เลิกบุหรี่ ง่ายนิดเดียว !!
#เลิกบุหรี่ง่ายนิดเดียว
บันทึกนี้ก็มาเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการเสพติดบุหรี่นะครับว่า มีเหตุจูงใจอย่างไร ผลของการสูบบุหรี่เป็นเช่นไร และแนวความคิดที่จะเลิกบุหรี่ทำได้อย่างไร ...วิธีการที่จะบำบัดตัวเองเพื่อให้ลด ละ เลิกสูบบุหรี่ คือการตั้งสติพิจารณาไปตามลำดับ ดังต่อไปนี้
1. ทบทวนอารมณ์ยามสูบว่ามีความสุขแบบไหน ผ่อนคลายอย่างไร มันรู้สึกดีเริ่มต้นจากการดึงควันลงปอดไปอย่างไร มึนชาตรงไหนหรือไม่ เบาแบบไหน คลายเคลียดได้อย่างไร
2. ทบทวนว่า ผลกระทบจากการสูบบุหรี่ หรือความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลังจากเริ่มสูบมีอะไรบ้าง ตาเหลืองขึ้นไหม หน้าโทรมแบบไหน ฟันเหลืองขึ้นไหม เหงือกอักเสบไหม มีกลิ่นปากไหม มีกลิ่นตัวกลิ่นเหงื่อที่เหม็นเค็มเหม็นเปรี้ยวแบบไหน เป็นที่น่ารังเกียจของผู้ไม่สูบแบบไหน และสำหรับใครที่มองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ ลองสอบถามจากเพื่อนสนิทสักคนที่จริงใจกับคุณและเขาไม่สูบบุหรี่ดูว่า เขารู้สึกอย่างไร และให้สุ่มถามจากคนที่คุณไม่รู้จัก ไม่สนิทเลย ว่าหลังจากที่คุณสูบบุหรี่แล้ว เขารู้สึกอย่างไร เหม็นแค่ไหน เขารังเกียจคุณหรือไม่ ขอให้เขาตอบด้วยความจริง
3. ให้ลองคิดย้อนไปในอดีตนับแต่วันที่ยังไม่เริ่มฝึกสูบบุหรี่ว่า ตนเองมีความสุขแบบใด ร่างกายเป็นอย่างไร สดชื่นแบบไหน รู้สึกดีอย่างไร ตรงจุดนี้จะมีอยู่สองปมในอดีตคือ คนที่เคยมีความสุขก่อนสูบบุหรี่ กับคนที่เคยมีความทุกข์ก่อนสูบบุหรี่ จะด้วยสภาพแวดล้อม สภาพครอบครัว หรือสิ่งอื่นใดก็ตามที่เป็นปัจจัยให้คุณทุกข์ คุณเครียด จนต้องพึ่งพาบุหรี่ ซึ่งในกรณีที่ต้องการตัดใจเลิก สำหรับคนที่เคยสุขภาพร่างกายแข็งแรงมีความสุขดีก่อนจะฝึกสูบ จะสามารถเลิกสูบได้ง่ายกว่าคนที่เคยมีปมทุกข์ในอดีต ดังนั้น สำหรับคนที่เคยมีปมทุกข์ คุณจะต้องสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมาทดแทนตัวตนเก่าที่เคยทุกข์ นั่นหมายถึง ให้คุณคิดไว้เลยว่า ถ้าคุณเลิกบุหรี่ได้ คุณจะได้ตายแล้วเกิดใหม่ เป็นคนที่สังคมยอมรับ เป็นคนที่ร่างกายดีขึ้น มีความสุขในแบบที่คุณไม่เคยสัมผัสมาก่อนอย่างไร
4. เมื่อสร้างแรงจูงใจในการเลิกบุหรี่ได้แล้ว ก็ให้ค่อย ๆ ลดปริมาณการสูบลง สมมุติว่าคุณเคยสูบวันละ 10-12 ตัว ให้คุณลดลงเหลือ 8 ตัว หรือ หากคุณสูบวันละ 3 ตัว ให้คุณลดเหลือ 1-2 ตัว เป็นต้น
สิ่งที่สำคัญคือการจำกัดเวลาการสูบ ด้วยการตั้งกฎให้ตัวเอง เช่น ฉันจะสูบเฉพาะเวลาเลิกงานเท่านั้น หรือ ฉันจะสูบเฉพาะเวลาดื่มเหล้าเท่านั้น โดยการที่คุณจำกัดเวลาในการสูบ สิ่งยั่วยุสำคัญนั่นก็คือ คุณจะเร่งเข้าหาเวลาแบบนั้นเสมอ เพราะอะไร? เพราะคุณอยากสูบบุหรี่ คุณจะหาเรื่องดื่มเหล้าโดยที่ไม่มีแรงกระตุ้นมากไปกว่า ฉันจะสูบบุหรี่เวลาดื่มเหล้า หรือ คุณจะเร่งการทำงาน พยายามรอเวลาเลิกงานเพื่อที่คุณจะสูบบุหรี่
