วิพากษ์อย่างไม่หลงประเด็น บวช 18 ปี เมื่อสึกออกมาแล้วจะทำอะไรก็ได้ จริงหรือ?

 แพรรี่


เสียงแตกเป็นสองฝ่าย สำหรับคุณไพรวัลย์ หรือทิดไพรวัลย์ ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น "แพรรี่" เพื่อตอบโจทย์ชีวิตสำหรับตนเอง จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะเหตุเริ่มเดิมที คุณแพรรี่เอง เป็นที่รู้จักในโลกโซเชียล จากการออกมาให้คำปรึกษา หรือถกเถียงประเด็นสังคมผ่านรายการโหนกระแส และรายการอื่น ๆ พอสมควร ในนาม "พระมหาไพรวัลย์" ผู้มีวาจาคมคาย รวมถึงแง่คิดในมุมของพุทธศาสนาที่ถ่ายทอดให้แก่เหล่าศิษยานุศิษย์ รวมถึงคติเตือนใจสำหรับชนรุ่นใหม่

แพรรี่ ไพรวัลย์

และนี่เป็นเหตุผลของชื่อเสียงและที่มาของการเป็นที่รู้จักสำหรับคนทั่วไป เรียกได้ว่าขี่หลังเสือเมื่อยามครองผ้าไตร แต่เมื่อลงหลังเสือ กลับไม่เป็นที่ถูกใจใครหลายคน แต่ก็มี FC ให้การติดตาม ให้กำลังใจ และสนับสนุนอยู่พอสมควร สำหรับผู้เขียนแล้ว การสึกออกมาแล้วทำตามใจนั้น ไม่ผิด แต่ภาพลักษณ์ที่สั่งสมมาต่างหาก ที่ทำให้คนมองแล้วผิด หรือค้านสายตา เหตุผลเพราอะไรลองมาพิจารณากันครับ

แพรี่ ไพรวัลย์


การบวช 18 ปี ทำให้คนมองว่า คุณแพรรี่แฝงตัวอยู่ในพุทธศาสนาในคราบของ LGBT คือความอยาก มีความต้องการทางเพศกับผู้ชายอยู่ตลอดเวลาที่ผ่านมา จนกระทั่งสึกออกมาทำตามความฝันของตัวเอง เปิดเผยตัวตนกับสื่อและสังคมอย่างออกนอกหน้า ซึ่งหากเราฟังจากคำอธิบายแล้ว คุณแพรรี่พูดชัดเจนประมาณว่า "ทุกคนที่บวช ล้วนต้องข่มจิตใจด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะชาย จะเกย์ จะกระเทย อยู่ที่ว่าเราจะรักษาศีล 227 ข้อให้บริสุทธิ์ได้มากน้อยเพียงใด และการข่มใจ สำรวม ปฏิบัติภารกิจของตนเองให้ดีนั้น เป็นส่วนส่งเสริมพุทธศาสนาในยามที่ครองผ้าเหลือง" 

จากตรงนี้ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะทุกวันนี้คนยังหลงประเด็นเรื่องของการบวชเรียน การปฏิบัติตามวินัยสงฆ์ก็เช่นกัน คนทั่วไปจะมองว่า ผู้ที่ผ่านการบวชเรียนระยะเวลานานหลายพรรษา จะต้องเข้าถึงพระธรรมรส จนก้าวเข้าสู่การปรินิพพานเสียอย่างเดียว อย่างเช่นที่เรามักจะเห็นว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการพูดเรื่องธรรมะ หรือใครก็ตามที่เอาหลักธรรมะมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ก็มักจะถูกคอมเมนต์ว่า "ไปบวชเถอะ" ซึ่งเรื่องนี้เป็นตรรกะความคิดที่วิปลาสผิดเพี้ยนไปมากเสียจริงครับ ถ้าพระธรรมจะเข้าถึงยากเพียงนั้น คนธรรมดาสามัญไม่สามารถเข้าถึงได้ ไม่สามารถน้อมนำมาดำเนินชีวิตได้ ไม่สามารถขัดเกลาจิตใจในชีวิตประจำวันได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น คนที่ศึกษาพระธรรมก็ต้องเข้าวัด ต้องบวช ต้องเตรียมบรรลุเท่านั้นใช่หรือไม่? 

สิ่งเหล่านี้เป็นข้อผิดพลาดโดยสิ้นเชิงสำหรับพุทธศาสนานิกายเถรวาทบ้านเราครับ เพราะเป็นการถือปฏิบัติที่สุดโต่งเกินไป  ผู้เขียน เคยทดสอบภูมิธรรมกับคุณหมอท่านหนึ่ง ที่ศึกษาพระธรรมอย่างเข้มงวด และต้องการสร้างดินแดนอริยะให้เกิดขึ้นในภูมิภาคหนึ่งของประเทศไทย โดยตั้งคำถามไปว่า "เราจะใช้พระธรรมมาเป็นเครื่องนำทางในการดำเนินชีวิตได้อย่างไร หากเรายังต้องมีเพศสัมพันธ์กับคู่รัก และต้องโกหกบ้างในเวลาทำงานเพราะหน้าที่บังคับ"  คำตอบที่ได้คืออะไรรู้ไหมครับท่านผู้อ่าน  ... ผู้เขียนได้รับคำตอบว่า "แล้วมันจำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ขนาดนั้นเชียวหรือ" ... ฮัลโหล? การดำเนินชีวิตฉันสามีภรรยา ไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ ก็ได้หรอ? 

