"พญานาค" เป็นเดรัจฉาน ไม่สมควรกราบไหว้ จริงหรือไม่??

วัดพระธาตุจอมปิง

“พญานาค” ตำนานที่อยู่คู่กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงมานาน ไม่ว่าจะเป็น ไทย ลาว กัมพูชา และมูลเหตุที่ว่า พญานาคเป็นเดรัจฉานที่ไม่สมควรกราบไหว้ จริงหรือไม่? วันนี้เรามาคิดภาพตามกันทีละฉาก ทีละตอนแบบมีสติพิจารณาร่วมกันนะครับ
ก่อนอื่นต้องเกริ่นก่อนเลยว่า พื้นฐานที่มาของความเชื่อนั้น เกิดกับทุกศาสนาบนโลก เพราะหากมนุษย์ไม่เชื่อในคำสอนของศาสดา ก็ไม่สามารถน้อมนำการนับถือศรัทธาให้เกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ศาสนาพุทธเชื่อในการเคยมีอยู่ของพระพุทธเจ้า และน้อมนำหลักคำสอนมาใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่งก็พบว่าน้อยมากนะครับในปัจจุบัน รู้ทฤษฎีและข้อธรรมไว้ตบหน้ากัน แต่ปฏิบัติกันแทบไม่ได้ กลายเป็นกระแสสังคมที่สร้างความดราม่า ปรามาสกันไปมาแบบสวมหัวโขนก็มีให้เห็นมากมาย

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่เชื่อการมีอยู่ของอาตมัน ที่หมายถึงตัวตนหรือดวงวิญญาณ หรือเชื่อในปรมาตมัน คือเชื่อว่าเป็นอาตมันสูงสุด อันเป็นต้นกำเนิด และจุดศูนย์รวมของทุกสรรพสิ่งในจักรวาล ซึ่งในทางพุทธศาสนาได้ฉีกหลักคำสอนของพราหมณ์-ฮินดูออกมาเป็น วิญญาณไม่ใช่ตัวตน และการหลุดพ้นคือปรินิพพาน นอกจากนี้ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ยังเชื่อในการมีอยู่ของเหล่าทวยเทพ โดยมีมหาเทพสูงสุด 3 พระองค์ พระพรหมผู้สร้าง พระนารายณ์ผู้รักษา และพระศิวะผู้ทำลายโลก อีกทั้งยังเชื่อในมหาศักติผู้มีพลังอันยิ่งใหญ่ ประกอบด้วยตรีเทวี อันมี พระแม่ลักษมี พระแม่ปารวตี และพระแม่สรัสวตี

หรือจะกล่าวถึงความเชื่อของศาสนาอื่นใดนอกเหนือจากนี้ ที่เชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก และกำหนดทุกสิ่ง ดังนั้นแล้ว ในความเชื่อทางศาสนาของประเทศไทย น้อมรับเอามาจากประเทศอินเดียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะพุทธ พราหมณ์ หรือศาสนาผี อันเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมตั้งแต่ยุคขอมโบราณ แน่นอนครับว่าได้รับสืบทอดวัฒนธรรมความเชื่อมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดูอีกเช่นเดียวกัน มีการกราบไหว้บูชาบรรพบุรุษ ผีบ้านผีเรือน พระทรงเมือง พระเสื้อเมือง กลายเป็นต้นฉบับร่างทรงองค์เจ้านั่นเอง และเมื่อพิจารณาอย่างนี้ เราอาจปฏิเสธไม่ได้ว่า ขนบธรรมเนียมประเพณีไทยหลายอย่าง ยังคงยึดโยงจากการผสมผสานอันหลากหลายความเชื่อทางศาสนาที่คละเคล้ากัน การเป็นการกราบไหว้บูชาในปัจจุบันนั่นเอง


          สำหรับการไหว้ บ้านเราก็รับเอามาจากอินเดียอีกเช่นเดียวกันครับ เรียกลักษณะการไหว้ว่า “อัญชลีมุทรา” ถ้าใครเคยศึกษาเรื่องปางมือ อาจจะพอเข้าใจได้ เช่นรูปลักษณะของพระพุทธรูปหรือพระโพธิสัตว์ ที่จะมีการจีบมือ ผายมือ หรือแสดงออกในลักษณะต่าง ๆ ใครสนใจไปหาอ่านเชิงลึกได้ในบทความทางอินเทอร์เน็ต และนั่นแหละครับคือที่มาของการให้เกียรติ การพนมมือไหว้คือการแสดงความเคารพ การนอบน้อมถ่อมตน ซึ่งนอกเหนือจากการไหว้โดยทั่วไป ในเวลาที่เราถวายเครื่องสักการะบูชา หรือการขอพร เราก็มักจะพนมมือไหว้ประกอบกันไปด้วยเสมอ  ซึ่งวิถีปฏิบัติเหล่านี้ก็มาจากพราหมณ์-ฮินดูนั่นเองครับ  



         

 ในความเชื่อของคนไทยเกี่ยวกับเรื่องราวของพญานาค ถูกปลูกฝังมาจากการรับเอาอารยธรรมขอมโบราณที่สืบทอดเรื่องราวความเชื่อมาจากประเทศอินเดียอีกเช่นเดิม ซึ่งข้อสันนิษฐานที่เด่นชัดที่สุด น่าจะถือกำเนิดจากความเกรงกลัว เมื่อมนุษย์เห็นว่างูเป็นสัตว์อันตราย มีพิษร้าย และสามารถคร่าชีวิตได้ ความเชื่อในเรื่องการบูชางูจึงถือกำเนิดขึ้นตามมาด้วย ในยุคสมัยที่ชาวอารยันเรืองอำนาจก็น้อมนำความเชื่อในเรื่องของสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ และงูเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เช่นพิธีบูชานาคที่เรียกว่า “นาคปัญจมี” โดยให้สตรีผู้ประกอบพิธีถวายน้ำนม, ขมิ้น, ดอกไม้ และสวดอ้อนวอนเพื่อขอพรให้กับสามี หรือสมาชิกในครอบครัว โดยมีความเชื่อว่า งูจะไม่ทำร้ายผู้บริสุทธิ์ อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับตำนานพระแม่มนสาเทวี มารดาแห่งนาคทั้งปวง และในพุทธศาสนาบ้านเรา ก็มีความเชื่อเรื่องของพญานาคผู้ที่มีทั้งบทบาทอันร้ายกาจ อย่างเช่นนันโทปนันทนาคราชที่เปี่ยมด้วยมิจฉาทิฐิที่มีต่อสมณะจึงถูกพระโมคคัลลานะปราบพยศลงได้ หรือพญานาคผู้ปกป้องพระศาสดาโดยการขนดกายแผ่พังพานบังน้ำฝนในคราวที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุติสุขอยู่ใกล้ที่อยู่ของตน นามว่ามุจลินท์

