ก่อนขอพรอะไรกับเทวดาต้องพิจารณาให้ได้แบบนี้ก่อน โดย อ.ไป๋ล่ง
ก่อนอื่นก็ต้องทำความเข้าใจแยกส่วนกันให้ชัดเจนเสียก่อนนะครับว่า ความเชื่อในเรื่องของการขอพรต่อเทวดาอารักษ์ในแบบไทยพุทธ ที่อยู่ประจำไม่ว่าจะพระพุทธรูป เทวรูป หรือแม้กระทั่งรูปเคารพอื่นใดก็ตาม รุกขเทวา รุกขเทวีผู้สถิตตามต้นไม้ใหญ่ เพราะต้นไม้ใหญ่ตามธรรมชาติ สามารถเป็นที่อยู่อาศัยของเทวดาได้ เพราะประกอบด้วยดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นธาตุกำเนิด เทวดาเหล่าใดที่เฝ้าดูแลพุทธสถาน ที่เรามักเห็นรูปแกะสลักเทวดา หรือเทวรูปพนมมือตามวัดวาอาราม หรือถูกอัญเชิญให้เฝ้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ใดก็ตาม เมื่อพิจารณาแล้ว เทวดาเหล่าใดที่สถิตเบื้องล่าง ยังเป็นเทวดาผู้มีกำลังบุญน้อย และกำลังบุญมากปะปนกันไป ยังคงมีกิเลสปะปน ยังคงอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์ผู้มีคุณธรรม และจริยธรรมอันดีงาม เทวดาเหล่านี้จะชื่นชอบติดตามมนุษย์ผู้มีศีลธรรม เทวดาเหล่านี้จะมีกำลังช่วยเหลือมนุษย์ผู้ปฏิบัติธรรมเป็นนิจ สวดมนต์เป็นกิจวัตร หากบ้านของใครมีพระพุทธรูป แน่นอนว่าการปฏิบัติจริยวัตรที่ดีงามสม่ำเสมอเทวดาเหล่านั้นจะเฝ้าพิทักษ์รักษาเรา เหตุเพราะเราเป็นต้นบุญของเขา เป็นผู้เติมแสงเทียนให้แก่เขา ถ้าบ้านไหนไม่หมั่นเพียร หรือไม่ทำความดี ไม่ไหว้พระ ไม่สวดมนต์ เปิดประตูเข้าห้องพระทีก็กราบสามครั้งแล้วขอแต่พร แบบนั้นเทวดาท่านคงไม่อยู่ด้วย ขอเผ่นดีกว่า กลายเป็นรูปปั้นพระเปล่า ๆ ที่ไม่มีดวงจิต แต่ยังดีหน่อยตรงที่องค์พระที่ผ่านการพุทธาภิเษกแล้ว ท่านเป็นสังขารเพื่อรองรับเทวดาเบื้องล่างได้เท่านั้น ไม่สามารถเป็นที่อยู่ของเหล่าสัมภเวสีได้ (ยกเว้นองค์พระที่แตกหัก พุทธาภิเษกจะเสื่อมตามสังขาร) ในขณะที่ถ้าเป็นเทวรูปอื่นใดที่ไม่ใช่องค์พระซึ่งเป็นตัวแทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความกังวลว่าหากดวงจิตของท่านเหล่านั้น หรือบริวารที่ท่านส่งมาดูแลเทวรูปนั้น ไม่ได้กำลังบุญตามที่ควรแล้วทิ้งสังขารเทวรูปกลับภพภูมิไป กลายเป็นที่อยู่ของสิ่งอื่นใดไปเสีย พอพูดแบบนี้หลายคนอาจจะกังวลใจ ขอให้ไม่ต้องกังวล เดี๋ยวกล่าวถึงในหมวดสวดมนต์ท่านสามารถเจริญการสาธยายมนต์ตาม สิ่งไม่ดีจะอยู่ไม่ได้ และเทวดาเหล่านั้น หรือบริวารของทวยเทพเหล่านั้น จะกลับมารักษาพระพุทธรูปและเทวรูปของท่านโดยทันที
