ที่มาของคำว่า "ปราณ " มาจากไหนกันนะ
“ปราณายามะ (Pranayama) ในภาษาสันสกฤต คำนี้จะวนเวียนผูกพันอยู่กับเหล่าผู้ฝึกโยคะ ซึ่งหมายถึงการควบคุมลมหายใจ โดยเหล่าผู้ฝึกโยคะ จะทราบดีว่า จะต้องกระทำควบคู่กันไปทั้งทางร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ วิชาการฝึกแบบโยคะนี้ มีต้นกำเนิดอยู่ในอารยธรรมอินเดียโบราณย้อนไปประมาณ 5,000 ปีก่อน จากข้อสันนิษฐานของ นักประวัติศาสตร์ที่ค้นพบในคัมภีร์พระเวท เป็นการฝึกฝนเพื่อผสานลมหายใจเข้ากับท่วงท่าต่าง ๆ ซึ่งแตกแยกแบ่งสายกันไปตามสำนัก”
(วิดิโอประกอบบทความ)
แต่ก็เป็นเรื่องน่าแปลกนะครับว่า สำหรับคนไทยบางกลุ่ม ก็จะสามารถเชื่อได้แบบไม่มีเงื่อนไข เชื่อในปาฏิหาริย์ เชื่อในครูบาอาจารย์ อาจจะเป็นเพราะคำบอกเล่าที่สืบทอดกันมา หรือความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัว จึงทำให้เชื่อมั่นศรัทธา และผลสุดท้ายแล้วก็ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มผู้แสวงหากำไรจากการขายคอร์สในราคาแพง และเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะกลุ่มคนเหล่านี้พยายามตีกรอบความคิดเรื่องลมปราณ, พลังจักรวาล, พลังคอสมิก, พลังออร่ารอบกาย ฯลฯ ให้เข้าไปขมวดปม..
สู่อภินิหารหรือความศักดิ์สิทธิ์เพื่อชักนำจิตใจผู้คนได้ง่ายขึ้น แม้กระทั่งวิชาสืบทอดที่สามารถพิสูจน์ได้เชิงวิทยาศาสตร์ ก็นำไปเขียนเป็นตำรายึดโยงไปสู่เรื่องเหล่านี้ นำไปเปิดคอร์สโดยอ้างว่า สามารถเปิดระบบจักระสำคัญให้แก่ผู้เรียนได้ และมีข้อแม้ด้วยว่าผู้ที่ฝึกฝนมีพื้นฐานการทำสมาธิมาบ้าง จะสามารถสัมผัสได้ถึงความรู้สึกเหล่านั้น
ซึ่งกรณีนี้จากการศึกษาและฝึกฝนส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนมองว่าเป็นเพียงจิตวิทยาเท่านั้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนปฏิเสธหลักการทั้งหมดของวิถีปฏิบัติ เพียงต้องการสื่อว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ควรเป็นแรงจูงใจเบื้องต้นในการที่คุณจะศึกษาศาสตร์พลังปราณ, พลังจักรวาล หรือพลังจักระ แล้วแต่ที่จะเรียก เพราะการที่คุณพยายามฝึกศาสตร์เกี่ยวกับสมาธิ แล้วหวังผลด้านอภิญญาปาฏิหาริย์ คุณจะไม่ได้รับอะไรติดไม้ติดมือกลับไปเลย และสุดท้ายแล้วก็เข้าสู่โหมดละเมอเพ้อพก คิดว่าตัวเองมีพลังวิเศษ
