ความเชื่อเรื่องเทวดาประจำองค์พระมีฤทธิ์ไม่เท่ากัน โดย อ.ไป๋ล่ง
ว่ากันต่อด้วยเรื่องเทวดาประจำพระพุทธรูปนะครับ กับพิธีพุทธาภิเษก พระพุทธรูป ตามความเชื่อแบบพุทธผสมพราหมณ์ ว่าจะทำให้มีความศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธานุภาพด้วยอำนาจพุทธคุณ จากการสืบค้นไม่พบว่าพิธีพุทธาภิเษกเริ่มต้นเมื่อใดชัดเจน ผู้เขียนสันนิษฐานว่าเกิดจากการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย และการออกแบบพิธีกรรมเพื่อให้สอดรับกับความเชื่อของศาสนิกชน โดยการสาธยายพุทธมนต์เพื่อให้ดูขลังมากยิ่งขึ้น มุมมองนี้จึงคล้ายกับพิธีกรรมและความเชื่อ และการสร้างรูปเคารพในเชิงไสยศาสตร์อยู่พอสมควร (คำว่าไสยศาสตร์ คือวิชาทางไสย อันเป็นลัทธิเกี่ยวกับเวทมนตร์คาถาที่มีการสืบค้นว่ามาจากศาสนาพราหมณ์ โดยเฉพาะคัมภีร์อถรรพเวท การบริกรรมคาถา การลงเลขยันต์ เป็นต้น)
และเมื่อใดที่มีการจัดสร้างสังขารที่ครบอาการ ๓๒ สื่อความหมายในเชิงไสยศาสตร์หมายถึง รูปลักษณะคล้ายมนุษย์คือ ตา หู จมูก ปาก กาย ฯลฯ และการตั้งธาตุหนุนธาตุ ก็เพื่อจำลองธาตุทั้ง ๔ ที่ประกอบเป็นสังขาร และคำว่าสังขารก็คือร่างกาย เป็นรูปที่เปรียบเสมือนบุคคล เมื่อนั้น สังขารนั้นจะเป็นที่อยู่ของเทวดาเบื้องล่าง หรือถ้าเป็นสังขารในกลุ่มตุ๊กตารูปปั้น ก็จะเป็นดวงจิตใดที่ถูกตรึงไว้ เช่น รูปปั้นมนุษย์ ฤาษี เทวรูปต่าง ๆ ก็คือการตรึงดวงจิตที่อาจจะเสกขึ้นด้วยวิธีที่เรียกว่าตั้งธาตุหนุนธาตุ เรียกจิตเรียกนาม บ้างก็ว่าถือกำเนิดในรูปโอปปาติกะ บ้างก็ว่าถือกำเนิดจากบริวารตามนามเรียกขานของเทวรูปนั้น ขึ้นอยู่กับครูอาจารย์สายพราหมณ์ที่เป็นผู้ทำพิธี และเมื่อเรานำมาทบทวนเรื่องการสร้างพระพุทธรูปดูแล้วมีความคล้ายกัน เพียงแต่คนละระดับชั้น เพราะพระพุทธรูปเป็นลักษณะแทนองค์พระพุทธเจ้า การเข้าพิธีกรรมก็ล้วนเป็นคณะสงฆ์ มีการอัญเชิญชุมนุมเทวดาเป็นสักขีพยานด้วยพุทธมนต์ ดวงจิตเทวดาหมู่ใดที่ถึงเวลาต้องจุติ หรือรอคอยวาระที่จะจุติก็จะมาสถิต ณ เทวรูปดังกล่าว และนี่เป็นสิ่งที่ก่อกำเนิดเทวดาที่อยู่ในพระพุทธรูปดังเช่นที่กล่าวครับ
ในความเชื่อที่ว่า เทวดาประจำองค์พระมีฤทธิ์ไม่เท่ากัน เกิดจากบุญบารมีที่ต่างระดับกัน อีกทั้งกรรมสัมพันธ์ที่ทำให้มาเกิด หรือมาจุติ แตกต่างตามพละกำลังแห่งบุญนั้น หรือตามพละกำลังแห่งกรรมนั้น ซึ่งเจตจำนงเหล่านี้ ท่านว่าไม่ใช่เหตุบังเอิญ ทุกสิ่งทุกอย่างมีวาระของมันเสมอ อีกทั้งยังมีความเชื่ออีกว่า เทวดาที่ประจำในรูปสังขารอาการ ๓๒ เช่น องค์พระ จะมีกำลังฤทธิ์มากกว่าเทวดาที่สถิตตามต้นไม้ใหญ่ หรือริมขอบรอบรั้วบริเวณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะการอัญเชิญที่ต่างกัน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น