          และความเชื่อในเรื่องของพญานาคเหล่านี้ก็ถูกถ่ายทอดเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงที่เรารับเอาพุทธศาสนาเข้าสู่สุวรรณภูมิโดยพร้อมกันนั่นเอง แต่เป็นที่แปลกใจนะครับว่า ใน 20 กว่าปีก่อน แทบไม่มีกระแสของคนไทยที่จะกล่าวถึงพญานาคในวงกว้างแต่อย่างใด จะมีเพียงพื้นที่ท้องถิ่นที่มีความเชื่อดั้งเดิมจากบรรพบุรุษเล่าขานกันมาเท่านั้น หากพูดคำว่า “พญานาค” คนทั่วไปแทบไม่รู้จักเสียด้วยซ้ำ เห็นว่ามีรูปปั้นตามวัดวาอาราม ใต้ฐานศาลพระภูมิ หรือบนจิตรกรรมภาพวาดอื่นใด บางคนก็ไม่รู้ คิดว่าเป็นภาพสัตว์ในป่าหิมพานต์ตามจินตนาการของศิลปินเท่านั้น แต่ถ้าสมัยก่อน ใครเคยดูละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ก็คงจะพอรู้จักบ้างว่า พญานาคราชเป็นใครหรือลักษณะอย่างไร

          ในส่วนของคติความเชื่อเกี่ยวกับงูใหญ่นั้นก็มีให้เห็นในหลายอารยธรรมของแต่ละมุมโลก ทั้งในแง่ของตัวแทนสิ่งชั่วร้าย หรือความหวาดกลัวของมนุษย์ เช่น พญางูเยอรมุนกันธ์ หรือยอร์มุงกันเดอร์ (Jörmungandr) แห่งจักรวาลอาซาทรู ศาสนาดั้งเดิมของชาวนอร์ส ตามการทำนายวันสิ้นโลกที่กล่าวว่า เมื่อวันแร็กนาร็อคอุบัติขึ้น พญางูเยอรมุนกันธ์จะโอบล้อมโลกเอาไว้ และจะถูกเทพเจ้าธอร์กำจัด ในขณะที่เทพเจ้าธอร์ก็จะถูกพญางู            เยอรมุนกันธ์กัดจนพิษเข้าสู่ร่าง และสามารถก้าวท้าวได้อีกเพียง 9 ครั้ง ก็จะล้มลงสิ้นชีพ หรือตำนานในแง่ที่พญางูใหญ่เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ผู้พิทักษ์รักษาห้วงทะเล และยังถือเป็น 1 ใน 4 สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของอารยธรรมจีนโบราณคือ มังกร กิเลน หงส์ และเต่า ซึ่งบทบาทของพญามังกรในแบบจีนนั้น จะเป็นผู้พิทักษ์และเป็นพาหนะให้แก่เหล่าเทพเซียนบนสวรรค์ อีกทั้งยังมีเผ่าพันธุ์เป็นของตนเอง เป็นตัวแทนของฮ่องเต้หรือกษัตริย์ จึงเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ พลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ ความเจริญรุ่งเรือง และโชคลาภวาสนา คล้ายกับคติความเชื่อของพญานาคในประเทศไทย ที่กล่าวถึงการเป็นสะพานสายรุ้งทอดไปสู่สวรรค์ หรือนาคให้น้ำ ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่พืชพรรณธัญญาหาร โดยเชื่ออีกว่า ในภพภูมิของพญานาคนั้น อุดมไปด้วยโภคทรัพย์สมบัติ หากใครบูชาพญานาค ก็จะเบิกทรัพย์สมบัติเหล่านั้นออกมาใช้ได้ในทางโลก ซึ่งเป็นการยึดโยงจากเรื่องเล่าและกำหนดขึ้นมาเองจากกลุ่มผู้ศรัทธาเท่านั้น หากจะเชื่อโดยสนิทใจนั้นคงต้องใช้วิจารณญาณนะครับ

          เมื่อกล่าวถึงตำนานที่มาที่ไปของพญานาคที่บ้านเรารับเอามานั้น ถูกจารึกไว้ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ก่อนถือกำเนิดพุทธศาสนา แต่ความแตกต่างของนาคในศาสนาฮินดู กับพญานาคที่ในศิลปะแบบไทย คือรูปลักษณะที่นาคของฮินดูจะถูกจำลองมาจากงูขนาดใหญ่แผ่พังพานคล้ายกับงูจงอาง ซึ่งขณะที่พญานาคในประเทศไทยที่เป็นงูใหญ่มีหงอนเดียว และมีเกล็ดสวยงามหลากสี และในหลากหลายความเชื่อที่น้อมนำมาสู่สังคมไทย ล้วนหลอมรวมมาจากปูมกำเนิดของพญานาคในนาคาคติแบบพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งกล่าวถึงพญานาคนั้นถือกำเนิดจากพระมหาฤาษีกสยปเทพบิดร บุตรแห่งพระพรหมผู้มีฤทธานุภาพ เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้ให้กำเนิดเหล่าทวยเทพผู้มีฤทธิ์ หรือมวลมนุษย์ทั้งหลาย