กล่าวถึงตรงนี้คงพอเดาได้นะครับว่า เทวดาเหล่าใดก็ตาม จะสามารถประทานให้ได้ตามคำขอหรือไม่ เราต้องมีกายและใจพร้อมในด้านใดบ้าง เพราะเทวดาเหล่านั้นยังคงต้องการอนุโมทนาบุญ และการอุทิศบุญจากมนุษย์เพื่อให้ตน มีกำลังมากขึ้น ยังต้องการให้มนุษย์ช่วยเติมแสงเทียนให้สว่างสดใสต่อไป นอกจากนั้น ความเป็นไปได้อื่นก็อาจจะมีเหตุปัจจัยบางประการครับ เช่น มีกรรมดีสัมพันธ์กันมากับเทวดาเหล่านั้นในอดีต หรือมีกรรมชั่วที่เทวดาท่านเคยทำกับเราเอาไว้ และต้องมาตามชดใช้ให้เราในภพชาติปัจจุบันหรือไม่ สิ่งเหล่านี้มีเหตุผลรองรับความเป็นไปได้ในเรื่องของการประทานพร หรืออุปถัมภ์ของเทวดาประจำบ้านนั่นเอง และอยากให้ทุกคนให้ความสำคัญ เพราะเทวดาประจำบ้าน หรือเทวดาประจำพระพุทธรูปในบ้านล้วนมีความสำคัญอย่างใกล้ชิดต่อเราท่านทั้งหลายเป็นอย่างมาก
กลับมาว่ากันที่เรื่องก่อนขอพร อยากให้สายมูผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ ลองพิจารณาปรับสักนิด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ชัวร์กว่า คือเราคงต้องมาทบทวนกันอีกครั้งว่า การไปกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต่าง ๆ นั้น เราไปเพราะอะไร ก่อนที่เราจะขออะไร คนส่วนใหญ่ที่ชอบขอพรมักจะเกิดจากแรงบันดาลใจบางอย่าง หรือปัญหาบางสิ่ง หรือไม่ก็ขอไปส่งส่ง ได้ก็ดีไม่ได้ก็ไม่เดือดร้อน แต่ก่อนจะขอพร เรามีหลักให้พิจารณากันสักเล็กน้อย มันจะช่วยอำนวยให้พรของท่านสมหวังเร็วขึ้น
๑.) ความหวัง คือหวังจะรวย หวังจะปลดหนี้ หวังจะมีทรัพย์มาก สารพัดหวัง
๒.) ความมีเสน่ห์ อยากให้คนเห็นคนรักคนเมตตา อยากให้คนรักไม่นอกใจ หรืออยากให้คนรักกลับมาก็ว่ากันไป
๓.) ความห่วงใย อยากให้คนนั้นหายป่วย อยากให้ครอบครัวมีความสุข อยากให้คนรักอยู่กับเราไปนานๆ
๔.) ปัญหา คือถูกรุมเร้าด้วยปัญหา อยากให้ปัญหาหมดไป อยากแก้ปัญหา ไม่อยากเผชิญหน้ากับปัญหา
๕.) ผลสำเร็จ อยากให้กิจการเจริญรุ่งเรือง อยากให้เรื่องนี้ผ่านไปได้ อยากชนะคดีความ อยากมีลูก อยากให้สิ่งนั้นสำเร็จตามที่ตั้งใจ ๖) โชคลาภ คือความคาดหวังลาภผล (ลาภที่เกิดจากผลของการทำบุญ) หรือลาภลอย (ลาภที่ได้มาแบบฟลุค ๆ หรือได้มาแบบไม่คาดคิด)
บางคนหวังที่จะปลดหนี้ แล้วคุณมีแผนที่จะปลดหนี้หรือยัง เช่น “ฉันตั้งใจจะสมัครงานเพิ่มที่นี่แหละ เพื่อจะเอารายได้ตรงนั้นมาปลดหนี้” จึงไปขอพร ให้งานที่จะทำไม่มีอุปสรรค และไม่มีค่าใช้จ่ายฉุกเฉินเกิดขึ้นในขณะที่รวบรวมเงินปลดหนี้