และนี่คือข้อผิดพลาดอย่างที่สุดครับ ในการที่เราจะน้อมนำพระธรรมมาเป็นเครื่องดำเนินชีวิตที่ทำได้ยาก เพราะคนไทยยึดติดกับคำสอนที่ว่า "เดินทางเข้าสู่นิพพาน" ตามที่เราท่องบ่นกันมาในบทสวดตั้งแต่เยาวรุ่น จนศาสนา หรือพระนักบวช ก็จะถูกมองว่า ต้องเข้าสู่นิพพาน ต้องบรรลุธรรม รู้แจ้ง ต้องตัดกิเลสอย่างสิ้นเชิง จนลืมไปว่า มนุษย์เราก็มีความต้องการในรูปแบบของธรรมชาติ ทุกคนมีสิทธิ์ตามบริบทและหน้าที่ของตนเอง หากพิจารณาให้ดี ในยามเป็นพระ คุณแพรรี่ก็ไม่เคยทำเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือกระทำผิดวินัยสงฆ์ และการสึก ก็สามารถทำได้กับทุกคน ทุกรูป จะบวชมาก บวชน้อย บวชมาครึ่งค่อนชีวิตก็สึกได้ครับ ถ้าใจต้องการละสมณเพศ เพื่อค้นหาทางเดินชีวิตใหม่ให้กับตนเอง ดังนั้น การที่สึกออกมาแล้วจะเข้าใจตนเอง จะดำเนินชีวิตในแบบที่อยากทำ ผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดี เพราะอย่างน้อย 18 ปีที่ผ่านมา เธอก็ยังสามารถข่มจิตใจตนเอง และเดินอยู่ในทำนองคลองธรรมที่ดี ถ้าเทียบกับคนธรรมดาสามัญที่มีความคิดเข้าข้างตัวเองว่า "ถ้าจะทำแบบนี้ สู้สึกออกมาตั้งแต่เด็ก ๆ ดีกว่า บวชทำไมให้ศาสนาเสื่อม" ผู้เขียนก็อยากจะย้อนกลับคำถามไปนะครับว่า "ถ้าคุณรักพระศาสนาถึงเพียงนี้ ทำไมคุณไม่บวชแล้วไม่ต้องสึก เป็นตัวอย่างให้กับคนรุ่นหลังไปเลยครับ" 

คนเราต้องไม่คิดเข้าข้างตัวเอง ไม่ริษยาอิจฉาใคร จะเป็นผลดี ถ้าคุณจะมองว่า "พระ" เป็นอาชีพ การบวช 18 ปี ทำให้มีรายได้ดีถึงขั้นซื้อรถได้ ซื้อของได้ มีทรัพย์มาก ก็ไม่ยากหากคุณจะเข้าไปบวชเพื่อสะสมรายได้ เพียงแต่คุณต้องมีจริยวัตรที่ดีงาม และมีภูมิธรรมมากพอที่จะสั่งสอนคนได้ และสามารถสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองได้ด้วย ผู้เขียนมองแล้ว เรื่องแบบนี้ มันคงไม่ง่ายนะครับ ถึงแม้ว่าจะมีกฎเหล็กของพระสงฆ์ว่า "พระสงฆ์จะต้องไ่ม่ถือเงิน" แต่ในความเป็นจริง มันไม่สามารถเคร่งปฏิบัติในข้อนี้ได้หรอกครับ โลกหมุนไปเร็วมาก และโลกไม่ได้หมุนรอบตัวใคร จะเป็นสมณเพศ ก็จำเป็นต้องใช้เงินในบางกรณี และเงินทำบุญที่ถวายวัด กับถวายพระ ก็คนละส่วนกัน ถ้าจะมีเงินเก็บเงินก้อนบ้างจากการบวชพระ ผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่องปกติครับ พระก็ต้องทำงาน ไม่ใช่นั่ง ๆ นอน ๆ รอกิจนิมนต์แล้วสะสมเงิน แบบนั้นคงอยู่ยากกระมังครับ 

ถ้าคนเราเคารพในหน้าที่ของตน และของผู้อื่น สังคมแห่งการริษยา อิจฉา เหน็บแนม เสียดแทง จะลดน้อยลง ใจเขาใจเราบ้าง ก็จะทำให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้น จริงหรือไม่? 

ความคิดเห็น

คนชอบอ่าน

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ วานส์” (QUEEN OF WANDS)

ความหมายของไพ่บุคคล “ควีน ออฟ เพนตาเคิลส์” (QUEEN OF PENTACLES)

ความหมายของไพ่บุคคล คิง ออฟ คัพส์ (KING OF CUPS)

ความหมายของไพ่บุคคล “เพจ ออฟ ซอร์ส” (PAGE OF SWORDS)