
สาเหตุแห่งการไม่ปฏิเสธความเชื่อในการมีอยู่ของเทพเทวี เหตุเพราะมีการกล่าวถึง หรือสอดแทรกในพุทธประวัติมากมายหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยเรื่อง บทบาทของเทวดาที่ปรากฏในพระไตรปิฎก โดยแม่ชีบุญช่วย ศรีเปรม, พระมหาบุญศรี ญาณวุฑฺโฒ, มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, ปี พ.ศ.๒๕๖๖ กล่าวว่า “เทวดาในพระไตรปิฎกสถิตในสวรรค์ ๒๖ ชั้น คือ เทวดากามาวจร ๖ ชั้น อยู่ได้ด้วยอาหารทิพย์ รูปพรหม ๑๖ ชั้น อรูปพรหม ๔ ชั้น อยู่ได้ด้วยฌานสมาบัติ หลักธรรมของเทวดาคือโลกปาลธรรม สุจริตธรรม สัมปทา วัตตบท สัปปุริสธรรม อริยทรัพย์ บุญกิริยาวัตถุ เทวดามีบทบาทในการดำรงตนอยู่ในเทวธรรม จอมเทพมีหน้าที่ปกครองเทวดาบริวาร และอารักขามนุษย์ผู้บำเพ็ญสมณธรรม และช่วยเหลือมนุษย์ที่ยากจนแต่มุ่งทำความดี” จากแนวคิดดังกล่าวเหล่านี้ เราจึงพอที่จะสรุปได้ว่า พุทธศาสนาในไทยไม่เคยปฏิเสธการมีอยู่ของเทวดาอารักษ์ แต่ก็ไม่ได้กล่าวถึงโดยตรงถึงเหล่ามหาเทพ หรือมหาเทวีในรูปแบบคติความเชื่อของพราหมณ์-ฮินดู หรืออาจจะมีอ้างอิงกันบ้างในนิกายตันตระที่พอจะพบบันทึกแต่ก็เป็นยุคหลัง ไม่ใช่สมัยพุทธกาล จึงไม่สามารถนำมาอ้างอิงเชื่อถือได้ถึงแนวคิดดังกล่าวนั้น แต่ก็พบว่า…มีการผสมผสานความเชื่อของเทพยดาหลายพระองค์ในพุทธตำนานที่มีการเล่าขานสอดแทรกในพุทธประวัติ เช่น พระอินทร์, เทวดาชั้นพรหม, เหล่าเทพบุตร และเหล่าเทพธิดาอื่น ๆ โดยบทบาทสำคัญก็จะอยู่ที่พระอินทร์หรือท้าวสักกะเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีลักษณะเป็นธรรมบาล (ผู้รักษาธรรม ป้องกันพระพุทธศาสนา) คอยให้ความช่วยเหลือ เช่น ขณะที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ พระอินทร์และเหล่าทวยเทพก็ถือคบเพลิงอันเป็นทิพย์ส่องสว่างนำทางให้พระพุทธองค์ หรือคราวที่เจ้าชายสิถธัตถะทรงตัดพระเกศาออกผนวช พระอินทร์ก็นำผอบแก้วมารองรับพระเมาลีและผ้าโพกพระเศียร เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานที่พระเจดีย์จุฬามณี เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความเชื่อในเรื่องเทวดาสำหรับพุทธศาสนาจะแตกต่างจากคติความเชื่อในแบบของพราหมณ์-ฮินดู โดยสิ้นเชิง แต่คนไทยปัจจุบันอาจจะไม่เข้าใจ หรือคลาดเคลื่อนไปในการลำดับเหตุการณ์ หรือความเหมาะสมถ้าหากบ้านใครจะมีเทวรูปบูชาให้กับแต่ละพระองค์ซึ่งคำถามต่อมาคือ แล้วจะผิดมากน้อยประการใดหากชาวพุทธศรัทธาเหล่าเทพพราหมณ์-ฮินดู ความเห็นส่วนตัวผู้เขียนนั้นคิดว่าไม่ผิดหลักปฏิบัติ หากน้อมนำความเชื่ออย่างถูกต้อง ทุกวันนี้คนไทยมุ่งเน้นไปที่ การบนได้ไหว้ขอ จนทำให้ศรัทธาที่มีหยั่งรากลึกฝังแน่น บูชารูปเคารพเข้าสู่บ้านเรือน แล้วก็ต้องเคร่งครัดในเรื่องพิธีการไม่ต่างกับฮินดู ผสมผสานปนเปกันไปกับการเคารพบูชาพระพุทธรูป
ซึ่งหากเท้าความไปแล้ว พระพุทธรูปนั้นไม่ใช่หลักยึดในทางพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยต้นพุทธกาล แต่การสร้างขึ้นนั้นเริ่มต้นราวพุทธศักราช ๕๐๐ โดยพระเจ้ามิลินท์ หรือพระเจ้าเมนันเดอร์ที่ ๑ กษัตริย์เชื้อสายกรีกที่ยกทัพกรีกเข้ามาครอบครองแคว้นคันธารราฐ (อินเดียโบราณ) ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอัฟกานิสถาน ต่อเมื่อได้พบภิกษุนามนาคเสน จึงเกิดเลื่อมใสในพุทธศาสนา และดำริสร้างขึ้นครั้งแรกในครานั้น เป็นที่รู้จักกันในรูปแบบคันธารราฐ ลักษณะพระพักตร์เหมือนฝรั่งชาวกรีก สันนิษฐานว่าแนวความคิดสร้างพระพุทธรูปน่าจะมาจากแนวคิดเรื่องการจัดสร้างเทวรูปในลักษณะของทวยเทพกรีกโบราณนั่นเอง
จะอย่างไรก็ตาม เราจะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงรูปแบบมีเรื่อยมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน การปรับแนวทางบางอย่าง เพื่อให้คงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาเป็นส่วนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์เสมอมา และในมุมมองของสายมูเตลูอย่างเราท่าน จะปฏิเสธเทวรูปที่มีอยู่ที่บ้าน ก็เห็นจะเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคน เพราะความเชื่อมั่นศรัทธานั้นแผ่ขยายเป็นวงกว้าง และการให้เกียรติความเชื่อต่างศาสนาถือเป็นเรื่องที่ไม่ผิด กลับดีด้วยซ้ำ ถ้าเช่นนั้นเราลองมาปรับวิถีปฏิบัติ หรือแนวคิดที่เหมาะสมในการบูชากันดู เพราะในเมื่อความเชื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ลองดูว่าเชื่อแบบไม่งมงายจนเกินไปนั้น ควรยึดถือรูปแบบของบทความนี้ดีหรือไม่ ท่านเท่านั้นที่จะเป็นคนตอบ ท่านเท่านั้นที่จะรู้ว่าส่งผลดีอย่างไรกับตัวท่านเอง 👇💖ช่องทางการสั่งซื้อหนังสือ💘👇
"สายมูต้องมนต์"
👇💖ช่องทางการสั่งซื้อหนังสือ💘👇
(เลือกคลิกเข้าชมหน้าร้านค้าตามภาพ)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น