หลักการสร้างบุญกุศล ทั้ง ๑๐ ประการ บุญที่๑ การให้ทาน โดย อ.ไป๋ล่ง
บุญ ๑. การให้ทาน หรือ “ทานมัย” เป็นการสละเพื่อแบ่งปัน ซึ่งผู้รับ จะต้องเป็นผู้มีคุณความดีแฝงอยู่ด้วย ไม่จำเป็นต้องเป็นพระสงฆ์เสมอไป ใครก็ได้ แต่ทั้งผู้ให้และผู้รับ ต้องบริสุทธิ์ใจในทานนั้น ในเรื่องของการทำทานที่ต้องทำความรู้จักลำดับแรก เพราะเป็นทานที่นิยมทำกันมาก นั่นก็คือ “อามิสทาน” หรือ การให้วัตถุสิ่งของเป็นทาน หมายรวมถึงปัจจัย ๔ หรือ ข้าว น้ำ ผ้า ยานพาหนะ ดอกไม้ เครื่องหอม ที่พักอาศัย ประทีปโคมไฟ ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่คนจะเข้าใจว่า ก็คือการใส่บาตรพระสงฆ์ หรือถวายสังฆทานเท่านั้น ซึ่งจริงแล้วจำแนกทานในข้อนี้ แบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ
ทาสะทาน หมายถึง การให้ของที่ด้อยกว่าของที่ตัวเองบริโภคใช้สอย เช่น เลือกที่ชอบไว้ ที่ไม่ชอบ หรือเล็กกว่า หรือมีตำหนิ เอาไปให้ทานผู้อื่น แบบนี้เรียกว่าใจตกเป็นทาสของความตระหนี่ (ขี้งก) เหมือนให้ของคนที่เป็นข้าทาสบริวาร
สหายทาน หมายถึง การให้ของที่เสมอตัวเอง ตัวเองกินตัวเองใช้อย่างไร ก็ให้ทานเหมือนกับที่กินที่ใช้ เขาเลยเปรียบเหมือนการให้ญาติสนิทมิตรสหาย
สามีทาน หมายถึง การให้ทานที่จัดเตรียมอย่างประณีตกว่าของที่ตัวเองกินตัวเองใช้ โดยเลือกเอาแต่ของที่ดีที่สุดไปให้ เหมือนกับเวลาที่จะตักข้าวถวายพระ เราก็จะตักปากหม้อแยกไว้ให้พระ กับข้าวก็ต้องตักแยกไว้ให้พระก่อน หรือจะให้ทานกับผู้ใด ก็จะคัดสรรเลือกแต่ของที่ดีไปให้เขา เปรียบเสมือนการให้ของแก่บุคคลที่ตนเคารพ เช่น พ่อ แม่ ครูอาจารย์ พระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น ถ้าทำได้ในข้อนี้เขาเรียกว่า “ทานบดี” แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ในทาน คือผู้ไม่มีความตระหนี่ครอบงำ ไม่ตกเป็นทาส หรือสหายของความตระหนี่
ในส่วนของการให้ทานพระสงฆ์ สามารถแบ่งไปตามเจตนาของผู้ให้ แยกไปอีก ๒ ประเภท คือ “ปาฏิปุคคลิกทาน” หรือ ทานที่ให้เฉพาะเจาะจงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เช่น เราจะนิมนต์พระ ๓ รูป แต่ก็ระบุไปด้วยว่า นิมนต์รูปนั้น รูปนี้เท่านั้น รูปอื่นไม่นิมนต์แบบนี้เข้าข่ายแรก กับแบบที่ ๒ “สังฆทาน” คือการให้ทานแก่หมู่คณะ ไม่เฉพาะเจาะจงผู้ใดผู้หนึ่ง เช่น เรานิมนต์พระ ๙ รูป