลฟี ที่จะไปยืนถ่ายรูปเก๋ ๆ ยามเช้า หรือจะเช่าชุดมอญใส่ก็เก๋ไก๋ไปอีกแบบ แต่สะพานมอญในวันที่เราไปนี้ ช่างจะดูเงียบเหงาเสียนี่กระไร คนยังคงไม่กล้าออกเดินทาง แม้จะมีนโยบายผ่อนปรนแล้วก็ตามที ความหวาดกลัวโรคโควิดยังคงทำลายอุตสาหกรรมเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้ แต่ในสิ่งนั้นก็ทำให้เราได้เห็นความเงียบสงบ และสวยงามในอีกมุมมองหนึ่ง
เมืองสังขละบุรีแห่งนี้ เดิมตั้งอยู่ในเขื่อนเขาแหลมครับ ณ จุดที่เรียกกันว่า เมืองบาดาลนั่นเอง เหตุเพราะเมื่อมีการเวนคืนที่ดินเพื่อการสร้างเขื่อนเขาแหลม ในปี 2522 (ก่อนผมเกิด 2 ปี) ทำให้วัดวาอาราม กับชุมชนต้องย้ายขึ้นมาอยู่ในพื้นที่สูง ซึ่งก็คือสังขละบุรีในปัจจุบัน กล่าวกันว่า ชุมชนแห่งนี้ มีถึง 5 ชนชาติ ไทย, ลาว, พม่า, มอญ และกะเหรี่ยง
ทำไมผมถึงพูดว่า 5 ชนชาติ หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า มอญ กะเหรี่ยง และพม่า เดิมทีเป็นคนละชาติ คนละเชื้อสายกัน หากแต่เมื่อพม่าได้รวมประเทศ ชนเผ่ากะเหรี่ยง และมอญ ก็ถูกมัดรวมไปด้วย แต่ก็ยังมีภัยสงครามที่ทำให้ชาวกะเหรี่ยง และชาวมอญ อพยพหนีมาพึ่งประเทศไทยของเรา ก็เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของเมืองสังขละบุรีแห่งนี้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมที่แตกต่างกันบ้าง แต่ก็ยังสามารถถุกหลอมรวมอยู่ ณ เมืองสังขละบุรีแห่งนี้ได้ ก็ด้วยบารมีของหลวงพ่ออุตตมะ อย่างที่ทราบกันดีครับ ท่านเป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังของเมืองสังขละบุรีในอดีต (ปัจจุบันท่านมรณภาพไปแล้ว แต่ยังคงมีสังขารอยู่ที่วัดวังก์วิเวการาม ให้สาธุชนได้กราบไหว้ขอพร)
เมื่อพูดถึงเมืองบาดาล หรือที่หลายท่านรู้จักกันว่า วัดจมน้ำ ซึ่งก็คือ วัดประจำชนชาติทั้ง 3 ครับ มีวัดกะเหรี่ยง คือ "วัดศรีสุวรรณ" วัดมอญ คือ "วัดวังก์วิเวการาม" และวัดไทย คือ "วัดสมเด็จ" ทั้งสามวันเมื่อทำการสร้างเขื่อน ได้ถูกย้ายขึ้นมาอยู่ด้านบน จึงเป็นคำเรียกขานว่า วัดเก่า วัดใหม่ นั่นเอง จุดไฮไลท์ของการนั่งเรือชมวัดใต้น้ำ ก็จะขึ้นอยู่กับว่า ท่านได้ไปเจอน้ำลึก หรือน้ำตื้น ถ้าหน้าน้ำขึ้น น้ำลึก วัดศรีสุวรรณจะจมลงไปใต้บาดาล ต้องดำน้ำลงไปเท่านั้น ในขณะที่วัดวังก์วิเวการาม อาจจะพอเดินลุยน้ำเข้าไปได้ ส่วนวัดสมเด็จจะไม่ได้จมอยู่ใต้บาดาลแต่อย่างใด เพราะอยู่บนจุดที่สูงกว่าทั้งสองวัด ดังนั้น ก่อนเดินทางควรตรวจสอบก่อนว่า ถ้าจะไปชมวัด อยากไปแบบไหน และไปช่วงไหนถึงจะไม่เสียเที่ยวนะครับ