ดั้งนั้น การตั้งกฎให้ตัวเอง จะมีอุปสรรคใหญ่เรื่องสิ่งยั่วยุดังกล่าว มันจะเป็นแรงกระตุ้นให้ทำกิจกรรมอย่างอื่นไม่สมบูรณ์ เพราะมุ่งหวังพุ่งเป้าไปที่เวลาที่คุณอนุญาตให้ตัวเองสูบบุหรี่ วิธีแก้ก็คือ ให้ตั้งกฎวัน หรือกฎปริมาณเข้าไปด้วย เช่น ฉันจะสูบบุหรี่เฉพาะเวลาเลิกงานไม่เกินวันละ 2 ตัวเท่านั้น หรือ ฉันจะสูบบุหรี่เฉพาะเวลาดื่มเหล้าในวันศุกร์เท่านั้น
การเพิ่มกฎเหล็กให้ตัวเอง จะทำให้ความยากที่จะสูบมีมากขึ้นก็จริง แต่ก็ยังไม่ใช่หนทางของการเลิกสูบที่ยั่งยืน เป็นเพียงการพยายามจำกัดการสูบบุหรี่เท่านั้น คุณจะต้องมีแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ขึ้นสำหรับตนเอง ย้ำ ... สำหรับตนเอง ... เพราะการที่คุณพยายามทำเพื่อคนอื่น มันมีจุดบอดเสมอ เช่น คุณบอกว่า ฉันจะเลิกบุหรี่เพื่อลูก แต่เมื่อใดที่ลูกคุณไม่อยู่ หรือลูกคุณมีครอบครัว คุณก็จะสร้างภาพสะท้อนวันวานอันหวานปอดและกลับไปสูบมันอีก .. หรือ .. ฉันจะเลิกบุหรี่เพื่อแฟน เมื่อใดที่คุณทะเลาะกับแฟน คุณจะอยากสูบบุหรี่มากกว่าเดิม อย่าหาทำ
การทำอะไรเพื่อตนเอง คือการที่่คุณเข้าใจระบบร่างกายตัวเอง เข้าใจความเสื่อมเมื่อสูบบุหรี่ลงปอด ว่ามันไปทำลายถุงลมปอดของคุณทีละถุง ๆ อย่างไร ปอดจะสะสมควันพิษจนดำ และหายใจลำบากแบบไหน ให้คุณลองกลั้นหายใจแล้วจินตนาการว่า ตอนนี้ปอดฉันไม่สามารถรับออกซิเจนได้แล้ว และฉันจะต้องต่อท่อช่วยหายใจ นั่นเพราะถุงลมปอดของฉันพังไปหมดแล้ว หรือ สมองฉันทำงานช้าลง ง่วงนอนบ่อย ตับทำงานหนัก ทุกระบบร่างกายฉันกำลังช่วยฟื้นฟูทุกครั้งที่ฉันสูบบุหรี่ แล้วมันทำให้ฉันเป็นคนห่วยแตกตัวเหม็นสกปรกในสายตาคนอื่นแบบไหน และเมื่อแรงบันดาลใจที่จะทำอะไรให้ตัวเองมีมากขึ้น ความอยากเห็นตัวเองเปลี่ยนไปในสิ่งที่ดีขึ้นทั้งสุขภาพ สังคม ความสะอาด การเป็นที่ยอมรับมีมากขึ้น นั่นจะเป็นแรงบันดาลใจที่ดีที่สุดที่คุณจะเลิกบุหรี่
หลายคนใจแข็ง ใช้วิธีหักดิบ นั่นเป็นเพราะจิตใจของเขามีความตั้งมั่น อดทน และเชื่อมั่นในตนเอง ไว้ใจตนเอง ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเลิกสารเสพติดทุกชนิด และมีคนจำนวนมากที่ทำมันได้ เพราะเอาจริง ๆ แล้วมันก็แค่บุหรี่ครับ เราไม่ได้คาบมันออกมาจากปากตั้งแต่ตอนเกิด ดังนั้น จงเชื่อมั่นเถอะว่า "ต่อให้ไม่สูบ คุณก็ไม่ตาย" แต่ในขณะเดียวกัน "ถ้าคุณสูบ คุณอาจจะไม่ได้ตายสบาย" ทางเลือกง่าย ๆ ในการใช้ชีวิต
อย่าไปเปรียบเทียบกับคนสูงวัย ที่อายุ 90+ แล้ว แกยังเดินสูบบุหรี่อยู่เลย นู่นนี่นั่นบลา ๆ ความโชคดีไม่ได้มีกับทุกคนครับ ที่สำคัญ คุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ที่เขาสูบนั่น แค่อมควันแล้วทิ้ง หรือสูดลงปอดแบบที่คุณทำอยู่ ดังนั้น จงอย่าเชื่อ หรือเก็บเอาภาพจำของใครมาเป็นไอดอล เพราะพฤติกรรมการสูบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