          ด้วยความเชื่อว่าพญานาคและพญาครุฑถือกำเนิดในลักษณะพี่น้องต่างมารดากัน จากตำนานของพระนางกัทรุ และพระนางวินตา สองพี่น้องผู้เป็นชายาของพระกัศยปเทพบิดร ซึ่งมหาฤาษีผู้นี้ ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในเจ็ดของมหาฤาษีที่ยิ่งใหญ่ของโลก สองพระนางจึงขอพร และได้รับพรจากพระสวามี ที่แตกต่างกัน โดยที่พระนางวินตาขอให้มีบุตรที่มีฤทธิ์เดชเก่งกล้าสามารถ พระนางกัทรุขอให้มีบุตรมากที่สุด ครั้นเมื่อได้รับพรจากพระสวามีแล้ว ต่อมาพระนางวินตาจึงได้ให้กำเนิดอรุณเทพบุตรและพญาครุฑ  ส่วนพระนางกัทรุได้ให้กำเนิดพญานาคถึง 1,000 ตน และยังมีตำนานเล่าต่อกันไปอีกว่า พญาครุฑพญานาคเป็นศัตรูกันเพราะความขัดแย้งของมารดา มีที่การท้าทายกัน แล้วสร้างอุบายทำให้พระนางวินตาตกเป็นทาสพระนางกัทรุ และบุตรของทั้งสองฝั่งก็แก้แค้นกันไปมาจนเกิดเป็นครุฑยุดนาค หรือตำนานพญาครุฑจับพญานาคกินมาถึงปัจจุบัน เรื่องนี้ถ้าจะอ่านให้ละเอียดคงต้องขอแนะนำหนังสือ “พญานาค จากตำนานสู่ความเชื่อ” นะครับ เล่าหมดทุกตำนานรวมถึงถอดความจากชาดกเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพญานาคนามว่าภูริทัต ในลักษณะบทความที่สามารถอ่านในภาษาที่เข้าใจง่ายอีกด้วยครับ

          ชื่อเรียกของพญานาคที่สอดรับความเชื่อระหว่างพุทธ-พราหมณ์ ตามลำดับจาก พญาอนันตนาคราช เป็นพี่องค์โตของเหล่านาคทั้งพันตน และเชื่อว่าเหล่าพญานาคที่คนไทยรู้จักกันมากมายนั้น เป็นลูกหลานนาคของพญาเศษะนาค หรืออนันตนาคราช บุตรองค์โตพระกัศยปเทพบิดรนั่นเอง ในส่วนของพญาอนันตนาคราชนั้น ทำหน้าที่เป็นที่บรรทมของพระวิษณุนารายณ์ กับพระแม่ลักษมีเทวี ณ เกษียรสมุทร และเชื่ออีกว่า พญาเศษะนาค หรืออนันตนาคราช จะไม่ถูกครุฑจับกินเป็นอาหาร เนื่องจากความไม่พอใจในบรรดาน้องนาคทั้งหลาย ที่ร่วมมือกับมารดาออกอุบายให้พระนางวินตาตกเป็นทาสในคราวนั้น และด้วยตนที่ทำหน้าที่เป็นที่ประทับของพระนารายณ์ ประกอบกับฤทธานุภาพที่ยิ่งใหญ่เป็นรองเพียงพระตรีมูรติ จึงได้รับการยกเว้นจากพญาครุฑ รวมถึงบุตรหลานของพญาอนันตนาคราชก็เช่นกัน นอกจากนี้ในนาคาคติแบบพราหมณ์ ยังมีพญานาควาสุกรี ผู้มีบทบาทสำคัญในตำนานกวนเกษียรสมุทร หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ ภุชงค์นาคราช ผู้เนรมิตกายคล้องพระศอ (คอ) ของพระศิวะมหาเทพ แต่บทบาทของพระศิวะถูกลดทอนลงตามความเชื่อแบบพุทธศาสนาที่แต่งเติมขึ้นในยุคหลัง คือเป็นพระอิศวรผู้เป็นเจ้าฟ้า เป็นใหญ่กว่าพระอินทร์ แต่ก็ยังอยู่ในสวรรค์ชั้นสูงสุดเท่านั้น ไม่ได้ยิ่งใหญ่เท่าความเชื่อแบบพราหมณ์ ส่วนพระพุทธเจ้าเอง ก็ถูกลดบทบาทลงโดยศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ว่าเป็นอวตารหนึ่งของพระนารายณ์ คาดว่าเกิดจากการประคับประคองเพื่อให้ศาสนาที่ตนตั้งมั่นคงอยู่ผ่านยุคสมัยต่าง ๆ นั่นเอง  