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ฝึกจักระ มักจะมองว่าพลังออร่าของมนุษย์ หรือคนเราทุกคนล้วนมีออร่าอยู่รอบตัว และหยิบโยงความคิดเหล่านี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกายวิภาคศาสตร์ หรือเป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ ซึ่งในความเป็นจริง แนวคิดหรือทฤษฎีเหล้านี้ ไม่ได้รับการสนับสนุนด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เลยแม้แต่อย่างใด ยิ่งพยายามพิสูจน์มากเท่าใด กลับถูกตีค่าความคิดเหล่านี้ว่าเป็นวิทยาศาสตร์เทียมของแพทย์ทางเลือกบางกลุ่มเท่านั้น เหมือนกับกล้องส่องผีส่องวิญญาณ ที่พยายามพัฒนาให้เทียบเคียงข้อสันนิษฐานมากที่สุด แต่สุดท้ายก็ยังมีข้อบกพร่อง และยังไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับนักวิชาการอยู่ดี
ส่วนตัวผู้เขียนมองว่า นี่เป็นการทำลายองค์ความรู้ระดับสากลเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยพลังจิต ถึงขั้นที่สามารถรักษาระยะไกลข้ามประเทศ ก็มีบันทึกไว้ในตำราของอาจารย์บางท่าน ยิ่งทำให้ศาสตร์การฝึกฝนปราณ ถูกใช้อย่างเตลิดเปิดเปิงไปกันใหญ่ โดยเฉพาะการนำเอาความเชื่อมาเป็นตัวตั้ง จึงทำให้ไม่เกิดข้อสงสัยในทฤษฎีอื่น และนำมาสานต่อกันเป็นเรื่องเป็นราว อีกทั้งยังทำให้ขาดความเข้าใจอย่างแท้จริงในศาสตร์แขนงนี้ และเป็นบ่อเกิดของความงมงายในปัจจุบัน
ก่อนอื่น เรามาลองทำความเข้าใจกันดูนะครับว่า ต้นกำเนิดของคำว่าปราณ มีที่มาที่ไปอย่างไร หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า “ปราณายามะ” (Pranayama) ในภาษาสันสกฤต คำนี้จะวนเวียนผูกพันกับเหล่าผู้ฝึกโยคะ ซึ่งหมายถึงการควบคุมลมหายใจ โดยเหล่าผู้ฝึกโยคะจะทราบดีว่า จะต้องกระทำควบคู่กันไปทั้งทางร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ วิชาการฝึกแบบโยคะนี้ มีต้นกำเนิดอยู่ในอารยธรรมอินเดียโบราณย้อนไปประมาณ 5,000 ปีก่อน จากข้อสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์ที่ค้นพบในคัมภีร์พระเวท เป็นการฝึกฝนเพื่อผสานลมหายใจเข้ากับท่วงท่าต่าง ๆ ซึ่งแตกแยกแบ่งสายกันไปตามสำนัก และเชื่อว่ามีการสืบทอดวิชากันมาแบบปากต่อปาก จนกระทั่งท่านปตัญชลี (Patanjali) เป็นผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ และได้รวบรวมวิธีการฝึกปฏิบัติไว้ในโยคะสูตร คาดว่ามีชีวิตช่วงราวศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสต์ศักราช สืบทอดตำราเก่าแก่มากมาย สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ที่แพร่หลายในประเทศไทยนับแต่รัชกาลที่ 1 ถูกขนานนามว่า “ฤาษีดัดตน” ก็สันนิษฐานได้ว่าถอดท่วงท่ามาจากอาสนะ ในโยคะสูตรอีกเช่นกัน เหตุผล เพราะการที่เหล่าโยคีในอินเดียใช้แก้อาการปวดเมื่อยจากการนั่งสมาธิ ท่วงท่าฤาษีดัดตน จึงเป็นการสร้างความต่างของวัตถุประสงค์เพื่อแก้โรคปวดเมื่อย หรือโรคภัยไข้เจ็บบางอย่าง อีกทั้งยังเสริมสร้างความคล่องแคล่ว มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ สำหรับท่วงท่าฤาษีดัดตน เทียบได้กับกายบริหารรูปแบบหนึ่ง หากท่านใดสนใจสามารถหาตำราศึกษาได้ไม่ยากทางอินเทอร์เน็ต ผู้เขียนจะไม่ได้บันทึกไว้ให้เนื่องจากไม่ใช่เป้าหมายของการเขียนหนังสือเล่มนี้
อย่างที่เกริ่นนำไปแล้วว่า การจะฝึกฝนวิชาปราณให้เกิดผลสำเร็จ ไม่ควรน้อมนำจิตไปในเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ตั้งแต่เริ่มแรก บางคนเข้าเรียนคลาสพลังจักรวาล พอทราบว่าหากเปิดจักระที่ 6 สำเร็จ จะสามารถฝึกฝนตนเองให้บรรลุขั้นดวงตาที่สาม สามารถส่งกระแสจิตเพื่อกระทำการบางสิ่งได้ เช่นการรักษาทางไกล ความจริงในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ควรพิจารณายิ่งว่า หากศาสตร์วิชาพลังจักรวาล สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างดียิ่งไปกว่าการร่ำเรียนวิชาแพทย์แขนงอื่น ทำไมจึงไม่ได้รับการบูรณาการอย่างกว้างขวางในศาสตร์วิชาทางการแพทย์ และผู้เป็นหมอจะร่ำเรียนกันไปทำไมหลายปี จะคิดค้นยารักษาโรคไปทำไม หากการฝึกเพื่อดึงเอาพลังในห้วงจักรวาลมาใช้รักษาโรคให้ผลดีถึงเพียงนั้น โดยส่วนตัวผู้เขียนมองว่าเป็นภัยคุกคามทางการแพทย์อย่างที่อาจจะไม่สมบูรณ์นัก แต่เชื่อได้เลยว่า หมอและพยาบาลไม่ถูกใจสิ่งนี้ เหตุเพราะบางครั้งผู้ป่วยจะปฏิเสธการรักษาเพราะเชื่อมั่นอย่างงมงายว่า การเข้ารับการรักษาจากพลังวิเศษจะช่วยให้หายขาดกว่าการแพทย์แผนปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งการที่นอนแอดมิตอยู่ แต่แอบยาไว้ ไม่ยอมกินตามที่หมอสั่งก็พบเห็นอยู่มากอีกเช่นกัน
พออ่านมาถึงตรงนี้ จึงอยากอธิบายนิยามการฝึกตนสายปราณให้เข้าใจเบื้องต้นว่า ผู้ที่สนใจเรียนและฝึกฝน ไม่ควรเอาพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นตัวตั้งโดยเด็ดขาด เพราะศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับปราณ, ลมปราณ, พลังจักระ, พลังคอสมิก ฯลฯ มุ่งเน้นไปที่องค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วนด้วยกัน คือ การฝึกร่างกาย, การฝึกลมหายใจ และการฝึกจิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องหมั่นเพียรขัดเกลาตนเอง ผลสำเร็จด้านการฝึกจะเกิดขึ้นโดยตรงกับผู้ที่มีระเบียบวินัย และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในหลักปฏิบัติในวิชานั้น
หัวใจหลักของการฝึกปราณวิถี คือเข้าใจกระบวนการทำงานของร่างกาย และใช้ประโยชน์จากธรรมชาติผสานเข้าสู่ร่างกาย สิ่งสำคัญคือลมหายใจ ขั้นแรกผู้ฝึกจะต้องทำความเข้าใจหลักลมหายใจพื้นฐาน ต้องทำความเข้าใจจุดสำคัญของร่างกาย เข้าใจหลักการโคจรพลังร่วมกับจุดต่าง ๆ พลังในที่นี้คือการกำหนดความรู้สึกไปที่จุดนั้น บางสูตรหมายถึงการเคลื่อนลมหายใจไปสู่จุดนั้นก็มี ซึ่งในส่วนของการกำหนดความรู้สึกดังกล่าว คือการใช้จิตจับลมหายใจ และสร้างจินตนาการกำหนดสัญลักษณ์ในจินตภาพ แล้วนำไปวางตรงจุดสำคัญของร่างกาย หรือจะใช้ศัพท์สมัยใหม่ที่เรียกว่า “วิชวลไลซ์” (Visualize) ก็มีวิธีการให้ได้ศึกษากันต่อไปในตำราเล่มนี้
ผลดีของการฝึกปราณวิธีนั้นส่งตรงเรื่องสุขภาพ ช่วยให้การทำงานของร่างกายมีประสิทธิภาพสูงขึ้นจากเดิม หรืออาจจะสูงขึ้นกว่าคนปกติทั่วไป เสริมพลังกาย เสริมพลังใจ เสริมสมาธิ สมองปลอดโปร่ง ส่วนเรื่องผลพลอยได้จากการฝึกนั้น ไม่ขอกล่าวถึงมากนักนะครับ เพราะเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล แต่ละคนมีความสามารถ และสม่ำเสมอไม่เท่ากัน การฝึกฝนเหล่านี้จึงเกิดขึ้นเฉพาะคนที่ฝึก ไม่ใช่การส่งพลังจิตไปรักษาใครได้อย่างที่เข้าใจกัน
เหตุผลเดียวที่การฝึกปราณ จะส่งผลต่อสุขภาพได้ทางตรงก็คือร่างกายของผู้ฝึกนั้น จะเพิ่มภูมิคุ้มกันโรค หากฝึกอย่างถูกต้อง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่าง ๆ ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย ระบบไหลเวียนโลหิต การฟื้นฟูสภาวะจิตใจและหลักการคิด ส่วนเหตุผลเดียวที่จะใช้ปราณในการรักษาโรค คือการดึงเอาพลังจากธรรมชาติบางอย่าง เข้าไปแก้ไขจุดบกพร่องในร่างกาย ซึ่งเหตุผลนี้ เราจะพบได้เพียงในบันทึกเก่าแก่ หรือคำยืนยันของผู้ที่เข้ารับการรักษา แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ แม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็ไม่สามารถตัดสินได้ว่า ทำได้จริงหรือไม่จริง หรือใครทำได้บ้าง เพราะหากจะปฏิเสธเสียทีเดียวก็คงไม่ก้าวล่วง ดังเช่นการฝึกกรรมฐานในเชิงพุทธศาสนาก็มีการกล่าวถึงอภิญญาตามลำดับที่จะได้รับ เช่นเดียวกับการฝึกกายทิพย์ที่กล่าวถึงพลังคอสมิกที่หยิบยืมมาใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ แต่เหตุผลหลักคือผู้ฝึกจะต้องไม่เอาความสามารถพิเศษที่กล่าวถึงเหล่านี้มาเป็นตัวตั้งดังที่ย้ำและอธิบายเหตุผลเป็นอันขาด นั่นคือหัวใจของสิ่งที่พยายามอธิบายซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง เพราะอานุภาพความเชื่อของคนไทยก็มีมากหนักหนาจนกะเทาะออกไม่ไหวกันเลยทีเดียว ความเชื่อบางอย่างก็เป็นยา บางอย่างก็เป็นพิษ เราต้องดีท็อกซ์ออกไปให้หมด แล้วเติมพลังใหม่ให้สมบูรณ์
ต้นกำเนิดการฝึกปราณ
“สันนิษฐานได้ว่า ต้นกำเนิดวิถีการฝึกปราณนั้น น่าจะเก่าแก่ที่สุดในกลุ่ม ผู้ศึกษาพระเวทโบราณ ซึ่งถ่ายทอดในรูปแบบโยคะ ข้อแตกต่างที่พบ คือไม่ได้มีการบันทึกท่วงท่ามากมายนัก จะมุ่งเน้นไปที่ความสงบ ความนิ่ง การจับลมหายใจ และการหลอมรวมจิตวิญญาณกับพลังในห้วงจักรวาล เป็นพื้นฐานของการสร้างสรรค์ทุกสรรพสิ่ง ความเชื่อมั่นในพลังศักดิ์สิทธิ์จากพรหมัน คือตัวตนสูงสุดอยู่เหนือกาลเวลาและอวกาศ”กล่าวกันว่าการปฏิบัติในแบบแผนยุคโบราณ ได้รับการสืบทอดโดยปากต่อปากหลายศตวรรษ ก่อนที่จะมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงบันทึกที่เก่าแก่ที่สุดนั้น สืบค้นได้จากคัมภีร์พระเวทของฮินดูเมื่อประมาณ 1,500 ปีก่อนคริสตกาล (Sharma, 2015) พุทธศักราชเกิดขึ้นก่อนคริสต์ศักราช 543 ปี ดังนั้น ข้อสันนิษฐานของต้นแบบการฝึกปราณหรือฝึกสมาธิ จึงเกิดขึ้นก่อนพุทธกาลนับพันปี เพราะถึงแม้จะไม่มีหลักฐาน ชี้ชัดว่า ประเทศใด หรือกลุ่มชนใดเป็นผู้เริ่มต้น แต่ก็พอจะมีแนวคิดเพิ่มเติมอีกว่าอาจจะกระจายกันไปตามค่านิยมทางสังคมนักบวช ปราชญ์หมู่บ้าน หรือผู้วิเศษของยุคสมัยนั้น ดังเช่นคัมภีร์โทราห์ (Torah) ได้มีการบันทึกการทำสมาธิแบบยิวที่น่าจะปฏิบัติกันมายาวนานถึง 1,000 ปีก่อนคริสตกาล (Kaplan, 1985) หรือจะเป็นบันทึกเกี่ยวกับการทำสมาธิรูปแบบอื่น เช่นลัทธิเต๋า ที่มีมายาวนานราว 600-400 ปี ก่อนคริสตกาล แทบจะเรียกได้ว่าพอ ๆ กับพุทธกาลเลยทีเดียว (Bronkhorst, 2014) และในส่วนของหลักการฝึกสมาธิแบบเต๋านี้ จะมีประโยชน์อย่างมากต่อผู้ฝึกปราณวิถี ไว้จะขยายความอีกครั้งในหมวดการฝึก เพื่อให้เข้าใจเป็นลำดับขั้นตอนต่อไปนะครับ
ข้อสงสัยเกี่ยวกับต้นกำเนิดการฝึกปราณหรือสมาธิ ยังคงไม่สามารถระบุชี้ชัดได้ว่าใครเป็นผู้เริ่มต้น และในยุคสมัยใด แต่จากการสันนิษฐานเชิงเปรียบเทียบ ก็ไม่ต่างกับการตั้งคำถามว่า ใครเป็นผู้ริเริ่มการทำอาหารเป็นครั้งแรก ดังนั้น การฝึกสมาธิหรือการทำความเข้าใจเรื่องปราณ น่าจะเกิดขึ้นในฐานะวิธีการสากลเพื่อยกระดับจิตใจและวิญญาณผ่านการฝึกปฏิบัติที่เรียกว่าทบทวนตนเอง (Hayden, 2003)
ข้อสันนิษฐานในเรื่องการถ่ายทอดวิชาความรู้ หรือคำสอนของศาสนาโบราณนั้นโดยวิถีปากต่อปาก เช่นกลุ่มฤาษีนักบวชอินเดีย ที่เชื่อกันว่านับเป็นเวลาหลายร้อยหรือหลายพันปีก่อนพุทธกาล ก่อนที่จะมีการจดจารบันทึก และพระเวทเหล่านี้ล้วนเป็นบทเพลงที่เชื่อกันว่า พระพรหมผู้สร้างโลก ได้ขับร้องเพื่อให้เกิดจักรวาลขึ้น และเหล่าฤาษีนักบาชได้ยินเพลงเหล่านี้ระหว่างการทำสมาธิ และนำมาถ่ายทอดซึ่งกันและกัน
