เถียงกันเอาเป็นเอาตาย เรื่อง "บั้งไฟพญานาค" จริง หรือปลอม ใครได้ประโยชน์? หรือควรโทษใคร?

 "ในขณะที่คนไทยเห็นขึ้นจากฝั่งลาว คนลาวก็เห็นขึ้นจากฝั่งไทย แล้วสรุปใครควรรับผิดชอบ ความเชื่อคนลาวเขาไม่ทำร้ายคนของเขา แต่ความเชื่อคนไทย กำลังทำร้ายกันเอง แล้วมันสมควรหรือไม่ที่จะให้เขามารับผิดชอบความเชื่อของตัวเอง และยัดเยียดคำว่างมงาย กบในกะลา ให้กับผู้ไปร่วมงานออกพรรษา รวมถึงสาเหตุของความงมงายคือชาวลาว .. งั้นหรือ?" 

บั้งไฟพญานาค

งานบุญออกพรรษา "#บั้งไฟพญานาค" กลายเป็นข้อถกเถียงและเป็นประเด็นในโลกโซเชียลอย่างดุเดือดเกี่ยวกับการท้าพิสูจน์ หรือการงัดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาฟาดฟันเชือดเฉือนความเชื่อดั้งเดิมที่กลายเป็นความงมงาย การพยายามเปิดเผยความจริงเพื่อให้คนไทยตื่นรู้ถึงสิ่งที่เป็นจริง สิ่งที่เป็นเท็จ ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์? หรือคนที่ต้องการลบล้างความเชื่อเหล่านี้เพื่อจุดประสงค์อะไร? เรามาลองพิจารณากันดังนี้

ก่อนอื่นผู้เขียนขอเล่าประสบการณ์ตรงที่เคยไปชมบั้งไฟพญานาคเมื่อครั้งปี พ.ศ. 2554 ให้ทุกคนได้ฟังกันเสียก่อน เพื่อให้เป็นแนวทางในการลำดับเรื่องราวเหล่านี้  ซึ่งในครั้งนั้น ผู้เขียนนั่งเครื่องไปลงอุดรฯ แล้วต่อรถทัวร์ไปหนองคาย เพื่อนั่งรถสองแถวไปวัดไทยโพนพิสัย ด้วยใจอยากไปเห็นบั้งไฟผี หรือบั้งไฟพญานาคตามคำร่ำลือสักครั้งให้หายข้องใจ แบกกระเป๋าพร้อมเต็นท์สนามไป 1 หลัง กางริมโขงท่าน้ำวัดไทย (ในปีนั้นคนไม่เยอะเท่าปัจจุบัน) จับจองที่ได้ก็ไปหาอะไรกิน รอเวลาช่วงหัวค่ำ นั่งรอดูหน้าเต้นท์แบบชิลล์ ๆ ถ้าเป็นปัจจุบันนี้ไม่ชิลล์เพราะร้านรวงคนไปชมแน่นมากเวอร์ เวลาประมาณ 19.30 กว่า ๆ (ถ้าจำไม่ผิด) ก็มีเสียงเฮลั่นท่าน้ำ เพราะลูกไฟดังกล่าวเริ่มพวยพุ่งขึ้น

แต่ผู้เขียนก็สังเกตุได้ว่า ลูกไฟเหล่านั้น ไม่ได้ขึ้นที่ฝั่งไทย หรือกลางแม่น้ำเลยสักดวง เป็นการพุ่งขึ้นจากพุ่มไม้ฝั่งลาวล้วน ๆ และขึ้นอยู่แค่มุมเดียว คือมองไปตรงข้ามแม่น้ำฝั่งลาวจะอยู่ซ้ายมือของจุดที่ผู้เขียนกางเต็นท์  ยอมรับว่าแคลงใจไม่คุ้มกับที่ต้องการเดินทางมาชมเอาเสียเลย ลูกไฟมันต้องลอยขึ้นจากน้ำสิ แล้วมันต้องกระจายกันไป ไม่ใช่แบบนั้น แถมเสียงประทัด เสียงพลุก็ดังสนั่น จะแยกออกได้อย่างไร ระหว่างบั้งไฟพญานาคกับเสียงปืนพลุไฟใด ๆ .... แน่นอนครับ แยกไม่ออก 😂 ยอมรับเลยว่า "ผิดหวังมาก" จนกระทั่งเวลา 4 ทุ่มกว่า ๆ พ่อค้าแม่ค้าเริ่มทยอยเก็บของกลับบ้าน รวมถึงคนที่มาชมแบบไม่ได้นอนค้าง หรือจะไปนอนรีสอร์ทก็ตาม เริ่มกลับกันไปพอสมควร เหลือเพียงกลุ่มคนที่กางเต้นท์ กับเด็กวัยรุ่นบางกลุ่มที่นั่งเล่นกันในศาลาริมน้ำวัดไทย

เวลา 5 ทุ่มกว่า ๆ พี่สุที่มากับลูกชายและคุณแม่เต็นท์ข้าง ๆ พี่แกเป็นคนสุพรรณบุรี มาเพื่อรอชมเช่นกัน ขับรถมา ก็ได้ทักทายพูดคุยกันตั้งแต่ยามเย็นนั่นเอง ผู้เขียนและพี่สุก็เตรียมตัวนอนเป็นที่เรียบร้อย พี่แกก็เข้าเต็นท์ของแกปิดประตูไปก่อนหน้าผู้เขียนแล้วเช่นกัน ส่วนตัวผู้เขียนนั้น ยังนั่งเหม่อลอย เสียความรู้สึกอยู่หน้าเต็นท์อย่างสิ้นหวัง แต่ก็ยังมีความพยายาม จึงได้นั่งทำใจให้สงบ แล้วพูดขึ้นมาว่า "หากข้าพเจ้ามีบุญกรรมสัมพันธ์ใดกับความเชื่อนี้ ก็ขอให้ได้เห็นประจักษ์แก่สายตาสักครั้งเถิด" สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีดวงไฟสองดวง สีคล้ายกันกับที่ขึ้นฝั่งลาวนั่นเอง ลอยขึ้นจากน้ำฝั่งไทย ริมศาลาวัดไทย ห่างจากจุดที่ผู้เขียนกางเต็นท์ไม่ถึง 200 เมตร และขึ้นห่างจากศาลาริมน้ำ ไม่ถึง 5 เมตร ลอยขึ้นทีละดวง ตามติดกันสองดวง ขึ้นเหนือหลังคาศาลาริมน้ำเพียงเล็กน้อย แล้วเลือนหายตามกันไป ... (สมัยนั้นก็เชื่อชาวบ้านเนาะ เค้าบอกว่าอย่าไปถ่าย ดูเฉย ๆ พอ ถ่ายติดไปจะไม่ดี ก็นะ เชื่อเขาสิ) ปลุกพี่สุเต็นท์ข้าง ๆ ให้ออกมารอดู ผ่านไป 20 นาทีก็ไม่ปรากฎ และในขณะที่ดวงไฟสองดวงนี้ผุดขึ้น เด็กวัยรุ่นที่นั่งในศาลา กับลุง ๆ ป้า ๆ หลายคน ก็ลุกฮือแตกตื่นกัน สมัยนั้นจะไปถ่ายคลิปสัมภาษณ์แบบปัจจุบันมันก็ไม่คือ เพราะยังไม่มีคอนเทนต์แบบนั้นโพสลงโซเชียลสักเท่าไหร่ ไม่มีการสร้างตัวตนเช่นในปัจจุบัน ทำได้ก็เพียงเดินย่องไปกับลูกชายพี่สุ แล้วไปถามว่า เมื่อกี้เห็นกันไหม ทุกคนพูดตรงกันว่าเห็น และไม่เคยเห็นใกล้ขนาดนี้เลยในชีวิต .... เล่ามาถึงตรงนี้ ผู้เขียนก็เฝ้าคิดว่า สิ่งที่เห็นนั่นคืออะไร? หรือจะคือดวงไฟพญานาคดังคำเล่าลือ