          นอกจากนี้ยังมีพญานาคในนาคาคติแบบฮินดู ที่ไม่ถูกกล่าวถึงอีกมากในชาวพุทธบ้านเราเช่น พญานาคตักษกะ หรือพญานาคอิราวัต ที่แทบไม่ถูกเล่าขานในความเชื่อของไทยเลยแม้แต่น้อย แต่คนไทยเองก็นำพญานาคมาจำแนกออกไปตามบันทึกในคัมภีร์ปรมัตถโชติกา ที่ถูกเขียนขึ้นจากนิมิตหรือตำนาน หรือจินตนาการอื่นใดก็ตามในยุคหลังว่านาคาธิบดีมีทั้งหมด 7 พระองค์ ไล่ไปตั้งแต่ ๑. พญาอนันตนาคราช เอาความเชื่อแบบพราหมณ์-ฮินดูมาน้อมนำ, ๒. พญามุจลินท์นาคราช ผู้แผ่พังพานปกป้องพระพุทธเจ้าจนเป็นที่มาของปางนาคปรกในปัจจุบัน, ๓. พญาภุชงค์นาคราช ที่ถอดความเชื่อมาจากพญานาควาสุกรี, ๔. พญาศรีสุทโธนาคราช ตามความเชื่อการสร้างแม่น้ำโขงโดยเรื่องเล่าขานตำนานพื้นบ้าน, ๕. พญาศรีสัตตนาคราช ผู้ถูกกล่าวถึงและนับถือศรัทธากันมากในประเทศลาว, ๖. พญาเพชรภัทรนาคราช หรือพญาเกล็ดแก้วนาคราช ผู้โด่งดังในโลกโซเชียลตอนนี้ เชื่อกันว่าเป็นบุตรแห่งพญาอนันตนาคราชอีกเช่นกัน, และลำดับที่ ๗. พญานาคดำแสนศิริจันทรานาคราช ที่ระบุความเชื่อว่าปกครองมหาสมุทรใต้ทะเลแอตแลนติส เกทับชาวแอตแลนติสของฝรั่งไปเสียอย่างนั้น จากการจารึกชื่อของพญานาคเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าไม่ได้มีมาแต่อดีต แต่อาจเป็นเหตุจากการนิมิตของพระสงฆ์ หรือการมาเข้าฝันบอกกล่าวตามความเชื่อของตน แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นชื่อนามต่าง ๆ ซึ่งอาจไม่ได้คล้องจองกับบันทึกทางพุทธศาสนาดั้งเดิมเท่าไหร่นัก แต่เพราะเป็นคำพูดของพระ คนไทยจึงเชื่ออย่างไม่ต้องสงสัย

          สำหรับในพุทธศาสนานั้น มีการกล่าวถึงการถือกำเนิดของพญานาคโดยจำแนกได้ 4 ประเภท คือ เกิดจากสิ่งหมักหมม โคลนตม หรือที่เรียกว่า “สังเสทชะ” เกิดจากครรภ์มารดา หรือที่เรียกว่า “ชลาพุชะ” เกิดจากไข่ หรือที่เรียกว่า “อัณทชะ” และเกิดขึ้นเองโดยปาฏิหาริย์ ที่เรียกว่า “โอปปาติกะ” คือเกิดด้วยแรงกรรม ไม่ต้องอาศัยบิดามารดานั่นเอง การถือกำเนิดของพญานาคคือในรูปแบบของงูเป็นปฐม และเมื่อบำเพ็ญเพียรจนถึงวาระจึงสามารถมีฤทธิ์จำแลงกาย เนรมิตวิมานของตน แต่ก็ยังคงต้องกลับสภาพงูเช่นเดิม หากมีการเสพเมถุนระหว่างนาคกับนาคด้วยกัน และเวลาวางใจในการนอนหลับ แต่ก็มีข้อสงสัยว่า แล้วตำนานที่กล่าวถึงนาคที่ขึ้นมาเสพเมถุนกับมนุษย์นั้นจะเป็นไปได้เช่นไร ก็จะมีความเชื่อว่า พญานาคจะอาศัยฤทธานุภาพในการจำแลงแปลงสภาวะต่าง ๆ ให้อำนวยต่อตนนั่นเอง

          ความเชื่อเรื่องของการถือกำเนิดนี้ สอดรับกับการจำแยกพญานาคออกเป็น 4 ตระกูล คือ “วิรูปักษ์” ตระกูลสีทอง เชื่อกันว่ากำเนิดแบบโอปปาติกะ “เอราปถ” ตระกูลสีเขียว เชื่อกันว่าถือกำเนิดจากไข่“ฉัพยาปุตตะ” ตระกูลสีรุ้ง เชื่อกันว่าถือกำเนิดจากครรภ์มารดา และ “กัณหาโคตมะ” ตระกูลสีดำ เชื่อกันว่าถือกำเนิดจากสิ่งหมักหมม โคลนตม และก็ถูกตีความกันไปมากมาย เช่นการแบ่งระดับชนชั้น ว่านาคตระกูลวิรูปักษ์จะอยู่ระดับสูงสุด เป็นชนชั้นปกครอง มีวิมานบนสวรรค์ ซึ่งแนวคิดนี้ไม่ต่างจากการแบ่งชนชั้นวรรณะในศาสนาพราหมณ์แต่อย่างใด เช่น วรรณะกษัตริย์หรือผู้ปกครอง เทียบได้กับตระกูลวิรูปักษ์ (สีทอง), วรรณะพราหมณ์ คือผู้รู้ ครูอาจารย์ เทียบได้กับตระกูลเอราปถ (สีเขียว), วรรณะแพศย์คือผู้ประกอบสัมมาอาชีวะ เทียบได้กับตระกูลฉัพยาปุตตะ (สีรุ้ง), วรรณะศูทรคือผู้ใช้แรงงาน เทียบได้กับตระกูลกัณหาโคตรมะ (สีดำ) แต่การเทียบวรรณะต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเพียงการจำลองแนวคิด เพื่อจำแนกระดับชนชั้นเท่านั้น  ซึ่งในความเชื่อเรื่องพญานาคยัง ชาวไทยเรายังสอดแทรกระดับบารมีและความดีงามที่เหล่านาคตระกูลต่าง ๆ ได้ถือปฏิบัติเข้าไปอีกว่า หากนาคตระกูลใดปฏิบัติด้วยการบำเพ็ญตบะจนมีฤทธิ์เดชแก่กล้า ก็อาจจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าตระกูลของตนได้ เรียกได้ว่าวัดกันจากความดีงามนั่นเอง  

          นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่ของเหล่าพญานาคครับ ไม่ว่าจะเป็นสวรรค์ อันเป็นที่อยู่ของพญานาคบริวารของท้าววิรูปักษ์, พญานาคกลางหาว ทำหน้าที่ให้ลมให้ฝน, พญานาคโลกบาลรักษาแม่น้ำลำธาร, พญานาคที่อาศัยตามแหล่งน้ำ, สระน้ำ, จอมปลวก, ถ้ำ, ภูเขา เป็นต้น เรียกได้ว่าความเชื่อของพญานาคนั้นผูกพันกับคนไทยอย่างแนบแน่น ดังตำนานพญานาคของคนท้องถิ่น เช่น ภาคอีสานลุ่มน้ำโขง ภาคใต้บางส่วน ภาคเหนือตอนบนติดน้ำโขง อาจจะรู้จักพญานาคมากกว่าคนอื่น เพราะความเชื่อนั้นสืบทอดกันมาตามสายอารยธรรมแห่งลำน้ำ ตั้งแต่ประเทศลาวไปจนถึงกัมพูชา โดยที่คนกัมพูชาเชื่อว่าตนเป็นลูกหลานของนางนาคโสมา ผู้เป็นบรรพบุรุษของชาวเขมรโบราณในยุคสมัยของพระเจ้าเกาฑินยะวรมันเทวะ พระมหากษัตริย์กัมพูชาพระองค์แรกแห่งอาณาจักฟูนัน  หรือตำนานพญานาค 15 ตระกูลผู้ปกปักษ์หลวงพระบาง, ตำนานต้นมณีโคตร ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์แห่งคอนพะเพ็ง, หรือตำนานเมืองสุวรรณโคมคำกับพิธีไหลเรือไฟบูชาพญานาค, ตำนานพญานาคสร้างเมืองศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง-ลาว) ล้วนมีเรื่องเล่าสืบทอดสู่คนรุ่นหลังด้วยกันทั้งสิ้น  ส่วนตำนานฝั่งประเทศไทยก็จะมี ตำนานพันธุนาคช่วยสร้างเวียงโยนกนาคพันธุ์ (เชียงแสน), ตำนานศรีสุทโธนาคสร้างแม่น้ำโขง สุวรรณนาคสร้างแม่น้ำน่าน ที่ไปล้อกับตำนานพินทโยนกวตินาค ที่รบกับธนะมูลนาค และคุ้ยควักดินออกเป็นแม่น้ำอู แม่น้ำพิง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี เยอะแยะมากมายจริง ๆ ครับ ไหนจะตำนานพญานาคถล่มเมืองหนองหารหลวง (สกลนคร), ตำนานท้าวพังคีนาค และผาแดงนางไอ่ (หนองหาน – กุมภวาปี), ตำนานปู่อือลือ บึงโขงหลง ภูลังกา ถ้าเป็นภาคใต้ก็ ตำนานพญานาคเมืองมลราช (ลานสกา นครศรีธรรมราช) ตำนานครุฑจับนาค หรือตำนานนาคน้อยสมรสล่มที่จังหวัดพังงา หรือความเชื่อเรื่องทวดงูบองหลา เป็นต้น

          ในความผูกพันของพญานาคกับพระพุทธศาสนา จะมีทั้งนาคบริวารที่นิสัยเกเร หรือมีมิจฉาทิฐิอยู่มาก กับนาคผู้มีจิตเลื่อมใสในศาสนา ดังนั้น ในพระปริตรหลายบท จึงมีการกล่าวคำสวดเพื่อป้องกันนาคผู้มีจิตอกุศลเหล่านั้น ไม่ให้เข้ามากล้ำกรายมนุษย์ผู้ปฏิบัติธรรม และด้วยการจำแนกพญานาคออกหลายเหล่า หลายตระกูลนี้ นาคผู้มีจิตอันเป็นกุศล จึงเชื่อกันว่าจะบำเพ็ญตนรักษาอุโบสถศีล เพื่อการได้มาถือกำเนิดเป็นมนุษย์และบวชเรียนในพุทธศาสนาอีกครั้ง ตามความเชื่อในแบบไทย-พุทธนั่นเอง

          จะเห็นได้ว่า นับแต่โบราณได้มีการระบุว่า “นาค” นั้นมีชาติกำเนิดมาจาก “งู” เป็นเดรัจฉาน เป็นสัตว์เลื้อยคลาน ต่างกันตรงที่มีการบำเพ็ญเพียรจนเกิดฤทธิ์ สามารถจำแลงแปลงกายตนเองเป็นมานพ (มนุษย์) หรือเนรมิตสิ่งต่าง ๆ ได้ นาคชั้นล่างที่ยังเจือด้วยกิเลสหนาอาจมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จึงอาจกล่าวได้ว่า นาคเหล่านั้นไม่สมควรได้รับการไหว้บูชา เพราะยังดำรงตนไม่ต่างจากเดรัจฉานตามภพภูมิเดิม ผิดกับพญานาคราชและบริวารที่ใฝ่ในพระธรรม มีการรักษาศีล 8 และบำเพ็ญตน อีกทั้งยังทำหน้าที่ธรรมบาล ปกป้องพระพุทธศาสนา ดังนั้น พญานาคเหล่านี้อาจจะสมควรกว่าถ้าใครจะศรัทธากราบไหว้ แต่ก็พึงละไว้ในเรื่องของการบูชาด้วยเครื่องสักการะมากมาย เพราะพญานาคในทางพุทธศาสนาต่างกับความเชื่อในแบบพราหมณ์-ฮินดู พญานาคในทางพุทธศาสนานั้นเป็นอีกภพภูมิที่ต้องการบุญกุศลที่มนุษย์อุทิศไปให้ไม่ต่างจากเทวดา การบูชาเพื่อแสดงความเคารพนอบน้อม อาจมีธูป เทียน เครื่องหอม ดอกไม้ ก็เพียงพอแล้วนะครับ หรือถ้าใครจะอิงไปทางฮินดูสักเล็กน้อย ก็ถวายนมอันเชื่อว่าเป็นหนึ่งในปัญจอมฤตก็ทำได้เพื่อความสบายใจครับ