บางคนหวังจะแก้ปัญหาได้ ก็ต้องพิจารณาไปก่อนว่า ตัวปัญหาคืออะไร แล้วปัญหานี้มันเกิดเพราะอะไร เมื่อรู้ที่มาของปัญหา ก็หาแนวทางแก้ปัญหาเตรียมการไว้ให้พร้อม วางแผนแก้ปัญหาไปให้เทวดาท่านด้วย ถ้ามีแผนจะกี่แผนก็ตาม คำนวณโอกาสสำเร็จของแผนนั้นไปด้วย แล้วไปขอพรในแผนที่คิดไว้ว่าให้สมปรารถนา สิ่งที่สำคัญคือ ถ้าแก้ไขปัญหาได้แล้ว ต้องทบทวนปัญหาแบบเดิมให้มาก และไม่ทำให้มันเกิดขึ้นอีก
อยากมีคนรักคนเมตตา ก็ให้นั่งส่องกระจกก่อนไปไหว้ แล้วพิจารณาตัวเองก่อนว่า ที่คนเขาไม่เมตตามีเหตุมาจากอะไร ยิ้มหน่อยไปไหม พูดจาไม่เข้าหูใครหรือเปล่า หรือคนเมตตาก็มีอยู่แล้ว แต่อยากมีเพิ่ม ก็ต้องส่องกระจกสำรวจข้อบกพร่องอีกเช่นกัน แล้วพิจารณาดูว่าฉันยังขาดอะไรไป ฉันชอบโกหกหรือเปล่า หรือฉันชอบพูดประโยคที่คนไม่ชอบฟังไหม ฉันแต่งหน้าเข้มไปไหม ฉันมีกลิ่นปากไหม ฯลฯ แล้วแก้ไขสิ่งเหล่านั้นก่อน จึงค่อยไปขอพรว่า “ดิฉันขอให้มีแต่คนรักคนเมตตา” ไม่ใช่ไม่พิจารณาตนเอง แล้วก็ไปพึ่งไสยเวทย์พวกเมตตามหานิยมให้ป่วยการ
อยากให้คนนั้นหายป่วย ก็ต้องพิจารณาก่อนว่า เขาป่วยด้วยโรคอะไร โอกาสหายมีกี่ส่วน ถ้าแพทย์บอกว่ามีโอกาสหาย เราเอาส่วนที่มีโอกาสไปขอพร การขอพรให้เกิดโอกาสหาย หรือให้หายแบบปาฏิหาริย์มีความเป็นไปได้น้อยมาก แต่ตามคำบอกเล่าก็ใช่ว่าไม่มี ทุกสิ่งขึ้นอยู่กับกรรมของผู้ป่วย และกรรมสัมพันธ์ของคุณกับผู้ป่วย เคยหนุนนำกันมาหรือเปล่า ถ้าเคย ลองเอาบุญที่ได้กระทำร่วมกันมาไปขอพร สร้างพลังบวกให้ตัวคุณเอง เช่น “หากลูกกับคุณ ก. เคยทำบุญร่วมกันมา ขอบุญนั้นช่วยหนุนนำให้คุณ ก. หายป่วยโดยเร็ววันด้วยเถิด” การขอพรลักษณะนี้เรียกว่า ถามหาสัญญาเก่า ซึ่งตัวเราก็ไม่รู้ว่ามีหรือไม่มี แค่คิดว่าอาจจะมี เพราะถ้าเรากับเขาเคยทำบุญร่วมกันมาบ้าง ถึงจะมีโอกาสส่งผลต่อพรนั้นได้ ถ้าคุณไปขอลอย ๆ โดยที่ไม่มีกรรมดีเคยสร้างร่วมกันมา โอกาสเกิดผลแทบจะไม่มี ก็จะมีความเชื่อเดียวที่พอเป็นไปได้คือ “เขา กับเทวดาที่คุณไปขอ มีกรรมสัมพันธ์กัน”
อยากให้ครอบครัวมีความสุข ก็ต้องพิจารณาไปก่อนว่า ทุกวันนี้ มีความสุขดีแล้วหรือยัง ถ้ามีอยู่แล้ว อยากจะมีความสุขเพิ่มขึ้น ก็ทบทวนไปก่อนว่า “ลูกตั้งใจจะทำสิ่งนี้ ขอให้ครอบครัวมีความสุขเพิ่มขึ้น” ตรงส่วนนี้สิ่งที่จะทำ ก็ต้องสอดคล้องกับนิยามความสุขของครอบครัวด้วยนะครับ ไม่ใช่ว่า “ลูกจะถวายเงินให้วัดทุกเดือน ขอให้ครอบครัวมีความสุข” เงินที่จะถวายวัดเป็นทานของคุณเอง คุณทำ คุณได้ คนอื่นไม่รับรู้ด้วย โอกาสเกิดผลน้อย คำแนะนำที่ดีที่สุดคือ สิ่งที่คุณคิดจะทำต้องสนับสนุนการมีความสุขของครอบครัว