ปี 2566 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเฝ้าดูอีกครั้ง ด้วยความที่อยากเห็นแบบเดิม แบบนั้น แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะห็นแต่ลูกไฟขึ้นจากฝั่งลาวทั้งหมด 16 ดวง เหมือนกับการยิงปืนพลุไฟ หรืออาจจะคล้ายคลึงกระสุนส่องวิถีอย่างที่เขาว่าก็เป็นได้ แต่ก็ไม่เป็นอะไร เพราะการได้มาร่วมงาน ร่วมจุดโคมถวายเป็นพุทธบูชา ณ ลานพุทธอุทยาน โพนพิสัย ก็เป็นหน้าที่ของมนุษย์ธรรมดาที่สามารถทำได้ ด้วยใจปฏิพัทธ์ในพระพุทธศาสนา ก็ถือว่าคุ้มค่าที่ได้เดินทางครั้งนี้


กล่าวถึงดราม่าที่เกิดขึ้นปัจจุบันโดยผู้ผลักดันคนสำคัญ อ.เจษฎา เกี่ยวกับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ผู้เขียนเห็นด้วย 90% ว่า เป็นการจุดปืนพลุไฟหรืออาจจะ (ขอย้ำนะว่าอาจจะ) คล้ายคลึงกับปืนส่องวิถี อีก 10% เว้นไว้ให้คนที่เคยเห็นของจริงเช่นผม (มีเยอะครับทำโหวตได้เลย) เหตุเพราะดวงไฟทุกดวงขึ้นแต่ฝั่งประเทศลาวตามตาเปล่าที่เรามองเห็น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ผู้เขียนไม่เห็นด้วย 100% ก็คือ เราไม่ควรโยนความผิดในเรื่องของการกระทำด้วยฝีมือมนุษย์อันชี้นำไปในทางหลอกลวง สร้างความงมงาย ไปให้ชาวลาวเด็ดขาด โดยเฉพาะการยิงปืนส่องวิถีอาจเป็นสิ่งที่ผิดกฏหมายก็เป็นได้ มันไม่แฟร์ที่จะพูดกันสนุกปาก แล้วเหมือนโยนความผิดไปให้คนลาว วาจากระแทกแดกดัน เช่น "คนลาวเศรษฐกิจไม่ดี เลยยิงน้อย" หรือ "คนลาวไม่ว่างยิง ไว้ปีหน้า" หรือ "เค้าก็ยิงเพื่อหลอกให้พวกโง่ไปเสียเงิน" ฯลฯ ผู้เขียนมองว่าเป็นการทับถมถากถางทางวาจาที่น่าสมเพชที่สุด เพราะพูดกันไปโดยไม่รู้อะไรเลย ถ้าเอาประเด็นเรื่องยิงหรือไม่ยิง ถ้าคนลาวเขาจะยิง มันก็ใช่ความผิดเขาจริงหรือไม่? เขาตั้งใจหลอกคนไทยหรืออย่างไร? คนที่วิพากษ์วิจารณ์ หรือเสียดสีเขา เคยเข้าใจประเพณีของเขามากน้อยแค่ไหน ถึงโชว์โง่ อวดฉลาดในคอมเมนต์ของตนเอง ซึ่งบอกได้เลยว่า ไม่ใช้สติปัญญาเลยแม้แต่น้อย และอีกนัยคือสิ่งที่สื่อควรพูด หรือพาดหัว ไม่ควรเป็นการ "แฉ" "อ.เจษ ออกมาแฉ" "บั้งไฟพญานาคที่แท้คนลาวยิง" "เตรียมแฉรายชื่อหมู่บ้านยิงกระสุนส่องแสงหลอกเป็นบั้งไฟพญานาค" ฯลฯ หรืออะไรที่เป็นการพาดพิงเพื่อนบ้านแบบไร้สามัญสำนึก และไร้ความรับผิดชอบแบบนั้นหรือเปล่า

บั้งไฟพญานาคฝั่งลาว

ขอบคุณภาพจากคลิปช่องยูทูป : Nakham Jidee 
รับชมคลิปเต็มได้ที่ https://youtu.be/gy-2-JMjR_g?si=gVpgZET49FFYyhtr