ทางวัดก็จะส่งพระที่ไม่ได้ระบุตัวตนมา ทานนี้เป็นทานที่ใจกว้าง ไม่ระบุตัวบุคคล จัดอยู่ในสังฆทาน หรือ การที่เรานิมนต์พระสงฆ์ ๔ รูปขึ้นไป แบบไม่เจาะจง ก็ถือเป็นสังฆทาน หรือ การที่เรานิมนต์พระสงฆ์ ๑ รูป แบบไม่เจาะจง แบบนี้ก็ถือเป็นสังฆทาน ถามว่าทำไมจึงจัดเป็นสังฆทานทั้งหมด เพราะเหตุผลข้อหนึ่ง เราไม่เจาะจงพระ เหตุผลข้อสองคือ ทานที่จัดถวายนำไปใช้เพื่อประโยชน์ในคณะสงฆ์หมู่มาก
ในส่วนของทานที่ทำต่อบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่พระสงฆ์ ถามว่าทำไมคนเหล่านั้นต้องมีความดีแฝงอยู่ หรือจำเพาะผู้ที่ประกอบกรรมดียิ่งได้อานิสงส์แห่งทานที่สมบูรณ์ เพราะถ้าเราทำทานกับคนไม่ดี ทานที่ให้ไปก็ไม่ผลิดอกออกผล การเลือกคนที่จะรับจึงเป็นสิ่งสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าวัดมีกำลังมากพอแล้ว เราอาจจะเลือกทำทานกับโรงพยาบาล ที่มีคนเจ็บไข้ได้ป่วยที่กำลังทรัพย์น้อย การช่วยเหลือบางส่วนอาจเยียวยาคนเหล่านั้นได้ หรือจะเลือกเป็นข้าวของเครื่องใช้ให้กับอนามัยขนาดเล็ก ที่ขาดแคลน หรือหมู่บ้านที่ห่างไกล แบบนั้นผู้ให้ชื่นใจ ผู้รับได้ใช้ ได้อนุโมทนาบุญให้แก่กัน บางคนก็มุ่งแต่จะทำทานกับพระสงฆ์เสียอย่างเดียว เพราะคิดว่าพระมีศีลบริสุทธิ์ มีจริยวัตรดีงามคู่ควรด้วยข้อปฏิบัติของพระ ก็มุ่งเน้นแต่เข้าวัดทำบุญ บางวัดก็ตั้งสังฆทานให้เวียนทำง่าย ๆ ใช้เงินเพียงเล็กน้อยใส่ซอง ก็มีถังสังฆทานตั้งให้ทำ แบบนั้นไม่พบเจตนาที่แท้จริงของสังฆทานเลยแม้แต่น้อย ไม่ต่างอะไรกับใส่ซองทำบุญค่าน้ำค่าไฟวัด แค่ได้จำลองการรับศีลรับพรพร้อมกล่าวคำถวายสังฆทานแบบลวกก๋วยเตี๋ยวไปเท่านั้น ดอกไม้ก็เหมือนกันครับ ธูปเทียนที่วัดจัดจำหน่ายก็ถือว่าเป็นการทำบุญ เป็นอะไรที่สะดวกดี แต่ดอกไม้สดที่เวียนกันไปวางหน้าพระ แล้วเจ้าหน้าที่ก็เก็บมาขายต่อ แบบนั้นเราอาจจะรู้สึกดีต่อใจ สะดวกคนไปไหว้ และคนเก็บ แต่สำหรับส่วนตัวแล้วผู้เขียนจะไม่นำไปกราบบูชา เพราะไม่ใช่สิ่งที่จัดเตรียมไปเอง ไม่สามารถน้อมนำได้อย่างสะดวกใจ ซึ่งส่วนนี้ก็แล้วแต่วัดต่าง ๆ ด้วย ว่าเขาจัดเตรียมไว้ลักษณะไหน การที่เราจัดช่อดอกไม้ไปไหว้บูชาพระด้วยตัวเราเอง ก็ต้องดูความเหมาะสมของสถานที่ ถ้าเขามีเจ้าหน้าที่เก็บ อาจจะสินน้ำใจเล็กน้อยให้เจ้าหน้าที่วัดก็สามารถทำได้ ถือเป็นทานอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน ไว้จะเล่ารายละเอียดอีกครั้งในหมวดของ “การบูชา” นะครับ มีอีกหลายมิติที่ต้องทำความเข้าใจ