จะว่าไปแล้ว สังขละบุรีนั้นถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชนชาติ หรือแม้กระทั่งสถานที่ท่องเที่ยว แต่ก่อนที่ผมจะเล่าว่า หน้าร้อนต้องเที่ยวแบบไหน ไปดูที่นี่กันก่อนครับ ในภาพคือเจดีย์พุทธคยา ตั้งอยู่ฝั่งมอญ ก่อนขึ้นไปวัดวังก์วิเวการามใหม่ เป็นจุดถ่ายรูปที่สวยงามมาก ๆ เพราะได้จำลองเจดีย์พุทธคยามาตั้งตระหง่านอยู่ใกล้ชายฝั่งแม่น้ำซองกาเลีย อ้อ เล่าข้ามไปนะครับว่า สาเหตุที่ชื่อเมืองสามประสบนั้น เพราะเกิดจากการที่แม่น้ำสามสาย ไหลรวมมาบรรจบกัน มีแม่น้ำซองกาเลีย หรือ ซองกาเรีย ในภาษาเรียกท้องถิ่น แม่น้ำรันตี และแม่น้ำบีคลี่ ไหลมาพบกันที่บริเวณหอระฆังของวัดวังก์เก่าที่จมน้ำ ออกไปทางแม่น้ำแควใหญ่ที่ปากแพรก และออกสู่แม่น้ำแม่กลอง ที่สมุทรสงครามนั่นเอง
อ่ะครับมาว่ากันต่อ ผมกำลังจะโม้เรื่องเจดีย์พุทธคยา คือถ้าจะมาเที่ยวสังขละบุรีนะครับ การชิลล์ ๆ อยู่ในตัวตำบลวังกะ หรือที่หลายท่านเรียกว่า ตัวเมืองสังขละบุรีนั่นแหล่ะครับ เราก็จะสามารถ เดินเที่ยวสะพานมอญ ใส่บาตรข้าวสารข้าวสุกพระในตอนเช้า เดินเล่นตลาดมอญ ชมวัฒนธรรมชุมชน ขึ้นไปไหว้สักการะเจดีย์พุทธคยา วัดวังก์วิเวการาม เป็นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่น่าประทับใจครับ หากแต่ถ้าท่านต้องการไปเที่ยวชมหมู่บ้านกะเหรี่ยง ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน จะมีด้วยกันหลายหมู่บ้าน อธิเช่น
"บ้านกองม่องทะ" อันนี้ค่อนข้างเดินทางลำบาก เพราะตัวหมู่บ้านต้องผ่านทางลูกรังเข้าไป จำเป็นต้องมีรถนำเข้าไปครับ จะปลอดภัยกว่า สามารถสัมผัสวิถีชุมชน และนำของไปบริจาคได้ครับ น้อง ๆ อยู่กันค่อนข้างอัตคัดเพราะการเดินทางเข้าออกหมู่บ้านลำบากมาก (ปัจจุบันผมไม่แน่ใจนะครับว่า ทางการเยียวยาอย่างไรหลังจากที่หมู่บ้านถูกภัยธรรมชาติเมื่อสองสามปีก่อน)
"บ้านสะเนพ่อง" จะเดินทางง่ายกว่าบ้านกองม่องทะ แต่ต้องติดต่อหารถเช่าพาเข้าไปนะครับ เพราะเค้าจะพูดภาษาท้องถิ่นได้คล่องกว่า สำหรับนักผจญภัยบอกได้เลยว่า หมู่บ้านสะเนพ่องนี้เหมาะ เพราะมีทั้งธารน้ำ หรือจะขอไปกางเต้นท์ในหมู่บ้านก็ได้ ชาวบ้านและไกด์ท้องถิ่นจะพาท่านลุยไปทุกที่จริง ๆ อีกทั้ง ยังมีประวัติศาสตร์ชนชาติกะเหรี่ยงได้ให้ศึกษากันอีกด้วยนะครับ สำหรับที่นี่