เหมือนกับข่าวเด็กที่สูบพอต เด็กบางคนสูบเอามันส์ ดึงลมลงไปยันกระบังลม ปอดมันจะเหลืออะไร อยากให้ควันเยอะ ๆ เท่ห์ ๆ ยิ่งสูบเยอะ น้ำยาจากพอตก็ลงไปที่ปอดด้วย สุดท้ายต้องแอดมิดด้วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ปางตายกันมากมาย หรือบางคนที่ชอบสูบบุหรี่ แต่เขาแค่อมไว้ในปากแล้วพ่นออก เขาก็รับสารเคมีในปริมาณน้อยกว่า ร่างกายกายส่งผลกระทบช้ากว่า ดังนั้น ผลเสียต่อร่างกายจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่ก็มีให้เห็นมากมายนัก และถึงแม้วิธีการนี้จะไม่ใช่ทางออกโดยตรงของคนที่พึ่งพาบุหรี่ แต่มันเป็นทางเลือกที่ดีของคนที่กำลังพยายามลดบุหรี่
ดังนั้น ให้คุณสังเกตพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคุณ แล้วค่อย ๆ ปรับทั้งหมดเลย ทั้งเรื่องปริมาณ และการดึงควันลงปอดแบบไหน ให้ลดลงจากเดิม ดึงให้น้อยลง อาจจะเปลี่ยนเป็นอมแล้วพ่นออก โดยไม่เพิ่มปริมาณจำนวนมวนบุหรี่ แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังอีกอย่างก็คือควันบุหรี่ เวลาที่เราพ่นออกมาหากเป็นสถานที่อับอากาศ เราก็จะสูดดมควันพิษกลับเข้าไป หรือควันไปทำร้ายคนที่ไม่สูบบุหรี่ได้ พยายามพ่นออกไกล ๆ ตัวเอง และถือบุหรี่ให้สูงขึ้น ให้ควันลอยขึ้นด้านบน ลดผลกระทบเรื่องสูดดมควันให้มากที่สุด สำหรับคนที่พยายามลด ละ เลิก นะครับ
อีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้ความอยากบุหรี่ลดลงคือ พยายามอย่าอยู่เฉย ๆ ถ้าไม่มีอะไรทำ สิ่งที่พึงกระทำที่สุดคือ "การนอน" เพราะการนอนเป็นการรีบูตร่างกายได้ดีมาก ถ้าเริ่มอยากมาก ๆ นอนให้หลับ ตื่นมาก็หายอยากแล้ว หรือไม่หลับก็ไปอาบน้ำ แปรงฟัน สระผมหอม ๆ พอร่างกายสะอาด ความอยากสูบบุหรี่ก็จะลดน้อยลงไปเอง
เอาใจช่วยทุกคนที่พยายามเลิกสูบบุหรี่นะครับ อย่ามองว่ามันเป็นเรื่องยาก มันก็แค่นิสัยที่เราโปรแกรมให้ตัวเอง เปลี่ยนที่ตัวเอง เปลี่ยนที่ใจ ไม่ต้องพึ่งพาสารเสพติด ร่างกายจะได้เป็นพาหนะให้เราไปนาน ๆ ครับผม
หากถามว่า ผู้สูบบุหรี่สามารถฝึกปราณวิถีได้หรือไม่ คำตอบก็คือได้ครับ แต่ต้องจัดตารางเวลาให้เหมาะสม และต้องพักปอดหลังการสูบพอสมควรแล้ว จึงฝึกลมหายใจแบบลึก ซึ่งผลพลอยได้ในเรื่องสมรรถภาพร่างกายก็จะลดน้อยถอยลงไปกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และอาจจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางจิตได้ไม่มากนัก เพราะฤทธิ์ของนิโคตินจะปิดกั้นการทำงานโดยสมบูรณ์ของสมองอยู่พอสมควร แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถทำได้ เพียงแค่เริ่ม หรือพยายาม หรือทดลองทำซ้ำ มีความอดทนหมั่นเพียร จากที่สูบจัด ๆ ก็จะค่อย ๆ ลดลง ลดลง จนถึงหยุบสูบไปเอง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น