ลำดับต่อมาคือ “ธรรมทาน” ประกอบด้วยวิทยาทาน วิทยาทานทางโลก เช่น ให้ความรู้เชิงศิลปะวิทยาการ ความรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพ ความรู้ที่ถ่ายทอดและมีประโยชน์แก่ผู้คน จัดเป็นวิทยาทานทาโลก ในส่วนของวิทยาทานทางธรรม อาจจะต้องเป็นความเหมาะสมของผู้ศึกษาธรรมโดยถ่องแท้ ปัจจุบันผู้รับบทบาทหลักก็คือพระสงฆ์นั่นเอง ลำดับสุดท้ายคือ “อภัยทาน” หมายถึงการให้ความปลอดภัยแก่ตนและผู้อื่น ไม่ถือโทษโกรธเคืองในการล่วงละเมิดต่อกัน ไม่ผูกจิต ผูกเวรต่อกัน
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจ แต่ทำได้ยากเหลือเกิน ตอนนี้เรารู้แล้วว่า การให้อภัยเป็นบุญ คุณพอจะมีแรงบันดาลใจมากขึ้นหรือไม่ หากมี ก็น้อมนำไปปฏิบัติครับ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้นะครับว่า เมื่อเราให้อภัยได้ จิตใจจะสงบ สะอาด เปี่ยมด้วยเมตตา และจะสามารถพัฒนาไปสู่การภาวนา ซึ่งเรียกว่า “เมตตาภาวนา” มีอานิสงส์สูง
ปล่อยนกปล่อยปลาอย่างไรให้ได้บุญไม่ใช่ได้บาป อีกสิ่งหนึ่งที่เราเห็น หรืออาจจะทำอยู่บ่อย ๆ ก็คือ การปล่อยนก ปล่อยปลา แบบนี้ก็จัดอยู่ในหมวดอภัยทานเช่นเดียวกัน เคยเห็นไหมครับ ในวัดจะมีป้ายบอกว่า “เขตอภัยทาน” หรือแปลกันโดยตรงก็คือ “เขตแห่งความปลอดภัย” แต่บางครั้งก็ต้องดูสถานการณ์ดี ๆ สัตว์บางชนิดปล่อยในจุดที่ไม่เหมาะสม ก็อาจจทำให้สัตว์เหล่านั้นเสียชีวิตได้ หรือปล่อยในจุดที่แออัด สร้างปัญหาให้ผู้อื่น แบบนั้นแทนที่จะได้บุญกลับกลายเป็นถูกคนก่นด่าว่าสร้างความเดือดร้อน แบบนั้นก็ไม่ใช่กุศลเสียแล้ว
หรือการเลือกปลาที่จะปล่อย ต้องดูด้วยครับว่าไม่ใช่เอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) เพราะเป็นปลาที่ไปทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำ หรือการผสมข้ามสายพันธุ์จำพวกปลาต่างถิ่น ไม่ควรปล่อยลงในแม่น้ำ สิ่งมีชีวิตที่มีต้นกำเนิดต่างถิ่น กับสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศเดิมอาจทำลายกันได้ เช่น ปลาดุกรัสเซีย, ปลาดุกแอฟริกา, ปลาดุกลูกผสม (บิ๊กอุย), กุ้งเครย์ฟิช, เต่าญี่ปุ่น หรือเต่าแก้มแดง, ปลาหางนกยูง, ปลากดเกราะดำ หรือปลากดเกราะลาย, ตะพาบไต้หวัน, ปลาทับทิม, ปลานิล, ปลาหมอสีคางดำ เป็นต้น