ทีนี้มาคลายสงสัย สำหรับการโพนทะนาเรื่องบั้งไฟของชาวลาว คลิปดังกล่าวถูกถ่ายขึ้นที่ฝั่งประเทศลาว โดยคณะที่ไปร่วมงานประเพณีริมฝั่งโขง และเขาก็ได้ถ่ายติดดวงไฟ หรือจะว่าเป็นปืนพลุไฟหรือจะกล่าวหาว่าเป็นกระสุนส่องแสงก็ตามที แต่ทั้งหมดที่ผู้ถ่ายคลิปได้เห็นคือ 26 ดวงขึ้นจากฝั่งไทยเช่นกัน ... เห็นแบบนี้แล้ว ถ้าคนลาวจะกล่าวหาคนไทยว่ายิงกระสุนส่องวิถีหลอกลวงก็พูดได้หรือเปล่า ถ้าเขาจะงัดหลักฐานมาตอบโต้ ว่าทั้งหมดเป็นฝีมือคนไทยทำหลอกลวงกันเอง เขาก็น่าจะพูดได้หรือไม่? แล้วมันใช่เรื่องไหมที่จะประโคมข่าว หรือคอมเมนต์อะไรเพื่อตบหน้าคนลาวแบบที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ไร้จริยธรรมและสามัญสำนึกสิ้นดี ขอประนามความคิดเห็นที่ไม่รับผิดชอบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเหล่านี้

นอกจากนี้ ในปี 2566 ที่ผู้เขียนเดินทางไปหนองคาย ปรากฎว่ามี ปชช.ชาวลาวหลายกลุ่ม ก็เดินทางมาเที่ยวฝั่งไทย พร้อมชมงาน กับนั่งรอดูบั้งไฟตามความเชื่อดังกล่าวเช่นเดียวกัน แล้วมันเรื่องอะไร๊!! ที่คนไทยตอนนี้ไปกล่าวหาเขาว่าเขาทำขึ้นเพื่อหลอกลวง เหมือนโยนความผิดให้เขาไป แล้วอ้างว่าพยายามปลุกคนไทยให้ตื่น ให้เลิกงมงาย ผู้เขียนเอือมระอากับพฤติกรรม คำพูด วิวาทะในรูปแบบนี้เสียเต็มที

บั้งไฟพญานาคฝั่งลาว

ขอบคุณภาพจากคลิปช่องยูทูป : Bolikhamxay Province.
รับชมได้ที่ลิงค์ https://youtu.be/hIZ-Djt06F8?si=aFgap57umRpoC2jA
มาเล่ากันต่อถึงตำนานความเชื่อของชาวลาวที่มีต่อบั้งไฟพญานาค อันสืบทอดมาจากอารยธรรมดั้งเดิม ตำนาน ความเชื่อ ในเรื่องของพญานาคสร้างเมืองศรีสัตตนาคนหุต (ล้านช้าง) หรือตำนานเมืองสุวรรณโคมคำกับพิธีไหลเรือไฟบูชาพญานาค หรือแม้กระทั่ง ตำนานพญานาค 15 ตระกูลของหลวงพระบาง ก็อาจเป็นพื้นฐานความเชื่อในเรื่องของพญานาคลุ่มน้ำโขงจนที่เกี่ยวพันกับวันออกพรรษา และมาสู่ตำนานของพญานาค 2 ตน นามว่า สังขะละนาค (ขออภัยหากพิมพ์ผิด) ซึ่งเสมือนพญานาคทั่วไป กับสุขหัตถีนาค พญานาคผู้มีเศียรเป็นช้าง ดังเช่นที่เราจะเห็นศิลปะปูนปั้นลุ่มน้ำโขงฝั่งลาวกันมาบ้าง นาคทั้งสองนั้นก็สืบเนื่องมาจากตำนานที่เมื่อครั้งที่พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง แล้วพญานาคทั้งสองตนก็ได้ "โพน" (การทอดลำตัวยาวเพื่อกวาดพื้นเป็นกองดินสูงใหญ่ให้พระพุทธเจ้านั่งประทับ) และ "สัน" หรือการฉันภัตตาหาร หลังจากนั้นพญานาคทั้งสองก็ได้ฟังธรรมจนสำเร็จผล จึงขอให้พระพุทธเจ้าประทับรอยพระบาทไว้ที่วัดแห่งนี้ จึงเป็นความเชื่อที่ว่า ทุกวันออกพรรษา พญานาคทั้ง 2 ตน และเหล่าบริวารจะถวายดวงไฟเพื่อเป็นพุทธบูชาด้วยเช่นกัน 