หากเราได้ศึกษาอุปนิษัทอันยึดโยงเรื่องเล่าทางปรัชญาที่บรรยายถึงเทคนิคของเหล่าฤาษีนักบวชที่นิยมใช้นั้น ถูกกล่าวถึงว่าเป็นบันทึกการทำสมาธิที่เก่าแก่ที่สุด (Sharma, 2015)
ทีนี้เรามาลองพิจารณาต้นกำเนิดการฝึกสมาธิแบบตะวันตกกันบ้างนะครับ ประกอบองค์ความรู้เบื้องต้นกันเสียก่อน เพราะหากเราอยากศึกษาเรื่องอะไรอย่างจริงจัง เราควรรู้ที่มาที่ไปโดยรอบและครอบทั่ว และสำหรับแนวทางของชาวตะวันตกหลายกลุ่มนั้นก็เชื่อว่า ภูมิภาคที่ตนอาศัย ไม่ได้รับเอาแนวทางคำสอนการฝึกสมาธิของชาวตะวันออกมาใช้แต่อย่างใด เพราะรูปแบบการทำสมาธิของชาวตะวันตกพื้นเมืองมีมานานตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ เช่น ลัทธิดรูอิด (Druidry) ที่ศึกษาเกี่ยวกับจิตวิญญาณและพันธุ์พืช ความรู้ ปรัชญา การเยียวยารักษา หมอผี หรือแม้กระทั่งการทำนายดวงชะตา เหล่าดรูอิดจะฝึกทำสมาธิกับต้นไม้ เพื่อการเข้าถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
หรือจะเป็นศาสตร์ยุโรปเหนือ ที่มีความเชื่อเกี่ยวกับอักษรรูนว่าเป็นจารึกศักดิ์สิทธิ์ มีเหล่านักมายาศาสตร์โบราณฝึกสมาธิด้วยอักษรรูน และมีพิธีกรรมต่าง ๆ ในการทำนายดวงชะตา หรือการใช้เวทมนตร์คาถา มีตราสัญลักษณ์เวทมนตร์เพื่อทำพิธีสาปแช่ง, ชัยชนะ, พลังแข็งแกร่ง หรือแม้กระทั่งความมั่งคั่งร่ำรวย ล้วนมีพื้นฐานการฝึกสมาธิอีกเช่นเดียวกัน โดยกล่าวกันว่า ตบะของผู้ฝึกรูนจะอยู่ที่กลางหน้าผาก ดังนั้น ข้อสรุปจากการศึกษาค้นคว้า สันนิษฐานได้ว่า ต้นกำเนิดวิถีการฝึกปราณนั้น น่าจะเก่าแก่ที่สุดในกลุ่มชนผู้ศึกษาพระเวทโบราณ ซึ่งถ่ายทอดในรูปแบบโยคะ ข้อแตกต่างที่พบคือไม่ได้มีการบันทึกท่วงท่ามากมายนัก จะมุ่งเน้นไปที่ความสงบ ความนิ่ง การจับลมหายใจ และการหลอมรวมจิตวิญญาณกับพลังในห้วงจักรวาล เป็นพื้นฐานของการสร้างสรรค์ทุกสรรพสิ่ง ความเชื่อมั่นในพลังศักดิ์สิทธิ์จากพรหมัน คือตัวตนสูงสุดอยู่เหนือกาลเวลาและอวกาศ อยู่เหนือเหตุปัจจัย การเข้าถึงอาตมัน หรือวิญญาณบริสุทธิ์เหนือกาลเวลา ไม่มีสถานที่และไม่สิ้นสุด ซึ่งเป็นกรอบความคิดแบบดั้งเดิมของศาสนาพราหมณ์ยุคพระเวท หรือข้อสันนิษฐานก่อนหน้านั้น เนื่องจากไม่มีสืบต่อกันมาทางบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรก็เป็นไปได้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น