          ในความคิดส่วนตัวของผู้เล่า เกี่ยวกับคำกล่าวที่ว่า “พระพุทธองค์ไม่เคยสอนให้ไหว้บูชาพญานาค” นั่นเป็นคำสอนในทางพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งอาจจะน้อมนำมาใช้กับคนไทยทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ เพราะการหลอมรวมศาสนาเกิดขึ้นแล้วในบ้านเราอย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็น พุทธ พราหมณ์ และศาสนาผีก็ตาม และการที่ใครคนใดจะยกเอาพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งประจำชาติ เป็นการยึดถือสูงสุด ไม่มีสิ่งใดเหนือกว่า หรือไม่มีความเชื่อใดสูงกว่า ก็กลายเป็นการยึดมั่นถือมั่น มั่นในตนไม่พอ ต้องให้ผู้คนมั่นตามตนไปเสียทุกอย่าง ดังนั้น ในมุมมองของผม ใครก็ตามที่ปรามาสการกราบไหว้สรรพสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ ผู้มีพระคุณ ถือเป็นการปรามาสวัฒนธรรมของชาติเช่นเดียวกัน เพราะการที่คุณจะตะแบงอยู่ฝ่ายเดียวว่า “ศาสนาพุทธไม่ได้สอน ศาสนาพุทธไม่ได้สอน” มันจะกลายเป็นว่าคุณไม่เคยผ่านการศึกษาทางประวัติศาสตร์ชาติอย่างแท้จริง และไม่เข้าใจเข้าว่า การที่เรามีประเพณีและวัฒนธรรมที่หลากหลายนั้น เกิดจากสยามประเทศรับเอาความเชื่อทางศาสนาที่หลากหลายเข้ามาผ่านยุคสมัยต่าง ๆ แม้แต่พุทธศาสนาเองก็มีการยึดถือแบบเถรวาท สลับกับบางห้วงประวัติศาสตร์ที่ยึดถือแบบมหายาน รวมถึงการสอดแทรกแนวคิดวิถีปฏิบัติในแบบพราหมณ์-ฮินดูเข้ามาในเวลาใกล้เคียงกัน การรับเอาประเพณีและวัฒนธรรม และอารยธรรมขอมโบราณก็มีอิทธิพลต่อคนไทยไม่แพ้กัน ดังนั้น การตีความเรื่องของศาสนาเป็นเพียงเรื่องขาว-ดำ จึงเป็นการหยุดชะงักทางอุดมคติที่หาการเปลี่ยนแปลงมิได้ เป็นการถืออัตตา ยึดมั่นว่าสิ่งที่ฉันเรียนรู้มานั้นถูกต้อง จริงที่สุดแล้ว กลายเป็นว่า ศึกษาธรรมแต่ไม่สามารถน้อมนำมาใช้ได้ ยึดตัวเองเป็นใหญ่ และปรามาสศรัทธาของผู้อื่นไปเสียอย่างนั้น ผมจึงมองเรื่องของศรัทธากราบไหว้เป็นเรื่องนานาจิตตัง หากใครจะเคารพในพญานาคผู้ทำหน้าที่ธรรมบาลพระพุทธศาสนา โดยน้อมนำว่าเป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน เป็นเสมือนญาติธรรม การกราบไหว้จึงไม่เห็นเหตุแห่งความไม่เหมาะสม และไม่จำเป็นต้องท่องอาขยานว่า “พญานาคเป็นเดรัจฉาน ไปไหว้ทำไม” การแสดงความเคารพบูชาต่อเดรัจฉานที่รักษาธรรม สร้างความดี  อาจเหมาะสมว่าการแสดงความเคารพต่อผู้ที่ไม่มีศีลปฏิบัติที่เหมาะสมแก่การยกย่องเชิดชูเลยก็ได้นะครับ เพราะการจะนำพาผู้คนให้ศรัทธาพระพุทธศาสนาอย่างเข้าใจ ไม่จำเป็นต้องแสดงทัศนคติเชิงลบเสมอไป อะไรก็ตามที่เราบอกว่า “ห้าม” ตามธรรมชาติของมนุษย์จะคิดในทางตรงกันข้ามเสมอ เช่นเราบอกว่า “ห้ามไหว้” จิตของคนก็จะคิดภาพไปแล้วว่า “กำลังไหว้” พอบอกว่า “ห้ามบูชา” จิตของคนก็คิดภาพตามไปแล้วว่า “บูชาคืออะไร” และการใช้คำว่าห้ามต่อผู้คนที่ศรัทธาเหนียวแน่นอยู่แล้ว โดยอ้างหลักคำสอนของพระพุทธองค์ ผู้ที่กล่าวอ้างคิดหรือไม่ครับว่า คนที่ศรัทธาอยู่แล้ว เขาจะปฏิเสธสิ่งที่เขาบูชา หรือจะปฏิเสธพระพุทธเจ้า หากเขามีใจใฝ่พระธรรมอย่างเหนียวแน่น แน่นอนว่าเขาย่อมเข้าใจได้ แต่การ “ห้ามไหว้พญานาค ไปไหว้ทำไม พญานาคเป็นเดรัจฉาน” คิดหรือครับว่าผู้ที่ศรัทธาจะยกเลิกการไหว้ ดีไม่ดีจะยิ่งหนักกว่าเดิมด้วยความคิดใหม่ที่ว่า “ถ้าศาสนาพุทธมันยากนัก ต่อไปนี้ก็จะไม่ไหว้พระแล้ว เพราะฉันไม่ได้อยากเข้าใจ ฉันไม่ได้อยากไปนิพพาน ฉันอยากรวย!!!” เพราะฉะนั้นผู้ที่ชอบกระทบกระเทียบเปรียบเปรย หรือพูดแดกดันประมาณนี้ อาจจะต้องตรองให้ถ้วนถี่ ว่าได้ลัทธิต่อต้านความงมงายแบบหยาบคาย หรือได้ใครที่ถือศีล ๕ เคร่งครัดขึ้น เพราะทุกวันนี้คนไทยรู้ทฤษฎี รู้ข้อปฏิบัติ ท่องอาขยานว่า “พระพุทธเจ้าสอนให้ไปนิพพาน พระพุทธเจ้าสอนให้ตัดกิเลส พระพุทธเจ้าสอนให้ใช้สติปัญญา” แต่กี่เปอร์เซ็นต์ของคนที่พูด สามารถน้อมนำคำสอนสักกี่ข้อมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน 