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นฝั่งไทย หรือฝั่งลาว ต่างก็มีความเชื่อในเรื่องของการถวายดวงไฟเป็นพุทธบูชาแด่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเป็นการระลึกถึงเมื่อครั้งที่เสด็จโปรดพระพุทธมารดาตามความเชื่อทางศาสนานั่นเอง แล้วมันจะเป็นอะไรไปเล่า หากจะมีคนเป็นผู้จุดพลุไฟ หรือยิงปืนไฟเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา สิ่งที่ผิดมันคือการกรอกความเชื่อเรื่องบั้งไฟจนนักท่องเที่ยวเป็นเป็นปาฏิหาริย์และอยากมาเที่ยวเพียงแค่ชมบั้งไฟพญานาคตามคำบอกเล่าแค่นั้นหรือเปล่า ถ้ามันผิดแบบนั้น เรื่องที่ควรทำคือการประชาสัมพันธ์รูปแบบใหม่ ตัดคำว่าบั้งไฟพญานาคออกไป แล้วใช้คำว่าชมพลุไฟพุทธบูชาแทน การแก้ไขที่ไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน และการว่ากล่าว ด่าทอ เสียดสี สบถคำถ่อย ๆ เหมือนเช่นปัจจุบัน วิธีการมันสามารถทำได้มากกว่านั้นหรือเปล่า ต้องถามใจนักวิชาการเหล่านั้นดู


นอกจากนี้ หากย้อนไปรับชมรายการ "ความจริงไม่ตาย" ที่ได้ไปถ่ายทำที่ สปป.ลาว เราจะเห็นได้ว่า ศรัทธาอันเหนียวแน่นในพระพุทธศาสนา และพญานาคของชาวลาวนั้นสวยงาม ไม่งมงายจนเกินไป และมองเห็นทุกปรากฎการณ์เป็นธรรมชาติ มันก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดา จะจริงหรือหลอกไม่สำคัญ สำคัญที่เป็นสิ่งที่สวยงามก็เพียงพอ ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวลาวก็เล่าขานกันว่า เขาเห็นกันเป็นปกติ บางทีเดินตามห้วย ตามหนอง ตามคลอง ตามบึง ก็เห็นดวงไฟผุดขึ้นจากน้ำ ไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่ได้มีแค่ออกพรรษาเสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็จางหายไป เหลือไว้เพียงประเพณีออกพรรษา ที่อาจจะมีคนเห็นบั้งไฟปริศนาโผล่ขึ้นกลางน้ำก็เป็นได้ 