เช่น “ลูกและครอบครัวจะไม่พูดโกหกต่อกัน ขอให้ครอบครัวของลูกมีความสุข” คุณได้แต้มบุญไปแล้ว ๑ เพราะการไม่โกหกเป็นศีล เป็นต้น แต่ภารกิจนี้คุณก็ต้องทำความตกลงกับครอบครัวให้ดีว่า ต่อไปนี้เราจะไม่โกหกกันนะ ทุกคนรับทราบ ร่วมกัน เฝ้าระมัดระวังซึ่งกันและกัน เป็นบุญร่วมกัน ความสุขทวีคูณตามหลักการแน่นอนครับ หรือวิธีที่ง่าย ก็คือ เก็บเงินทุกคน คนละกี่บาทก็ว่าไป แล้วบอกกล่าวทุกคนด้วยว่า “เดี๋ยวฉันจะไปทำบุญที่วัดนะ จะไปขอพรให้ครอบครัวเรามีความสุข” เขาก็จะรับรู้วัตถุประสงค์ของทานร่วมกัน แบบนี้เรียกว่าจิตสามัคคี ทานที่ร่วมกันทำก็อาจจะพอมีกำลังเสริมความสุขให้แก่กันและกันได้ เพราะอย่างน้อย พวกเขาก็รับรู้ร่วมกันแล้วว่า จุดประสงค์ของภารกิจบุญคือมีความสุข
อยากให้กิจการเจริญรุ่งเรือง สิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกคือ ตอนนี้กิจการก้าวหน้ามากน้อยแค่ไหน ถ้ามันดีอยู่แล้ว มันดีเพราะอะไร ขายสินค้าตัวนี้ หรือตัวนั้น จุดเด่นของสินค้าใช่ไหม หรือเพราะการนำเสนอ หรือเพราะตัวแทนขาย เราต้องทราบว่าที่ดีอยู่แล้วดีเพราะอะไร ถ้าอยากให้ดีกว่าเดิม เราต้องเพิ่มส่วนนั้นเข้าไป แล้วเอาส่วนที่คิดจะเพิ่มไปขอพร ยกตัวอย่างเช่น ครีมตัวนี้ปังสุดในบริษัท เพราะคุณภาพเป็นพื้นฐาน แต่ที่มันขายดีเพราะคุณละมุนเป็นพรีเซนเตอร์ เวลาขอพรคุณก็บอกกล่าวท่านไปเลยว่า “ขอให้คุณละมุนร่วมงานกับข้าพเจ้าไปนาน ๆ ด้วยความซื่อสัตย์ต่อกัน ข้าพเจ้าจะพัฒนาสินค้าเพิ่มขึ้น ขอความเจริญรุ่งเรืองเพิ่มขึ้นโดยเร็ว” แบบนี้เรียกว่าขอพรแบบตรงจุดขาย ในขณะที่ตรงกันข้าม ถ้ากิจการยังไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งแรกคือคุณต้องพิจารณาถึงข้อบกพร่องเสียก่อน เพราะตราบใดที่เราไม่รู้ข้อพกพร่องของกิจการ เราไม่มีทางขอพรใดให้สมปรารถนาได้ เพราะเราไม่ซ่อมตัวเอง หวังให้เทวดาซ่อมให้แบบนั้นไม่เจริญ เราต้องฝึกจิตตัวเองให้เป็น ฝึกที่จะคิด ตรึกตรอง ทบทวนข้อผิดพลาดของตนเอง เมื่อเจอข้อผิดพลาดแล้ว จึงไปขอพร ยกตัวอย่างเช่น กิจการหนึ่งมีข้อผิดพลาดคือส่งของให้ลูกค้าล่าช้า ทำให้เสียกลุ่มลูกค้าไปพอสมควร จึงอธิษฐานว่า “ผมจะจัดส่งสินค้าให้รวดเร็ว จะไม่ให้มีข้อผิดพลาด ขอให้มีคนมาซื้อสินค้าผมเยอะ ๆ ด้วยเถิด” จะเห็นได้ว่า การสร้างกระบวนการคิดแบบสมเหตุสมผล จะช่วยเตือนสติให้เรารู้ข้อผิดพลาดของตนเอง หรือข้อที่เราควรพัฒนา และพัฒนาไปในทิศทางไหน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น