          โดยส่วนตัว ผมมองว่า สิ่งที่สำคัญคือการอธิบายให้ผู้ศรัทธาเดิมได้เข้าใจ ว่าสำหรับผู้ที่เชื่อถือศรัทธาในพญานาคนั้นพึงรู้ถึงการไม่พาตนเองดำดิ่งลงไปสู่ความงมงาย การจะกราบไหว้บูชาทุกสิ่งที่จินตนาการว่าเป็นพญานาคก็คงเป็นเรื่องขาดสติ เพราะจะกลายเป็นกราบไหว้เดรัจฉานกันไปเสียหมด เพราะโจทย์ของเราคือพญานาคผู้ทำหน้าที่ธรรมบาลพระพุทธศาสนา มีศีล 8 หรือถืออุโบสถศีล และใฝ่ในการฟังธรรม การปฏิบัติธรรม จึงเหมาะจึงควรแก่การเคารพบูชา ดังนั้น การที่เราเห็นสิ่งแปลกประหลาดก็ทักว่าเป็นพญานาค หรือแม้กระทั่งการเชื่อว่าพญานาคจะเข้าสิงร่างเพื่อทำกิจกรรมบางอย่าง แบบนี้ก็ดูจะไม่พิจารณาเหตุผลที่เหมาะสมจนเกินไป การที่เราเกิดมาเป็นคน แล้วต้องจินตนาการว่าพญานาคมาเข้าร่าง แล้วเลื้อยเป็นงู แบบนั้นต้องระมัดระวังความเชื่อในลักษณะศาสนาผีด้วยนะครับว่า เป็นเปรตงูเข้าสิงหรือเปล่า และต้องพึงระลึกเสมอด้วยว่า พญานาคผู้มีศีลและศรัทธาต่อพุทธศาสนา จะไม่มีการปรากฎกาย หรือแสดงปาฏิหาริย์ใดแหกตามนุษย์แน่นอน เพราะนั่นเป็นการกระทำที่ผิดอุโบสถศีล หรือศีล 8 ประการ และพญานาคผู้ใฝ่ในพระธรรมเหล่านั้น ย่อมไม่ไปแสดงตนเข้าสิงร่างคนทรงแล้วร่ายรำบวงสรวง ดื่มสุรากินอาหาร เหมือนเช่นที่ทำกันในปัจจุบันอย่างแน่นอน เพราะนั่นก็เป็นการผิดศีลข้อ 6 และข้อ 7 เช่นเดียวกัน การพยายามตั้งตนเป็นผู้วิเศษของกลุ่มสายฌานพญานาคที่ขาดสติ จึงต้องพิจารณาตนเองให้มากว่า ตนนั้นเป็นพวกผิดกาละเทศะมากเพียงใด น้อมนำเปรตงูหรือนาคเกเรตนใดมาใส่ตัวเอง ปล่อยกายปล่อยใจให้ ยอมพลีร่างให้ใครต่อใครมาสิงมาสู่ แบบนี้อาจนำพาผู้คนไปสู่ศรัทธาที่เสื่อมถอยลงได้ และเป็นบาปติดตัวคนเหล่านั้นได้เช่นเดียวกัน ขอให้รีบถอนตัวออกมาโดยเร็วพลัน เพื่อสร้างทานกุศลบารมีในวันนี้

          ถ้าพิจารณาได้อย่างนี้ เราคงพอแยกแยะได้แล้วว่า พญานาคเหล่าใดเหมาะสมที่ใครจะศรัทธาหรือพึงกราบไหว้ เพื่อแสดงความเคารพนอบน้อม การไหว้หรือการบูชาตามสมควร เพียงเพื่อแสดงความเป็นมิตรไมตรี เป็นสหายธรรมต่อกัน หรือนับเป็นญาติธรรม ไม่ได้หมายความถึงจะต้องอินตลอดเวลา น้อมนำความเชื่อว่าจะต้องบูชาตลอดไม่ขาด วันไหนไม่ได้ถวายเครื่องบูชาก็กังวลใจกลัวท่านปู่พญานาคจะโกรธ หรือกลัวท่านจะเมินเฉย ไม่ประทานพรให้เหมือนที่เคยสำเร็จมาแล้ว แบบนั้นเป็นวิธีคิดที่ยึดติดเกินไป เพราะในภพภูมิของพญานาค ไม่ได้ต้องการสิ่งเหล่านี้อีกแล้ว ถ้าจะอิงกันตามความเชื่อ ภพของพญานาคนั้นไม่ต่างกับเทวดาเบื้องล่าง สิ่งที่ต้องการคือให้มนุษย์บำเพ็ญศีล ภาวนา และอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ไม่ต่างกับเหล่าเทวดารอบตัวเรา ยิ่งมนุษย์ทำความดี พญานาคเหล่านั้นอาจจะช่วยส่งเสริมบุคคลผู้ประกอบบุญกุศล และหากใช้สติพิจารณา เราพึงเห็นว่า พรใดก็ตามที่มนุษย์ร้องขอ ส่วนใหญ่ผู้ที่สำเร็จจะได้มาจากการลงมือทำด้วยความมุ่งมั่น กระทำด้วยความรักในงาน รักในสิ่งที่ตั้งเป้า กระทำด้วยความเพียรพยายาม และมุ่งมั่น ประกอบด้วยสติปัญญาพิจารณาถ้วนถี่ ส่วนโชคลาภ และลาภลอย อาจจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นอานิสงส์จากบุญ หรือเป็นความบังเอิญ นั่นเป็นเรื่องนานาจิตตังครับ