สรุปในความเห็นส่วนตัว และประสบการณ์ของผู้เขียนนั้น มองว่า การที่คนไทย หรือคนลาว ยิงปืนพลุไฟ หรือจะกล่าวโทษถึงเรื่องปืนส่องวิถีใด ๆ ก็ตาม การจุดขึ้นก็เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาส่วนหนึ่ง และคงไว้ในตำนานบั้งไฟพญานาคส่วนหนึ่งก็ดี ไม่ใช่ผลเสียใด ๆ และในปัจจุบัน สื่ออินเทอร์เน็ตเปิดกว้าง คนที่อยากไปเห็นด้วยตาก็มีมาก คนที่เคยเห็นสิ่งอัศจรรย์เฉกเช่นผู้เขียน ที่อยากไปเห็นอีกก็มีมาก (มิใช่น้อยนะคุณ) และทุกคนมีสมอง มีความคิด สามารถพินิจ พิจารณาด้วยตนเองได้ การพยายามบอกว่า คนที่ไปดูบั้งไฟเป็นพวกงมงาย ดักดาน กบในกะลา แล้วว่าแดกดันในโซเชียล เป็นการดูถูกเหยียดหยามที่ไร้ยางอาย การกล่าวโทษห้างร้าน และระบบเศรษฐกิจระดับจังหวัด ที่จัดงานเพื่อฟันเงินนักท่องเที่ยว ก็เป็นความคิดที่สุดโต่งเช่นเดียวกัน และการที่สื่อสังคมทั้งมีชื่อ และโนเนม ที่พยายามสร้างตัวตนด้วยการออกมาเสียดสี สมน้ำหน้าคนไปรอชมว่าสิ้นหวัง ไร้วี่แววบั้งไฟ สงสัยกระสุนหมด สงสัยเศรษฐกิจไม่ดี ต่าง ๆ นา ๆ บลา ๆ ผู้เขียนขอถามกลับไปว่า "คุณเหล่านั้นคิดว่าใครได้รับผลประโยชน์ในเรื่องนี้?" การที่กล่าวโทษว่า ฟาดเงินกันไป รวยกันไป หมายถึงใคร? การกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวด้วยงานประเพณีเป็นสิ่งที่ดีงาม ชาวบ้านร้านค้าได้ออกมาขายของ หาของมาขายถึง 7 วัน 7 คืน นักท่องเที่ยวชาวไทยแห่กันไปเพราะอยากเห็น อยากพิสูจน์ คนเห็นแล้วชื่นชอบก็มี เชื่อก็มี ไม่เชื่อก็มาก ผิดหวังก็มาก สมหวังก็มี แต่ก็ยังมีคนไปทุกปี แบบนั้นไม่ดีหรืออย่างไร ชาวบ้านร้านตลาดไม่เงียบเหงา และเขาก็ไม่ได้ขายของโก่งราคาจนเวอร์ ผู้เขียนไล่ซื้อของกินของใช้ของฝากทั่วไป ไม่เห็นว่าจะแพงจนเกิดเหตุขนาดนั้น ในส่วนของจังหวัดก็ได้ค่าเช่าแผงร้านรวงต่าง ๆ มาจ่ายค่าการแสดงและบริหารพื้นที่ ร่วมกับงบประมาณจังหวัด ถ้าจะบอกว่า "นี่แหละเป็นสาเหตุของการผลาญงบประมาณ" แล้วคุณคิดหรือว่า ถ้าคนมันจะผลาญจะจัดสรรไปทางอื่นไม่ได้ แล้วระหว่างจัดสรรไปทางอื่น กับจัดการท่องเที่ยว แบบไหนประชาชนได้ผลประโยชน์ร่วมมากกว่ากัน หรือเพียงแค่เป็นชาวอีสานมาค้าขาย ก็ว่าเขาเหล่านั้นโกยเงิน เอาความเชื่อมาหลอกลวงให้คนไปใช้เงิน แบบนั้นหรือ?  ที่แสดงความเห็นทับถมกันนั้น เพียงแค่ต้องการทำลายอะไรก็ตามที่คิดว่าหลอกลวงต้มตุ๋น เอาความงมงายมาหากินกับประชาชนอย่างนั้นหรือ?  .... 

ในส่วนของคนที่เชื่อก็เหมือนกัน เห็นคอมเมนต์ไม่ถูกใจเข้าไปด่า ไปสาปแช่ง ไปท้าทายเขา เพราะมั่นใจในความเชื่อของตนเอง เชื่อแบบไม่ฟังเหตุผล เชื่อแบบไม่ต้องการข้อโต้แย้ง เอะอะอะไรอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อ้างบุญอ้างบาป อ้างพญานาคมีฤทธิ์จะพ่นพิษใส่คนที่ไม่เชื่อ แบบนี้มันก็งมงายเกินไป มันไม่มีภูติใดพรายใด หรือโอปปาติกะตนไหนอยากจะสร้างเวรสร้างกรรมกับแค่ความเชื่อของคน หรือดลบันดาลให้ผู้ลบหลู่มีอันเป็นไปหรอก ส่วนใหญ่ที่ตายก็เป็นเพราะเวรกรรมของตนเอง ทำอะไรได้อย่างนั้น ทุกคน ไม่เว้นแม้ใครสักคน คนที่เชื่อแบบงมงาย ศรัทธาบ้าคลั่ง ก็หนีกรรมตัวเองไม่พ้นเหมือนกัน เที่ยวอ้างเทพเทวดา อ้างสิ่งที่ตัวเองเคารพบูชาไปตบปากคนอื่น แบบนี้ก็น่าสมเพชพอกัน 