ต่อมาก็คือ บ้านเวียคะดี้ อันนี้มีรถส่วนตัวไปเองได้เลยครับ ถนนดีลาดยางไปจนถึงหมู่บ้านเลย ทางก็คือสังเกตุสามแยกที่เลี้ยวซ้ายไปวัดวังก์ฯ ให้เราเลี้ยวขวาขับตรงไปเรื่อย ๆ จะมีป้ายบอกครับ หรือติดต่อไปที่ มูลนิธิพัฒนรักษ์ ว่าเราอยากจะเข้าไปเยี่ยมชมหมู่บ้าน หรือจะไปพักที่นั่นก็ได้นะครับ เพราะเขามีการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไว้เตรียมต้อนรับทุกท่าน บรรยากาศอบอุ่นไปอีกแบบหนึ่ง
ทีนี้ถามว่า ถ้าไม่ชอบเที่ยวแนวนี้ แล้วถ้าเป็นหน้าร้อนด้วยหล่ะ จะไปที่ไหนดี วันนี้ผมมีคำตอบให้ครับ
สำหรับท่านที่คิดว่าหน้าร้อน ไปเที่ยวสังขละบุรี ที่ไหนจะชิลล์ บอกเลยว่าร้อนเราก็ต้องหาแหล่งน้ำถูกมั๊ยครับ (พูดเหมือนสัตว์ป่าที่กระหายน้ำ 555) ใช่ครับ มีที่พักที่อยู่ติดกับแม่น้ำซองกาเลีย ในหมู่บ้านซองกาเรีย ทางที่จะไปด่านเจดีย์สามองค์นั่นเองครับ สามารถค้นหาข้อมูลได้ จุดเด่นของที่นี่คือ สภาพโดยรอบยังคงเป็นป่า และมีต้นไม้นานาพันธุ์ ในหน้าร้อนตอนกลางคืน ลมจะพัดเย็นสบาย ส่วนกลางวันก็มีที่ให้หลบมุม หลบแดด หรือเล่นน้ำได้อีกด้วย
ในภาพคือจุดแวะพักเล่นน้ำ แม่น้ำซองกาเลียครับ อยู่บริเวณทางข้ามสะพานไปด่านเจดีย์สามองค์ น้ำใสๆ ไหลฟิน ๆ ไปกับธรรมชาติ บอกเลยว่า มันดีมาก และที่สำคัญ จุดเล่นน้ำแห่งนี้ เล่นได้เพียงหน้าร้อนเท่านั้นครับ เพราะถ้าหน้าน้ำ หรือหน้าฝน น้ำจะกระหน่ำไหลเชี่ยวจนพ่อค้าแม่ขาย ต้องเก็บเต้นท์ รื้อซุ้มออกชั่วคราว รอจนกระทั่งน้ำลด จึงจะมาต้้งซุ้มริมน้ำให้นักท่องเที่ยวได้พักผ่อนชิลล์ ๆ กันได้อีกครั้ง
และแน่นอน ถ้าผมไป ผมก็จะหาที่เล่นน้ำเดินลึกเข้าไปนิดนึง เป็นจุดที่กระโดดได้ และไม่อันตรายครับ น้ำก็จะใส ๆ ฟิน ๆ แบบในภาพ แต่ทางที่ดีควรมีบัดดี้ หรือบอกกล่าวคนพื้นที่ด้วยนะครับ เกิดไปเล่นคนเดียวตะคริวกินจะลำบาก เพราะเราไม่สามารถลอยน้ำได้เหมือนห่วงยางมาติดตรงตีนสะพานอะไรประมาณนั้น 555
นอกจากจุดคลายร้อนจุดนี้ เราก็คงต้องหาวิธีหลบเลี่ยงความร้อน ด้วยการเที่ยวเช้ากับเย็นแทนครับ กลางวันหาเล่นน้ำ บ่ายๆ พักผ่อนในห้อง รอแดดร่ม ลมตก ก็ออกมาเที่ยวชมกันต่อ สำหรับตัวเมืองสังขละบุรี หรือตัวเทศบาลตำบลวังกะ ถ้าเป็นสมัยก่อน จะมีถนนคนเดินให้ได้ชม และเลือกซื้อสินค้า ผมบอกเลยว่า มันฟินมาก โดยเฉพาะอาหารพื้นบ้าน เช่นที่คนนิยมถ่ายรูปร้านหมูจุ่มพม่า ที่เค้าจะเอาไม้เสียบเศษหมูชิ้นเล็ก ๆ หมักในน้ำซอสชนิดพิเศษ แล้วให้นักท่องเที่ยวจุ่ม ไม้ละ 1-2 บาท (กินแบบนับไม้) มันก็ได้อรรถรสไปอีกแบบครับ คือการเป็นเหยื่อการตลาดชั้นดี แต่ก็ฟิน เพราะเวลาแข่งกันกิน มันจะสนุกตรงนั้น ใครไม้เย๊อะสุดชนะ ใครไม้น้อยสุด จ่าย อะไรทำนองนี้ ถามว่าทำไมผมพูดว่าเหยื่อการตลาด เพราะถ้าคุณลองเอามานับดูดี ๆ กินไป 40 ไม้ ไม่รู้จะอิ่มหรือเปล่า บางคนล่อไป 80 ไม้ กว่าจะเริ่มตะมุตะมิในพุงน้อย ๆ มารู้ตัวอีกที อ้าว 80.- บาทแล้วหรอ เท่ากับหมูปิ้ง 8 ไม้แน่นๆ เลยนะนั่น แต่พอเห็นกองไม้เปล่าที่เรากินแล้วก็สะใจดีเหมือนกันครับ เสียดาย ทริปนี้ไม่มีภาพเก็บมาฝาก ผมงัดภาพเก่ามาแปะให้ชมกันไปพลาง ๆ ก่อนละกันนะครับ เผื่อว่ามีโอกาสเปิดการท่องเที่ยว สีสันตรงนั้นจะกลับคืนมา
เล่ามาถึงตรงนี้แล้ว ถึงแม้จะเลี้ยวลดคดโค้ง ไปนู่นที ไปนี่ที แต่ก็วนอยู่ที่นี่ครับ สังขละบุรี ซึ่งในส่วนของเจดีย์สามองค์ ผมคงไม่เล่านะครับ เพราะมันไม่มีอะไรมากไปกว่า ร้านค้าจำหน่ายสินค้าจากพม่า แต่ที่เด็ด ๆ ก็คือ ต้นไม้ครับ ไม้พันธุ์ ไม้ป่าแปลก ๆ สวย ๆ ที่ชาวพม่าเอามาขาย แต่ก็นะครับ จะซื้ออะไรจากจุดนี้ต้องระวัง เวลาผ่านด่านขากลับ จะถูกค้นและตีว่า อันนั้นผิด อั้นนี้ห้ามขนกลับ และถูกยึดไว้ที่ด่านตรงนั้น ทางที่ดี ถามเจ้าหน้าที่ให้เรียบร้อยก่อนซื้อครับ
และอีกไฮไลท์ของด่านเจดีย์สามองค์คือ ท่านสามารถซื้อทัวร์ราคาถูก ๆ แบบเทมเพิลทัวร์พม่าได้ และข้ามไปเที่ยวชั่วคราวได้ ก็จะมีวัดต่าง ๆ ในเมืองพญาตองซูครับ ไม่ว่าจะเป็น วัดเสาร้อยต้น, วัดพระนอนตาหวาน ฯลฯ น่าสนใจทีเดียว ผมเขียนไว้ในเว็บ sangkhlaburi.net ถ้าใครสนใจลองหาอ่านได้นะครับ
วันนี้พวกเราก็พักในตัวเมืองสังขละบุรีครับ เพื่อที่ตอนเช้าจะตื่นไปใส่บาตร ชมบรรยากาศอันเงียบเหงากันอย่างที่บอก เรามาในช่วงที่สถานการณ์ท่องเที่ยวยังซบเซา และเป็นสัปดาห์แรกที่เปิดให้เข้า ทำให้บรรยากาศต่าง ๆ ของสังขละบุรี เปี๋ยนไป๋ โดยสิ้นเชิง แต่ก็ยังคงกลิ่นไอของเมืองสามประสบอย่างที่เคยเป็นมา ยังมีขนมจีนหยวกกล้วยให้ได้ชิมกันเหมือนเดิม ถ้าเป็นสมัยก่อนผมจะไปรอถวายเพลที่วัดวังก์ฯ ด้วยนะครับ แต่ทริปนี้เวลาไม่พอ เพราะเราต้องเก็บสัมภาระ ไปต่อกันที่บ้านอีต่อง ทองผาภูมิ ติดตามชมในบันทึกหน้านะครับ กับ บันทึกตามสาย "สายเที่ยว ep.2/3 บ้านอีต่อง ทองผาภูมิ" สำหรับทริปนี้เก็บภาพและคลิปมาฝากกันครับ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น