ที่มาของลักษณะมือของพระพุทธองค์ โดย อ.ไป๋ล่ง
ลักษณะมือเวลาทำสมาธิ ท่านอาจจะเคยสงสัยว่า ลักษณะมือของพระพุทธองค์ หรือพระพุทธรูปทำไมมีหลากหลาย แบ่งออกเป็นปางต่าง ๆ นั่นก็เพื่อให้สอดคล้องกับพุทธประวัติตอนใดตอนหนึ่ง แต่ท่าทางพระหัดถ์ที่แสดงแตกต่างกันนั้นในบางส่วนมีที่มาจาก “มุทรา” โดยบันทึกคำว่ามุทรา หรือ มูดราส (Mudra) เป็นท่ามือที่ใช้เพื่อกระตุ้นสภาวะจิตใจ เป็นวิถีเก่าแก่ของอินเดียโบราณ ในพระพุทธรูปที่เป็นศิลปะอินเดียยุคแรก ๆ ลักษณะมือที่ปรากฎ เป็นมุทราให้เห็นผ่านพระพุทธรูป ได้แก่ พระพุทธรูปปางมารวิชัย (ภูมิสปรศมุทรา), ปางสมาธิ (ธยานมุทรา), ปางปฐมเทศนา (ธรรมจักรมุทรา), ปางทรงแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา), ปางประทานอภัย (อภัยมุทรา) และปางประทานพร (วรมุทรา) ส่วนคำว่าปางนี้หมายถึงครั้งนั้น คราวนั้น กล่าวให้ระลึกถึงพุทธประวัติ เช่น ปางมารวิชัย หมายถึง เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ทรงชนะพญาวสวัตตีมารนั่นเอง
ในลักษณะการวางมือ การจรดนิ้วของพระพุทธรูปหลายปาง คือรูปแบบของมุทราหรือเรียกกันอีกอย่างว่าปางมือ เช่นปางสมาธิ คือใช้มือขวาทับมือซ้าย นิ้วโป้งชิดติดกัน นั่นเป็นลักษณะของพระพุทธรูปปางสมาธิ และการวางมือนี้ก็เข้าลักษณะของ “ธยานมุทรา” ซึ่งเป็นการวางมือเพื่อปฏิบัติสมาธิในแบบอินเดีย และเมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตั้งสัจอธิษฐานว่า จะไม่ลุกจากบัลลังน์นี้จนกว่าจะบรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ จึงเป็นที่มาของคำเรียกที่ว่า “นั่งคู้บัลลังก์” และเมื่อพระพุทธองค์รู้แจ้งเหตุแห่งความจริง คืออริยสัจ ๔ ประการ จึงทำให้ท่านั่งสมาธิพื้นฐานถูกบัญญัติไว้ในลักษณะนี้ว่าเหมาะสมแก่การกรรมฐานที่สุด
กล่าวถึงมุทรากับแนวทางในทางปฏิบัติ ศาสนาพุทธมักจะใช้กันมากในวัชรยานโดยแสดงลักษณะมือร่วมกับการสวดมนต์ พอพูดถึงวัชรยาน หลายคนจะนำไปถึงตันตระ และเกิดภาพลบในใจ จากกรณีที่แชร์กันในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับภาพพระพุทธรูปที่มีสตรีเสพสังวาส หรือกระแสนิพพานโลกีย์ หรือกลุ่มพระนอกรีต เรื่องนี้หากจะเชื่อคงต้องศึกษาให้ดีเสียก่อน เพราะกระแสดังกล่าวเกิดการการแชร์ภาพพระพุทธรูปปางยับยุม อันเป็นพุทธศิลป์เชิงสัญลักษณ์ มีนัยแฝงเกี่ยวข้อธรรมทางฝ่ายตันตระยาน ที่ไม่ได้หมายถึงการเสพสังวาสของพระที่สามารถกระทำกันได้โดยอิสระ ข้อปฏิบัติของสังคมพุทธในทิเบตอาจจะแตกต่างของพุทธศาสนาในไทยก็จริง แต่อย่างไรศีลและข้อปฏิบัติไม่ได้ย่อหย่อนไปกว่าพุทธบ้านเรา เพียงแต่บ้านเขาจำแนกบทบาทของกลุ่มชนทางศาสนาออกเป็นหลายระดับ มีทั้งภิกษุและภิกษุณี ที่ถือศีล ๒๒๗ ข้อเหมือนสงฆ์เถรวาท, ศฺรามเณรและศฺรามเณรี ถือศีล ๓๖ ข้อ นักบวชเหล่านี้ล้วนเคร่งครัดในข้อปฏิบัติตามศีลในพุทธศาสนา แต่จะมีอีกหลายกลุ่มทางศาสนาในทิเบตที่อาจจะทำให้คนไทยสับสนและด้อยค่าวิถีปฏิบัติของเขา เช่น เหล่ามนฺตรินและมนฺตริณี ผู้ฝึกมนตร์, เหล่าโยคินฺและโยคินี ผู้ฝึกโยคะ, เหล่างักปะที่แต่งกายนุ่งห่มผ้าสีเลือดหมู บางคนโกนผม บางคนตัดผมสั้น จนคนภายนอกเข้าใจว่างักปะเป็นพระสงฆ์ไปเสียอย่างนั้น ในความเป็นจริงงักปะเป็นฆราวาสผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ได้บวชพระ และถือศีลหลัก ๕ ข้อ สำหรับอุบาสกศีลทั่วไป และจะมีโพธิสัตว์ศีล ที่ว่าด้วยศีลของพระโพธิสัตว์ และสมยศีล อันเป็นศีลของครูบาอาจารย์ตามสายของวัชรยาน ซึ่งทั้งหมดไม่มีข้อห้ามในการมีครอบครัว เหล่างักปะจึงมีครอบครัวได้นั่นเอง
ดังนั้นขอฝากบทความสั้นในหน้านี้ไว้ให้ผู้อ่านได้พิจารณาและอย่าหลงเชื่อเสพข่าวทางโซเชียลแบบไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูลนะครับ ทุกวันนี้โซเชียลท็อกซิกน่ากลัวมาก และเราคงต้องยอมรับว่ามันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปเสียแล้ว นับตั้งแต่..เวลาเช้าตื่นมาหลายคนมักจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาก่อนเลยเป็นอันดับแรก ไล่ดูฟีดข่าวต่าง ๆ ดูการอัพเดทในแต่ละวัน และเพจข่าวจริง เพจข่าวปลอม การเขียนข่าวที่ไร้จรรยาบรรณในสังคมปัจจุบันก็เพิ่มขึ้นทุกวัน ดังนั้น ก่อนที่เราจะปักใจเชื่อ หรือไม่เชื่อข่าวสารอะไร อยากให้ใช้หลักกาลามสูตร (อย่าพึ่งเชื่อ ๑๐ อย่าง) เข้ามาช่วยให้มากนะครับ จะทำให้เราไม่หลงเลอะเลือนในโลกโซเชียลที่นับวันยิ่งอันตรายต่อสุขภาพจิต ทุกวันนี้ผู้เขียนเองแทบไม่ให้ความสำคัญกับหน้าฟีดข่าวในโซเชียลสักเท่าใดนัก จะติดตามก็เพียงเพจข่าวที่เชื่อถือได้ และอะไรที่คิดว่าเป็นมลภาวะต่อชีวิต จะ unfollow ทันที สังคมเปลี่ยน พฤติกรรมมนุษย์ก็เปลี่ยน ทุกวันนี้มีประเด็นไหน ดราม่า คนจะแห่กันไปคอมเมนต์และตอบโต้กันอย่างสนุกปาง สนุกมือ
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก
หนังสือ "สายมูต้องมนต์" เขียนโดย อ.ไป๋ล่ง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น