ความนิยมการซื้อปลาหน้าเขียงปล่อยก็ต้องระมัดระวังให้มากเช่นเดียวกันนะครับ เพราะเราอาจไม่ทราบว่า เป็นปลาสายพันธุ์อะไรกันแน่ ในคำถามต่อมาก็คือ แล้วปลาอะไรที่สามารถปล่อยได้ ก็ให้พิจารณาสัตว์น้ำสายพันธุ์พื้นเมืองของไทย เช่น ปลาตะเพียนขาว, ปลาตะเพียนทอง, ปลาแก้วช้ำ, ปลาสร้อยขาว, ปลาหมอไทย, ปลายี่สกไทย, ปลากราย, ปลาโพง, ปลาบึก, ปลาไหล, ปลาช่อน, ปลาสวาย, ปลาบู่ เป็นต้น เพราะสัตว์น้ำเหล่านี้จะเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์สัตว์น้ำ สร้างแหล่งอาหารโปรตีน และรักษาสภาพระบบนิเวศรวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพให้สมบูรณ์ ที่สำคัญยังช่วยอนุรักษ์สัตว์น้ำสายพันธุ์ไทยอีกด้วย (ข้อมูจากกรมประมง)
ถึงตรงนี้หลายคนสงสัย ปลาหางนกยูงทำไมไม่ควรปล่อย ลองคิดสภาพปลาตัวน้อยลงไปลอยคอในแม่น้ำครับ ว่าจะถูกปลาใหญ่เขมือบแบบไหน แต่ถ้าเป็นระบบนิเวศที่ไม่มีปลาใหญ่กินปลาเล็ก ตรงนี้จะลำบากเลย เพราะปลาหางนกยูงแพร่พันธุ์เร็วมาก จะเข้าไปรุกรานถิ่นอาศัยปลาดั้งเดิม แย่งอาหาร แย่งที่อยู่จนปลาท้องถิ่นลดน้อยลงเพราะอยู่ไม่ได้ก็มี ปลาหางนกยูงนั้น มีต้นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกาใต้ หลายคนจะเข้าใจว่าปลาหางนกยูงสามารถกำจัดยุงได้ แต่ไม่ทั้งหมด สู้ปลาไทยประเภท ปลากริม ปลาสลิด ปลาหัวตะกั่ว หรือปลากัด ยังจะสามารถกินลูกน้ำได้เก่งกว่า
ปลาอีกชนิดที่ควรทำความเข้าใจว่าปล่อยลงแม่น้ำแบบไหนได้หรือไม่ และเป็นที่นิยมกันมากเสียด้วย นั่นก็คือปลาไหล เงินไหลกอง ทองไหลมา นี่ไม่ใช่กุศโลบายนะครับ แต่เป็นอุปมาอุปไมยกับชื่อของปลาเท่านั้นเอง ปลาไหลถ้าจะปล่อยควรปล่อยลงแม่น้ำที่มีหน้าดิน แม่น้ำขนาดเล็ก ห้วย หนอง คลอง บึง ท้องนา ร่องสวน บริเวณที่มีดินแฉะและน้ำไม่แรงมาก ปลาไหลจะขุดรูเพื่ออยู่อาศัย ปล่อยลงแม่น้ำใหญ่โอกาสรอดมีน้อยมาก และนี่ก็เป็นข้อคิดนะครับว่า อยากที่จะทำทาน จะปล่อยอะไร ก็ต้องรู้จักมันให้ดีเสียก่อน ไม่จำเป็นต้องเชื่อแม่ค้าเสมอไป สารพัดจะลวงหลอกให้คนใจดีทำบาปโดยไม่รู้ตัว ทั้งเรื่องคนเกิดวันไหนต้องปล่อยปลาอะไร นี่ก็สร้างกันขึ้นมาทั้งสิ้น ดูความเหมาะสมของตัวเราและสถานที่เป็นสำคัญครับ เพราะเราไม่สามารถช่วยชีวิตสัตว์ทุกชนิด หรือทุกตัวได้
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น