ถ้าคนไทยเคารพในสิทธิของแต่ละคน เคารพในความคิดเห็นคนอื่น เคารพในความเชื่อของคนอื่น คนเชื่อว่าจริงก็เชื่อไป คนที่เชื่อว่าไม่จริง ก็เชื่อไป มันก็ความเชื่อด้วยกันทั้งนั้น แต่จะเชื่อด้วยเหตุผลรองรับแบบไหน มันสุดแท้แต่ละบุคคล พูดจาดูถูก เหยียดหยามกัน เป็นพฤติกรรมที่น่าประนามทั้งสองฝ่าย จริงหรือไม่?
งานบุญบั้งไฟพญานาค

ในส่วนของการเตรียมงานที่ยิ่งใหญ่ แถมไม่เสียเงินค่าเข้าชมสักบาท เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวแสวงหาใช่หรือไม่ มีเวทีการแสดง เวทีนักร้อง มีตลาดนัด มีเครื่องเล่นก็เห็นว่าเก็บค่าใช้จ่ายเท่างานวัดทั่วไป อาหารการกินก็ธรรมดา พวกหอย กุ้ง ก็อาจจะแพงขึ้นมาหน่อย มีทั้งร้านถูกร้านแพงให้เลือกเป็นร้อย ๆ ร้าน มันดูเอาเปรียบนักท่องเที่ยวมากถึงเพียงนั้นเชียวหรือ? คนที่นั่งพิมพ์ด่า ผู้เขียนอยากทราบว่า เคยไปเหยียบหรือยัง?

โพนพิสัยบั้งไฟ

สำหรับชาวหนองคายแล้ว ถือเป็นงานประจำปีที่สนุกสนาน ใช่ว่าทุกคนจะไปจับจองที่นั่งรอดูบั้งไฟเพียงอย่างเดียว ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย มีการจัดสรรพื้นที่ การจราจร การควบคุมอย่างเป็นระเบียบ เรียกได้ว่าช่วยกระจายเม็ดเงินสู่ชุมชนได้อย่างมาก แต่ในขณะนี้ ผู้ที่ไปร่วมงานดังกล่าว กำลังถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกโง่ พวกงมงาย พวกกบในกะลา การแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ ไม่เท่ากับเป็นการดูถูกสติปัญญาของผู้อื่นแบบไร้เหตุผลอย่างนั้นหรือ การกล่าวโทษชาวลาว การยื่นเอกสารเรียกร้องให้รัฐบาลลาวสืบเรื่องและออกมายอมรับแต่โดยดีว่า ปชช.ชาวลาวบางกลุ่มเป็นผู้ยิงปืนพลุไฟ หรือกระสุนส่องวิถี เป็นทางออกที่ถูกต้องของการปลดความเชื่อเรื่องต้นกำเนิดบั้งไฟพญานาคในประเทศไทยได้จริงหรือ? การเอาข้อเท็จจริงมาเป็นจุดกำเนิดของความขัดแย้งระหว่างประเทศ เป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมหรือไม่ ผู้เขียนคิดว่า คนไทยไม่ได้โง่ขนาดนั้น จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ย่อมพิสูจน์ได้ด้วยตาตนเอง คนไม่เชื่อก็อาจจะเสียความรู้สึก ไม่อยากไป หรือใด ๆ ก็ตาม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า การไม่เชื่อจะยืนอยู่เหนือการเชื่อและถือหางตนเองว่ายิ่งใหญ่กว่า ฉันเป็นผู้พิสูจน์แล้ว ฉันเป็นผู้อยู่เหนือกว่าคนเหล่านั้น เป็นการแบ่งชนชั้นด้านสติปัญญาอย่างน่าสมเพชโดยแท้