          และเมื่อจะกล่าวถึงการถวายเครื่องสักการะบูชา สิ่งนี้น้อมนำวิถีปฏิบัติในแบบพราหมณ์-ฮินดู ถามว่าผิดไหมคงตอบได้ว่าไม่ผิด ในส่วนของใครจะศรัทธาแต่พญานาคไม่ไหว้พระรัตนตรัยก็ไม่ผิด ถ้าใครจะเลือกปฏิบัติแบบนั้น เพราะใครก็ไม่สามารถเอาคำสอนทางศาสนาและนิกายที่ตนยึดมั่นถือมั่นมาเป็นเครื่องตัดสินผู้ใดได้ แต่สิ่งที่อาจจะผิด ก็คงผิดต่อความเชื่อเรื่องของพญานาคในทางศาสนาพุทธ เพราะพญานาคเหล่านั้นมีศรัทธาแก่กล้าต่อพระพุทธศาสนา ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า “ชนหมู่ใดบูชาพญานาค ย่อมเป็นผู้ศรัทธาในพุทธศาสนาเป็นปฐม” เพราะไม่ว่าจะเป็นความเชื่อในเรื่องของพญานาคที่ขึ้นมาจุติเป็นมนุษย์ จะด้วยเหตุผลเดียวกันคือต้องการมาปฏิบัติธรรมเพื่อการหลุดพ้น จึงมีความสอดคล้องกับความเชื่ออีกเรื่องที่ว่า นิสัยของคนที่เกิดจากภพภูมิพญานาคจะมีความคล้ายกันคือใฝ่ในพระธรรม แต่ก็ยังยึดติดกับภพภูมิเก่า จึงทำให้มีความผูกพันกับพญานาค มีภาพนิมิต มีจิตปฏิพัทธ์ต่อกัน มีสัญญาณเรื่องของงู เรื่องของแม่น้ำลำธาร ถ้ำลอด ถ้ำหลวง หรือปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติอื่นใด และยังเคารพบูชาซึ่งกันและกัน หากผู้นั้นปฏิบัติชอบในศีลในธรรม ผู้ที่จะบูชาพญานาคหากไม่มีจิตคิดปฏิบัติธรรม ไม่ถือเป็นลูกหลานพญานาคอย่างแท้จริง

          สรุปหัวข้อที่ว่า “พญานาค เป็นเดรัจฉาน สมควรแก่การกราบไหว้หรือไม่” ก็นับได้ว่าเป็นเรื่องนานาจิตตัง แต่ก็มีเหตุผลอันสมควรหากการกราบไหว้นั้น เป็นการให้เกียรติกัน แสดงถึงการเป็นสหายธรรม เป็นญาติธรรม และพึงไหว้เพียงพญานาคผู้เป็นธรรมบาลรักษาพุทธศาสนาเท่านั้น พญานาคอื่นใดที่ปรากฏจากภาพหลอน ภาพนิมิตผิดเพี้ยน หรือจินตนาการ พึงละไว้ให้เป็นโอปปาติกะประเภทหนึ่ง พึงส่งบุญกุศลไปให้ และระลึกในใจว่า ให้เขาเหล่านั้นเป็นผู้ที่ใฝ่ศึกษาและปฏิบัติธรรม รู้เพียงเท่านี้ กำหนดเพียงเท่านี้ แล้วปล่อยวางครับ อย่าไปเอาบริบทการบูชามาทำให้มากพิธี อาจไม่เกิดประโยชน์กับตนก็เป็นได้ เราในฐานะมนุษย์ เป็นผู้ประเสริฐสามารถเข้าถึง ศีล ภาวนา สมาธิ และการให้ทานเป็นนิจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นใดจะเป็นผู้ติดตามเรา มิใช่ให้เราวิ่งเร่ไปเที่ยวขอพรครับ เพราะตราบใดที่เราไม่มีศีล ไม่ขัดเกลาจิตใจ ไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดช่วยเราได้แน่นอน ถ้ารักการขอพร ก็ต้องแลกด้วยบุญกุศล แต่ถ้าจะรักการสร้างความสำเร็จด้วยการให้พรตัวเอง ก็ต้องปฏิบัติตามแนวทางที่สมควร ตามหลักคำสอนที่ปฏิบัติได้ ทำบุญให้เป็นบุญ แล้วส่งไปสู่ภพภูมิอื่นใด ให้เขาได้ร่วมอนุโมทนา แล้วเก็บพลังแรงบุญมาเติมที่ใจเรา ไม่ว่าจะทำอะไรก็สำเร็จได้ โดยที่ไม่ต้องเอ่ยปากขอพรเลยแม้แต่น้อย ขอเพียงมีเป้าหมายที่ชัดเจน เป็นเป้าหมายที่ไม่เบียดเบียนใคร และลงมือทำอย่างมีสติ รักในสิ่งที่ทำ ขยันอดทน มุ่งมั่น ทบทวนสิ่งที่ทำเป็นนิจ ความสำเร็จ ความรุ่งโรจน์ และความร่ำรวย พึงเกิดขึ้นกับตน เป็นพรที่เราประทานให้ตนเอง หรือที่เรียกว่า “พรสวรรค์” ที่เราสร้างขึ้นเองครับ


-------------------------- @ -----------------------------

ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับพญานาค ครบสมบูรณ์ หาอ่านได้ในหนังสือ "พญานาค" จากตำนานสู่ความเชื่อ





👇👇👇👇👇👇👇👇

Saiheal Bookstore and Crafts




ความคิดเห็น

คนชอบอ่าน

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ วานส์” (QUEEN OF WANDS)

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ เพนตาเคิลส์” (QUEEN OF PENTACLES)

ความหมายของไพ่บุคคล คิง ออฟ คัพส์ (KING OF CUPS)

ความหมายของไพ่ "เดอะ เวิลด์" (THE WORLD) สอนอ่านไพ่ยิปซี