วิธีการดึงลมหายใจบริหารจักระทั้ง ๗ ด้วยมุทรา ตอนที่๑ มูลธาร โดย อ.ไป๋ล่ง
๑. มูลธาร (Muladhara) หรือ กุณฑาลินี (Kundalini) หรือ เซอร์เพนทีน(Serpentine) สัญลักษณ์แทนคือดอกบัว ๔ กลีบ สีแดง ตำแหน่งอยู่ตรงกลางฝีเย็บระหว่างอวัยวะเพศและทวารหนัก เป็นขุมพลังของแต่ละชีวิต ทำหน้าที่ดูดซับพลังงานจากงูไฟ หรือกุณฑาลินี ที่ผุดขึ้นมาจากใจกลางโลกและแผ่ขึ้นมาบนผืนดินบริเวณที่มีความร้อนเช่น ภูเขาไฟ น้ำพุร้อน หรือผ่านต้นไม้ใหญ่ขึ้นมาก็เป็นได้ กล่าวกันว่า
เวลาที่เรามีเรี่ยวแรงทำอะไรอย่างมหาศาล เช่น ตกใจบ้านไฟไหม้แล้วยกตู้เย็นคนเดียวได้ หรือ วิ่งหนีอะไรสักอย่างได้เป็น 10 กิโล เพราะคิดว่าเห็นผี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพลังจากมูลธารจักระทั้งสิ้น ควบคุมการทำงานของ ต่อมลูกหมาก เพศ และระบบสืบพันธุ์ ในความเชื่อมโยมของมุทรา จักระ ๑ อยู่ที่บริเวณข้อมือ ในลักษณะของมุทราจะเห็นว่า จักระ ๑ ไม่สามารถกำหนดรูปลักษณ์ทางนิ้วมือได้ นั่นเพราะจักระนี้เป็นเสมือนขุมพลังในจักรวาล หลักในการฝึกเราจะไม่กระตุ้นให้จักระ ๑ ตื่นด้วยวิธีกำหนดสมาธิ หรืออะไรที่ไปรบกวน เพราะในภาษานักฝึกจักระจะเรียกว่าการตื่น จักระนี้จะตื่นด้วยตัวเอง และเป็นฐานรากส่งผลต่อระบบร่างกายที่ดีด้วยตนเองเช่นกัน เราจะไม่พยายามฝืน บางคนเห็นว่าเป็นขุมพลังที่ยิ่งใหญ่ของร่างกายก็อยากมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ก็พยายามฝึกสมาธิพร้อมเพ่งจิตไปตรงจักระ ๑ แล้วกำหนดสี มโนภาพดวงแก้วสีนั้น ๆ ไปหมุนไปวนอยู่ตรงนั้น ใครที่คิดจะทำขอให้ตรึกตรองดี ๆ นะครับ อย่างที่บอกไปแล้วข้างต้นว่า มันจะทำให้เราหมกมุ่น และขาดสติเอาได้
ดังนั้น ในส่วนของจักระ ๑ ตามที่ผู้เขียนได้เคยร่ำเรียนมาบ้าง อาจารย์ท่านก็ว่าเป็นเรื่องอันตราย คนที่พยายามฝึกวิชาในระบบจักระแล้วไปเร่งการตื่นของจักระนี้ อาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว คำว่ากุณฑาลินี นั้นเปรียบเสมือนงูเพลิง ที่หากปลุกให้ตื่นขึ้นผิดวิธี ผู้ฝึกจะไม่สามารถควบคุมได้ ถ้าจะให้ว่าเป็นภาษาจีนตามหนังกำลังภายในก็คงเปรียบได้กับ “ธาตุไฟเข้าแทรก” อะไรทำนองนั้น มันมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับพลังจิตวิญญาณ พลังที่ซ่อนภายในตัวเรา และไม่ต้องไปกังวลว่า จักระ ๑ ตื่นหรือยัง ตื่นอย่างไร จะสัมผัสรู้ได้อย่างไร ปล่อยวางให้หมดสิ้นครับ ไม่ใช่วิถีการปฏิบัติเพื่อสุขภาพร่างกายเลยแม้แต่น้อย ย้ำอีกครั้งว่าอย่าคาดหวังพลังปาฏิหาริย์ มันไม่ใช่แนวทางการฝึก มีหลายคนที่หลงในเรื่องนี้จนเกินไป ตระเวนปรึกษาหาทางออกทางแก้จนสุดท้ายถอดใจ ไม่เกิดผลดีอะไรเลยต่อชีวิต “ทำไปเพื่ออะไร” นั่นจะเป็นคำถามที่อยู่ในหัวของท่านหลังจากนั้น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น