บั้งไฟพญานาค

นอกเหนือจากที่กล่าวมาทั้งหมด ยังมีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์อีกมากมาย และอีกหลายสถานที่ท่องเที่ยว ที่ได้รับการมาเยือนจากประเพณีออกพรรษา ไม่ว่าจะวัดวาอาราม หรือแหล่งท่องเที่ยวอื่นใด การร่วมจุดเทียนถวายโคมไฟเป็นพุทธบูชา การได้สดับตรับฟังพระธรรมเทศนาจากพระสงฆ์ หรือการปฏิบัติสมาธิเพียงชั่วเวลา ก็ยังมาซึ่งความผ่องใสภายในจิตใจได้เช่นเดียวกัน และกิจกรรมเหล่านี้ ไม่เสียเงินสักบาท 

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนอยากให้ใครเหล่าใดก็ตาม ที่วิพากษ์วิจารย์โดยปกตินั้นเป็นสิ่งที่พึงกระทำตามความเห็นของตนเอง แต่การว่ากล่าว เสียดสี หรือโยนความผิดใดให้ใคร คนที่ควรเป็นผู้รับผิดชอบคือฝ่ายประชาสัมพันธ์งานบุญ งานประเพณีดังกล่าว ไม่ใช่ไปโทษชาวลาว หรือรัฐบาลลาว มันออกนอกกรอบเกินไป ถ้าคิดว่า ไม่สมควรประชาสัมพันธ์งานบุญโดยอ้างอิง "บั้งไฟพญานาค ปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติ" หรือจะปรากฎการณ์ธรรมชาติ ถ้าเห็นเป็นคำไม่สมควร สิ่งที่เพจต่อต้าน หรือ อ.เจษฯ ควรทำคือ ร้องเรียนไปยังหน่วยงานประจำจังหวัด ให้มีการให้ข้อมูลเสียใหม่ หรือใช้คำอื่นใดที่เหมาะสม เช่น "รับชมพลุไฟถวายเป็นพุทธบูชา" หรืออะไรก็ว่ากันไป การหยิบโยงว่าคนที่เชื่อ เป็นพวกงมงาย เป็นพวกที่ไม่ทำให้ประเทศไม่พัฒนา ผู้เขียนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะทุกประเทศบนโลก ล้วนมีความเชื่อและความงมงายในแบบของตนเองทั้งสิ้น และความเชื่อ ก็มีทั้งเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ และเชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ได้ คำกล่าวของใครใด ๆ ก็ตาม ที่อ้างผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แล้วพยายามยัดเยียดให้ทุกคนต้องเชื่อ เขาพิสูจน์แล้ว คุณต้องเชื่อ คุณควรเลิกงมงายได้แล้ว ตื่น ออกจากกะลาสักที นั่นก็เป็นพฤติกรรมที่ไร้เหตุผลสิ้นดี เพราะในทุกความเชื่อ หากคนศรัทธาไม่ว่าอะไรจะมากระทบ ก็ลบล้างไม่ได้ และควรมองให้ถ้วนถี่ว่า ความเชื่อเหล่านั้น เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคมระดับไหน อะไรที่เกินไป ปรับแก้ให้ถูกจุด อะไรที่ไม่สมควรพูดก็ไม่ควรพูดในทางที่ส่งผลกระทบต่อใคร พวกสื่อก็เช่นกัน พาดหัวข่าวที่หวังแต่ยอดไลค์ ควรคำนึงถึงผลกระทบระยะยาวให้มากขึ้น สามัญสำนึกควรมีใช่หรือไม่?

👇👇👇👇👇👇👇👇

Saiheal Bookstore and Crafts




ความคิดเห็น

คนชอบอ่าน

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ วานส์” (QUEEN OF WANDS)

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ เพนตาเคิลส์” (QUEEN OF PENTACLES)

ความหมายของไพ่บุคคล คิง ออฟ คัพส์ (KING OF CUPS)

ความหมายของไพ่ "เดอะ เวิลด์" (THE WORLD) สอนอ่านไพ่ยิปซี